แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่โจทก์หลายคนแต่งตั้งโจทก์คนใดคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้แทนดำเนินคดีแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 35 และข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดีลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2523 ข้อ 1 เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดวิธีการแต่งตั้งไว้โดยเฉพาะ แตกต่างจากการที่คู่ความในคดีแพ่งธรรมดามอบอำนาจหรือตั้งให้บุคคลอื่นเป็นผู้แทนในการดำเนินคดีอันจะต้องปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร เอกสารแสดงการแต่งตั้งดังกล่าวจึงไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ โจทก์ฟ้องเรียกเงินสะสม เงินสมทบและค่าจ้างที่ค้างชำระเมื่อคำฟ้องของโจทก์บรรยายถึงสิทธิของโจทก์และหน้าที่ของจำเลยรวมทั้งข้อโต้แย้งที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับการทำงาน และคำขอบังคับในจำนวนเงินที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับแม้จะไม่ระบุว่าจำเลยหักเงินสะสมไว้อย่างไร เพียงใด และรายละเอียดของเงินสมทบมีมาอย่างไร คำฟ้องของโจทก์ก็แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังว่าโจทก์ทุกคนได้ลาออกจากบริษัทจำเลยซึ่งหมายความว่าสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลงแล้วการที่จำเลยอุทธรณ์ว่าสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยยังไม่สิ้นสุด เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าจำเลยจะต้องรับผิดจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบให้โจทก์หรือไม่จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้าม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 89 แต่งตั้งและมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 22 กับโจทก์ที่ 35 เป็นผู้แทนในการดำเนินคดีและโจทก์ที่ 90 ถึงที่ 93 แต่งตั้งและมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 91เป็นผู้แทนในการดำเนินคดี โจทก์ทั้งหมดเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ต่อมาจำเลยกับบริษัทกรรณสูต เจเนอรัล แอสเซมบลี จำกัดทำสัญญาเช่าและโอนกิจการของจำเลยให้บริษัทนิวเอร่า จำกัดบริษัทนิวเอร่า จำกัด ตกลงจ้างโจทก์ทั้งหมดต่อจากจำเลยโดยโจทก์ทั้งหมดต้องลาออกจากการเป็นลูกจ้างจำเลย โจทก์ทั้งหมดจึงลาออกจากการเป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยต้องจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบให้โจทก์ทั้งหมดตามระเบียบ แต่จำเลยไม่จ่าย และจำเลยยังค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ที่ 90 และที่ 91 คนละ 1,000 บาทโดยปราศจากเหตุอันสมควร ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 89 พร้อมดอกเบี้ยอัตราดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2528 ซึ่งเป็นวันผิดนัดกับให้จ่ายเงินสมทบแก่โจทก์ที่ 90 ถึงที่ 93พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 2 ตุลาคม2528 ซึ่งเป็นวันผิดนัด และให้จ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระแก่โจทก์ที่ 90 และ 91 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันผิดนัดกับเงินเพิ่มอัตราร้อยละสิบห้าทุกระยะเจ็ดวัน
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์ไม่ได้แต่งตั้งและมอบอำนาจให้ผู้แทนโจทก์มาดำเนินคดี หนังสือแต่งตั้งผู้แทนโจทก์ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์โจทก์โอนไปเป็นลูกจ้างของบริษัทนิวเอร่าจำกัด โดยได้รับค่าจ้างอัตราเดิมและนับระยะเวลาการทำงานต่อไม่ถือเป็นการลาออก โจทก์ไม่ได้เป็นสมาชิกเงินสะสมของจำเลยและจำเลยไม่ได้หักค่าจ้างตามระเบียบเงินสะสมโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยไม่ได้ค้างจ่ายค่าจ้าง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบแก่โจทก์ทั้งหมดตามฟ้อง เว้นแต่โจทก์ที่ 89 ให้จำเลยจ่ายเงินสะสมเพียง 896 บาท และให้จ่ายค่าจ้างที่ค้างแก่โจทก์ที่ 90และที่ 91 คนละ 1,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินทั้งหมดนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่าหนังสือมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนของโจทก์แต่ละคนตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ทั้งสองสำนวนโจทก์ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรซึ่งกำหนดให้ปิดอากรแสตมป์ไม่น้อยกว่า 30 บาท ผู้รับมอบอำนาจจึงไม่มีอำนาจดำเนินการแทนโจทก์อื่น ๆ ได้ แม้จะเป็นการตั้งตัวแทนตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานก็ตามโจทก์ก็จำต้องปฏิบัติตามประมวลรัษฎากรด้วย เมื่อไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์คนอื่น ๆ พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 35 บัญญัติว่า “ฯลฯ ในกรณีที่มีโจทก์หลายคน ศาลจะจัดให้โจทก์เหล่านั้นแต่งตั้งโจทก์คนใดคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้แทนในการดำเนินคดีก็ได้ฯลฯ” และข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดี ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2523 ข้อ 1 กำหนดว่า”ในกรณีที่โจทก์หลายคนประสงค์จะฟ้องคดีหรือกำลังดำเนินคดีอยู่ในศาลแรงงาน เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเห็นมีความจำเป็น เนื่องจากโจทก์คนใดคนหนึ่งหรือผู้ที่เกี่ยวข้องร้องขอ ศาลอาจกำหนดให้โจทก์เหล่านั้นแต่งตั้งโจทก์ด้วยกันคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้แทนในการดำเนินคดีก็ได้ ฯลฯ” ข้อ 3 กำหนดว่า “ในกรณีที่มีการยื่นคำฟ้อง ฯลฯ และมีบันทึกแสดงการแต่งตั้งมอบหมายให้โจทก์คนหนึ่งหรือหลายคนดำเนินคดีแทน โดยมีรายชื่อและลายมือชื่อโจทก์ทั้งหมดแนบหรือแสดงต่อศาล หากศาลเชื่อว่าเป็นบันทึกแสดงการแต่งตั้งมอบหมายที่แท้จริง ก็ให้ถือว่าผู้ที่ได้รับแต่งตั้งตามบันทึกดังกล่าวเป็นผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดีบันทึกแสดงการแต่งตั้งมอบหมายตามวรรคหนึ่งจะใช้แบบพิมพ์ รง.7 ท้ายข้อกำหนดนี้ก็ได้” และข้อ 5 กำหนดว่า “ผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดีมีอำนาจดำเนินการแทนโจทก์ทุกคนตั้งแต่เริ่มคดีหรือตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งแล้วแต่กรณี และให้ถือการกระทำของผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดีดังกล่าวผูกพันโจทก์ทุกคน” ดังนี้เห็นว่าการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์คนใดคนหนึ่งหรือหลายคนให้เป็นผู้แทนดำเนินคดีแรงงานนั้นเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดวิธีการแต่งตั้งไว้โดยเฉพาะแตกต่างไปจากการที่คู่ความในคดีแพ่งธรรมดามอบอำนาจหรือตั้งตัวแทนให้บุคคลอื่นเป็นผู้แทนในการดำเนินคดีอันจะต้องปฏิบัติตามประมวลรัษฎากรด้วยแต่การตั้งผู้แทนโจทก์สำนวนแรกได้ความว่าโจทก์ 89 คน แต่งตั้งนายสนั่น ราศีหยก โจทก์ที่ 22 และนายดุสิต หมีพุฒ โจทก์ที่ 35 รวม 2 คน เป็นผู้แทนโจทก์ดำเนินคดีตาม รง.7 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 และโจทก์สำนวนหลัง 4 คน แต่งตั้งนายกิตติ ศตะรัต โจทก์ที่ 91 เป็นผู้แทนโจทก์ดำเนินคดี ตาม รง.7 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2อันเป็นกรณีที่โจทก์หลายคนในสำนวนแรกแต่งตั้งโจทก์ 2 คนให้เป็นผู้แทนดำเนินคดี และสำนวนหลังเป็นกรณีที่โจทก์หลายคนแต่งตั้งโจทก์คนหนึ่งเป็นผู้แทนดำเนินคดีโดยชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวข้างต้นอันเป็นกฎหมายเฉพาะแล้วเช่นนี้ แม้จะมิได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรก็หาทำให้การตั้งผู้แทนโจทก์ทั้งสองสำนวนเสียไปไม่ผู้แทนโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ประการที่สองว่า โจทก์บรรยายฟ้องโดยไม่ระบุข้อเท็จจริงว่าจำเลยหักเงินสะสมไว้อย่างไร เพียงใดแต่ได้กล่าวรวม ๆ ว่ามีเงินสมทบตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4ซึ่งไม่มีรายละเอียดว่าจำนวนเงินสมทบมีมาอย่างไร ข้อเท็จจริงในฟ้องและเอกสารไม่ตรงกันจำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ถึงแม้จะแนบเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 มาด้วย แต่ก็ไม่มีรายละเอียดจึงเป็นคำฟ้องเคลือบคลุมนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีทั้งสองสำนวนนี้โจทก์สำนวนแรกฟ้องเรียกเงินสะสม และเงินสมทบส่วนสำนวนหลังฟ้องเรียกเงินสมทบกับค่าจ้างที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์บางคนโดยได้บรรยายถึงสิทธิของโจทก์ และหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องปฏิบัติรวมทั้งข้อโต้แย้งที่จำเลยมิได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับการทำงานและคำขอบังคับในจำนวนเงินที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องเช่นนี้คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวนจึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว หาใช่เป็นฟ้องเคลือบคลุมดังจำเลยอุทธรณ์ไม่อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนข้ออุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายในประเด็นที่ว่าจำเลยจะต้องรับผิดจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบให้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่นั้นอุทธรณ์เป็นใจความว่า บริษัทจำเลยได้โอนกิจการที่มีอยู่ทั้งหมดให้กับบริษัทนิวเอร่าจำกัด และได้ทำหนังสือสัญญากันไว้ตามเอกสารหมาย จ.12 ถึงแม้ข้อ 6.3.1 ให้พนักงานลาออกก็จริงแต่ในข้อ 6.3.2, ข้อ 6.3.3, ข้อ 6.3.4 และข้อ 7 ก็ได้กำหนดชัดถึงสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่กับบริษัทนิวเอร่า จำกัด ประกอบกับเอกสารหมาย จ.10 ต้องถือว่าสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยยังไม่สิ้นสุดลง และไม่ปรากฏว่าบริษัทนิวเอร่า จำกัดได้เลิกจ้างโจทก์หรือไม่อย่างไร สิทธิเรียกร้องเงินสะสมและเงินสมทบของโจทก์ยังไม่เกิดขึ้นนั้น พิเคราะห์แล้วในปัญหาข้อนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าสัญญาเช่าทรัพย์สินเอกสารหมาย จ.12 ข้อ 6.3.1 ระบุไว้ชัดว่าให้พนักงานทำหนังสือลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยโดยไม่มีเงื่อนไข และไม่เรียกร้องใด ๆ จากจำเลยก่อน บริษัทนิวเอร่า จำกัด จึงจะรับเข้าทำงานการที่พวกโจทก์ทุกคนเข้าทำงานกับบริษัทนิวเอร่า จำกัดจึงแสดงว่าโจทก์ทุกคนได้ลาออกจากบริษัทจำเลยแล้ว โจทก์ทุกคนจึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ประกอบกับระเบียบข้อบังคับสำหรับพนักงาน เอกสารหมาย จ.3 หมวด 7 ข้อ 27 ว่าด้วยระเบียบการเรื่องเงินสะสมและเงินสมทบข้อ 27.11 กำหนดว่าพนักงานมีสิทธิถอนเงินสะสมคืนได้ในกรณีที่ลาออก กรณีหนึ่ง และข้อ 27.14กำหนดว่าบริษัทจะจ่ายเงินสมทบให้กับพนักงานในกรณีที่พนักงานลาออกโดยไม่มีความผิดและความเสียหายเช่นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยข้อสุดท้ายนี้เป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังเอกสารหมาย จ.12 ของศาลแรงงานกลางที่ฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นเป็นยุติว่า โจทก์ทุกคนได้ลาออกจากบริษัทจำเลยแล้วซึ่งก็มีความหมายว่าสภาพการจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยได้สิ้นสุดลงแล้วการที่จำเลยอุทธรณ์ว่าสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยยังไม่สิ้นสุดลง จึงเป็นการอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาแล้วว่า โจทก์ทุกคนได้ลาออกจากบริษัทจำเลยและสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยได้สิ้นสุดลงแล้วเพื่อจะนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าจำเลยจะต้องรับผิดจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบให้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้
ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองสำนวนจ่ายเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 93 พร้อมด้วยดอกเบี้ยมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
แต่ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2528 แก่โจทก์ที่ 90 ถึงโจทก์ที่ 93 จากต้นเงินทั้งหมดซึ่งเป็นเงินสมทบของโจทก์ที่ 90 ถึงโจทก์ที่ 93จำนวน 50,000 บาท 14,000 บาท 18,000 บาท และ 7,900 บาทตามลำดับกับค่าจ้างของโจทก์ที่ 90 และโจทก์ที่ 91 อีกคนละ 1,000 บาทนั้น เป็นการเกินคำขอเพราะโจทก์ที่ 90 ถึงโจทก์ที่ 93 ได้มีคำขอเรียกดอกเบี้ยสำหรับต้นเงินดังกล่าวเฉพาะเงินสมทบตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม2528 เป็นต้นไป จึงสมควรแก้เสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีสำหรับเงินสมทบที่ค้างจ่ายแก่โจทก์ที่ 90ถึงโจทก์ที่ 93 นับแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง