แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ลูกจ้างเข้าทำงานก่อนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 2 ใช้บังคับ ได้ทำงานมา 3 ปี 1 เดือน นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานเมื่อประกาศฉบับนั้นใช้บังคับแล้ว นายจ้างจ่ายเงินชดเชยไม่ครบตามหนังสือที่พนักงานแรงงานสัมพันธ์แจ้งให้จ่าย นายจ้างมีความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 2, 8
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับจำเลยที่ 1 10,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 7 เดือนปรับ 10,000 บาท รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 1 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 1 ได้จ้างนายศรีพงษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เข้าปฏิบัติงานในโครงการ เอโอดี 493-008 ระบุอัตราค่าจ้างเป็นเดือน ค่าเช่าบ้านค่าเบี้ยเลี้ยง รวมทั้งค่าที่พักต่อวัน เมื่อมีการเดินทางไปปฏิบัตินอกจังหวัดนครราชสีมาส่วนสถานที่ปฏิบัติงานคือศูนย์ รพช. นครราชสีมา เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2514 ตามเอกสารหมาย ล.1 เมื่อเริ่มเข้าทำงาน นายศรีพงษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ได้รับเงินเดือน ๆ ละ 15,000 บาท ภายหลังได้มีการปรับปรุงอัตราเงินเดือนให้ใหม่และเมื่อจำเลยที่ 2 ให้นายศรีพงษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ออกจากงาน ปรากฏว่านายศรีพงษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ได้รับเงินเดือน ๆ ละ 23,000 บาท และปฏิบัติงานติดต่อกันมาเป็นระยะเวลา 3 ปี 1 เดือน มาเลิกจ้างเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2517 โดยจำเลยที่ 2ได้จ่ายเงินชดเชยจำนวน 23,000 บาท สำหรับระยะเวลา 1 เดือน ให้แก่นายศรีพงษ์อิศรางกูร ณ อยุธยา รับไปแล้วคงขาดเงินชดเชยอยู่อีก 115,000 บาท สำหรับระยะเวลาอีก 5 เดือน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานซึ่งนายศรีพงษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ได้ร้องทุกข์ต่อกรมแรงงาน และพนักงานแรงงานได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองจ่ายเงินค่าชดเชยที่ยังขาดอยู่ดังกล่าว ให้แก่นายศรีพงษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ภายในกำหนด 7 วันแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม
จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การจ้างนายศรีพงษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เข้าทำงานมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายศรีพงษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เข้าทำงานมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายศรีพงษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ได้เข้าทำงานในบริษัทจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 ลงชื่อในฐานะกรรมการผู้จัดการ ให้เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2514 ตามเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งเอกสารดังกล่าวไม่ปรากฏว่า กำหนดระยะเวลาสิ้นสุด และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าก่อนออกจากงาน นายศรีพงษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ได้ทำงานเป็นลูกจ้างประจำให้แก่บริษัทจำเลยที่ 1 ตลอดมามีกำหนดระยะเวลา 3 ปี 1 เดือน การต่ออายุสัญญาปีต่อปีกับสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทนั้น ก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 กับสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 2 ฎีกาต่อไปอีกว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) ให้มีผลเริ่มบังคับใช้แต่วันที่ 14 มิถุนายน 2517 เป็นต้นไป จึงไม่หมายถึงกรณีของจำเลยที่ 2 นั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า กฎหมายแรงงานได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งย่อมจะต้องเป็นไปตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ ทั้งเป็นบทบัญญัติที่ออกมาเพื่อคุ้มครองลูกจ้างในกรณีที่ต้องออกจากงาน ว่าชอบที่จะได้รับเงินค่าชดเชยเท่าใด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังว่านายศรีพงษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ได้ทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มาเป็นเวลา3 ปี 1 เดือน จำเลยมาเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2517 อันเป็นเวลาภายหลังที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คุ้มครองแรงงานฉบับดังกล่าวประกาศใช้แล้ว จึงมีผลบังคับถึงกรณีของจำเลยด้วย แม้การเข้าทำงานของนายศรีพงษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา จะได้เข้าก่อนวันที่ 14 มิถุนายน 2517 ก็ไม่เป็นข้อสำคัญแต่ประการใด”
พิพากษายืน