คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1340/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 หลายครั้งเป็นเวลา 2 เดือนเศษแล้ว โดยครั้งสุดท้ายได้กำชับจำเลยที่ 1 ให้เร่งดำเนินการตามคำร้อง ศาลจะไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เพราะเหตุใด ๆ อีก ถือได้ว่าศาลได้ให้โอกาสจำเลยที่ 1 มากแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ยังขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อ้างเหตุว่าหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เลื่อนการเดินทางกลับจากต่างประเทศอย่างกะทันหัน ทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ได้อีก ซึ่งเหตุที่จำเลยที่ 1 อ้าง จึงเป็นความผิดพลาดหรือความบกพร่องของจำเลยที่ 1 อ้าง ยังถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษอันศาลจะมีคำสั่งขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 30,861,253.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงิน 30,000,000 บาท นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ก่อนครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปรวม 3 ครั้ง ครั้งที่สามศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2546 ต่อมาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 20 วัน นับแต่วันครบกำหนด โดยอ้างเหตุทำนองเดียวกับที่ขอขยายระยะเวลาในครั้งก่อนว่าหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติการเบิกจ่ายเงินเพื่อนำมาเป็นค่าธรรมเนียมในการยื่นอุทธรณ์ เดินทางไปต่างประเทศและเลื่อนกำหนดเดินทางกลับประเทศไทยอย่างกะทันหัน เนื่องจากมีปัญหาทางธุรกิจ เป็นเหตุให้ทนายจำเลยที่ 1 ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทัน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์มา 3 ครั้งแล้ว โดยระบุในคำสั่งครั้งที่สามว่า เหตุที่อ้างฟังดูเลื่อนลอย แต่เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงให้โอกาสจำเลย โดยศาลจะไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ อีก กลับปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ยังคงยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ด้วยเหตุผลเดิม ลักษณะคล้ายประวิงเวลา จึงไม่อนุญาต ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า มีพฤติการณ์พิเศษที่ศาลจะขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ต่อไปหรือไม่ คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2545 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์มาแล้ว 3 ครั้ง โดยครั้งแรกและครั้งที่สองอ้างเหตุว่า นายถาวร อนันต์คูศรี หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เดินทางไปต่างประเทศ ไม่มีผู้ตัดสินใจกระทำการแทนเกี่ยวกับการยื่นอุทธรณ์ ครั้งที่สามอ้างเหตุว่านายถาวร อนันต์คูศรี หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เลื่อนการเดินทางกลับไปอีก 2 สัปดาห์ ทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตทั้งสามครั้ง โดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องครั้งที่สามว่าเหตุที่อ้างฟังดูเลื่อนลอย แต่เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลให้โอกาสอีกครั้งให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้ถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2546 ตามขอ กำชับจำเลยที่ 1 ให้เร่งดำเนินการตามคำร้อง ศาลจะไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เพราะเหตุใด ๆ อีกแล้ว ครั้นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อ้างเหตุว่านายถาวร อนันต์คูศรี หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เลื่อนการเดินทางกลับอย่างกะทันหันอีก เห็นว่า ศาลชั้นต้นได้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 หลายครั้งเป็นเวลา 2 เดือนเศษแล้ว โดยครั้งสุดท้ายได้กำชับจำเลยที่ 1 ด้วย ถือว่าศาลชั้นต้นได้ให้โอกาสจำเลยที่ 1 มากแล้ว จำเลยที่ 1 ยังขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อ้างเหตุว่า หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เลื่อนการเดินทางกลับจากต่างประเทศอย่างกะทันหันทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ได้อีก ซึ่งเหตุที่จำเลยที่ 1 อ้างดังกล่าวเป็นความผิดพลาดหรือความบกพร่องของจำเลยที่ 1 เอง ยังถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษอันศาลจะพึงมีคำสั่งขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share