คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1341/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์ตกเป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจหน้าที่รวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของโจทก์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ซึ่งมาตรา 123 บัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะขายทรัพย์สินที่รวบรวมได้มาตามวิธีที่สะดวกและเป็นผลดีที่สุด โดยเงื่อนไขว่าการขายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาดต้องได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์โดยวิธีอื่นตามมิติของที่ประชุมเจ้าหนี้ในคดีหมายเลขคดีแดงที่ 317/2544 ของศาลล้มละลายกลางเป็นการดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว สิทธิของผู้ซื้อทรัพย์สินที่ได้มาจากการขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายจึงควรได้รับความรับรอง คุ้มครอง และบังคับตาม เมื่อผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินและได้มาซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์รวมถึงสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้จากการซื้อขายดังกล่าว ย่อมถือได้ว่า ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในอันที่จะร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดีเพื่อยังให้ได้รับความคุ้มครองและบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้แก่โจทก์จำนวน 608,634.22 บาท ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าเป็นผู้ซื้อสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาคดีนี้ได้จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์ ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ และมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามที่ผู้ร้องประมูลซื้อสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องของโจทก์ ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาของจำเลยในคดีนี้จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แม้การโอนสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาในกรณีนี้จะไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองไว้โดยเฉพาะดังเช่นการโอนสินทรัพย์และหนี้สินด้วยคุณภาพของสถาบันการเงิน แต่เมื่อพิจารณาการโอนสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาระหว่างผู้ร้องกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว มิได้มีเจตนาซื้อขายความกันแต่เป็นการจำเป็นที่จะต้องโอนขายสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาดังกล่าว เพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ทั้งนี้โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 เมื่อการโอนขายสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาระหว่างเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์กับผู้ร้องได้ทำเป็นหนังสือ และผู้ร้องได้ทำหนังสือบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 305 ผู้ร้องในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาจึงใช้สิทธิของความเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ได้
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัย “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตตามคำร้องของผู้ร้องชอบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ตกเป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจหน้าที่รวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของโจทก์ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในหมวด 4 ส่วนที่ 4 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2583 ซึ่งมาตรา 123 บัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะขายทรัพย์สินที่รวบรวมได้มาตามวิธีที่สะดวกและเป็นผลดีที่สุด โดยมีเงื่อนไขว่าการขายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาดต้องได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์โดยวิธีอื่นตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ 317/2544 ของศาลล้มละลายกลางเป็นการดำเนินการตามบทกฎหมายดังกล่าวสิทธิของผู้ซื้อทรัพย์สินที่ได้มาจากการขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายจึงควรได้รับความรับรอง คุ้มครองและบังคับตาม ดังนั้น เมื่อผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินและได้มาซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์รวมถึงสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้จากการซื้อขายดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในอันที่จะร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดีเพื่อยังให้ได้รับความคุ้มครองและบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ได้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องของผู้ร้องนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นด้วยในผลอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share