คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1335/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสามร่วมกันทำร้ายผู้ตาย และจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย แต่จำเลยทั้งสามร่วมกันทำร้ายผู้ตายและผู้ตายถึงแก่ความตายโดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่รู้ว่าจำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนไปด้วย ฉะนั้น จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายต้องรับผิดฐานฆ่าผู้ตายเป็นการเฉพาะตัวส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายมาแต่ต้นจึงต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคหนึ่งมิใช่มีความผิดตามมาตรา 295 ดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาแต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาจึงแก้ไขเพียงปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 เสียให้ถูกต้อง แต่ไม่อาจเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 2และที่ 3 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนสั้น ไม่ทราบชนิดและขนาด ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้ จำนวน 1 กระบอกกระสุนปืนขนาดเดียวกันจำนวน 3 นัด ไว้ในครอบครองและพาติดตัวไปตามถนนสาธารณะบริเวณหมู่บ้านสระดู่ หมู่ที่ 8 โดยไม่ได้รับอนุญาตและจำเลยทั้งสามร่วมกันชกต่อยใช้ไม้ตีและใช้อาวุธปืนยิงนายจำเริญสร้อยพุก จำนวน 3 นัด โดยเจตนาฆ่า กระสุนปืนถูกที่ศีรษะของนายจำเริญเป็นเหตุให้นายจำเริญถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ,72, 72 ทวิ

จำเลยที่ 1 สำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกันส่วนความผิดฐานอื่นให้การปฏิเสธ

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 37 (ที่ถูกมาตรา 371, 91) พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิวรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษ ฐานฆ่าผู้อื่นจำคุกตลอดชีวิต ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90จำคุก 6 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุกตลอดชีวิตสถานเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90(3) (ที่ถูกมาตรา 91(3))จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 83จำคุกคนละ 2 ปี

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าผู้ตายกับนางขันจอก บัวฉิม เป็นสามีภรรยากัน จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นบุตรนางสุทิน แสงตะคล้อ จำเลยที่ 3 เป็นบุตรเขยของนางสุทิน ผู้ตายเคยกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 3 และภรรยาไปโดยยังไม่ได้ใช้คืน เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2542เวลาประมาณ 17 นาฬิกา ขณะที่ผู้ตาย นางขันจอก นายวิเชียรและนางสำราญนั่งดื่มสุรากันอยู่ใต้ถุนบ้านของนายวิเชียร จำเลยที่ 1 มาเรียกผู้ตายออกไปบริเวณที่เกิดเหตุ ผู้ตายกับจำเลยที่ 1 โต้เถียงและชกต่อยกัน นางขันจอกออกมาดูเหตุการณ์เห็นจำเลยทั้งสามช่วยกันรุมชกต่อยและใช้ไม้ตีผู้ตายนางขันจอกจะเข้าไปช่วยผู้ตาย แต่จำเลยที่ 2 ถือไม้จะตีนางขันจอกและห้ามไม่ให้เข้าไปช่วยเหลือ จากนั้นจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายที่ศีรษะแล้วจำเลยทั้งสามก็วิ่งหลบหนีไป นายวิเชียรไปตามนายสังเวียน บัวทองผู้ใหญ่บ้านมานำผู้ตายส่งโรงพยาบาลวัดสิงห์ แพทย์ส่งผู้ตายไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลอุทัยธานี แต่ผู้ตายถึงแก่ความตายระหว่างทาง มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่… พยานหลักฐานของโจทก์จึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันทำร้ายผู้ตาย และจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนสั้นยิงผู้ตายตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมา แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันทำร้ายผู้ตายและปรากฏว่าผู้ตายถึงแก่ความตายในเหตุการณ์ดังกล่าวโดยฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 รู้ว่าจำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนไปด้วย ฉะนั้นจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายต้องรับผิดฐานฆ่าผู้ตายเป็นการเฉพาะตัว ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายมาแต่ต้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290 วรรคหนึ่ง มิใช่มีความผิดตามมาตรา 295 ดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามา แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาจึงแก้ไขเพียงปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 เสียให้ถูกต้อง แต่ไม่อาจเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 2และที่ 3 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212ประกอบมาตรา 225”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share