แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทจำนวนเงิน 3,626 บาทให้แก่ ว. ต่อมามีการแก้ไขเพิ่มจำนวนเงินเป็น 903,626 บาท โดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอม การแก้ไขดังกล่าวหากไม่ตรวจโดยละเอียดก็ยากที่จะสังเกตได้ ดังนี้ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้นถือว่าเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ประจักษ์กรณี จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1007 วรรคสอง
ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จะให้ธนาคารโจทก์ผู้ทรงเช็ครับผิด (น่าจะเป็นสิทธิ) ตามเนื้อความเดิมแห่งเช็คตามมาตรา 1007 วรรคสอง ต้องไม่ปรากฏว่าผู้สั่งจ่ายได้ละเลยในการระมัดระวังที่จะไม่ให้มีการปลอมแปลงเช็ค ถ้าหากผู้สั่งจ่ายละเลยไม่ระมัดระวังเป็นเหตุให้มีการปลอมแปลงเช็คได้โดยง่าย ผู้สั่งจ่ายต้องรับผิดนั้น คดีไม่มีประเด็นดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ 2 ที่ 3 กรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่าย และประทับตราของบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นข้อสำคัญในเช็คพิพาทเพื่อชำระราคาอ้อยให้แก่ ว. เป็นการกระทำตามหน้าที่ภายในขอบวัตถุที่ประสงค์ของบริษัทจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องรับผิด
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า มีการปลอมจำนวนเงินในเช็คโดยไม่ประจักษ์ จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดชำระเงินตามเนื้อความเดิมแห่งเช็คนั้น และเนื่องจากไม่ปรากฏว่าจำเลยได้วางเงินชำระหนี้ตามเช็คพิพาท จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการ จำเลยที่ ๓ เป็นผู้รับมอบอำนาจลงนามแทนจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ในฐานะส่วนตัวและในฐานะแทนจำเลยที่ ๑ ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ผู้มีชื่อเป็นเงิน ๙๐๓,๖๒๖ บาท ต่อมาผู้มีชื่อนำเช็คพิพาทชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชำระเงินตามเช็คจำนวน ๙๐๓,๖๒๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่เช็คถึงกำหนดจนถึงวันชำระแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ลงชื่อในฐานะผู้รับมอบอำนาจและกระทำการแทนจำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว จำเลยสั่งจ่ายเช็คชำระค่าอ้อยให้นายวิทยาจำนวนเงิน ๓,๖๒๖ บาท ต่อมามีบุคคลหลายคนคบคิดกันปลอมเช็คพิพาทโดยการเติมแก้ไขจำนวนเงินเป็น ๙๐๓,๖๒๖ บาท จำเลยทั้งสามมิได้รู้เห็นยินยอม โจทก์และพนักงานตัวแทนโจทก์จงใจหรือประมาทเลินเล่อ มิฉะนั้นต้องเห็นว่าเช็คปลอม โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยไม่สุจริต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชำระเงินตามเนื้อความเดิมในเช็ค ๓,๖๒๖ บาท พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่าพยานจำเลยสอดคล้องต้องกันฟังได้ว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทจำนวนเงิน ๓,๖๒๖ บาท การที่เช็คพิพาทมีจำนวนเงินเพิ่มขึ้นเป็น ๙๐๓,๖๒๖ บาท จำเลยนำสืบว่ามีการแก้ไขโดยแก้จำนวนเงินที่เป็นตัวหนังสือจากเดิมว่า เงินสามพันหกร้อยยี่สิบหกบาทถ้วน เป็นเงินเก้าแสนสามพันหกร้อยยี่สิบหกบาทถ้วน ด้วยวิธีแก้คำว่า เงิน เป็นแสน แล้วเติมคำ เงินเก้าลงข้างหน้า และเติมตัวเลข ๙๐ ลงข้างหน้าจำนวนเงินที่เป็นตัวเลข พันตำรวจโทหม่อมราชวงศ์อุททินพยานจำเลยซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานก็ให้ความเห็นว่ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงต่อเติมตัวหนังสือ ตัวเลขจำนวนเงินในเช็คพิพาทตรงกับที่จำเลยนำสืบ ศาลฎีกาตรวจเช็คพิพาทแล้วเห็นว่า ตัว ส. ของคำว่า แสนตรงช่องจำนวนเงินเปรียบเทียบกับคำว่าแสน ชื่อสกุลของนายวิทยา ใจแสน สระแ มีลักษณะการเขียนไม่เหมือนกัน และหัวตัว ส. กับหางตัว ส. มีลักษณะถูกแก้ไข โจทก์จำเลยก็นำสืบรับกันฟังได้ว่า โจทก์รับเช็คพิพาทจากนายสมคิด นายสมคิดถูกฟ้องฐานปลอมเช็คฉบับหนึ่งของจำเลยที่ ๑ และถูกศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษแล้ว ส่วนโจทก์มีพยานเบิกความว่าเช็คไม่ปลอมโดยไม่มีหลักฐานใด ๆ สนับสนุน สำหรับความเห็นของพันตำรวจเอกจำรัสพยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการตรวจพิสูจน์หลักฐานก็ขัดแย้งกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่เป็นพยานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานจำเลย เห็นว่าพยานจำเลยฟังได้ว่าเช็คพิพาทได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินและจำเลยไม่ได้รู้เห็นยินยอม แต่เมื่อตรวจการแก้ไขเพิ่มจำนวนเงินในเช็คพิพาทแล้ว หากไม่ตรวจโดยละเอียดก็ยากที่จะสังเกตได้โดยชัดแจ้ง แม้ผู้เชี่ยวชาญก็ยังไม่ความเห็นไม่ตรงกัน ดังนี้ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินอันพึงจะใช้นั้นถือว่า เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ประจักษ์ กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา ๑๐๐๗ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมา
ที่โจทก์ฎีกาว่าแม้การแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ประจักษ์การที่จะให้ธนาคาร (คงหมายถึงโจทก์) รับผิดตามเนื้อความเดิมแห่งเช็ค ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๐๗ วรรคสองได้นั้น ต้องไม่ปรากฏผู้สั่งจ่ายได้ละเลยในการระมัดระวังที่จะไม่ให้มีการปลอมแปลงเช็คนั้นอย่างไร ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๗๐/๒๔๙๖ ถ้าหากปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้สั่งจ่ายละเลยไม่ระมัดระวังเป็นเหตุให้มีการปลอมแปลงเช็คได้โดยง่าย ผู้สั่งจ่ายต้องรับผิด กับที่โจทก์ฎีกาว่าการแก้ไขรายการในเช็คที่ไม่ประจักษ์ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๙๗ วรรคสาม ได้คุ้มครองธนาคารซึ่งจ่ายเงินไปโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อนั้น เห็นว่าคดีไม่มีประเด็นดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ข้อที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวนั้นเห็นว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่าย และประทับตราของบริษัทจำเลยที่ ๑ เป็นสำคัญในเช็คพิพาทเพื่อชำระราคาอ้อยให้แก่นายวิทยา เป็นการกระทำตามหน้าที่ภายในขอบวัตถุที่ประสงค์ของบริษัทจำเลยที่ ๑ เมื่อจำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นแล้วจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ หาต้องรับผิดเป็นส่วนตัวไม่
ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงิน ๓,๖๒๖ บาทพร้อมดอกเบี้ยเห็นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า มีการปลอมจำนวนเงินในเช็คโดยไม่ประจักษ์ จำเลยที่ ๑ ก็ต้องรับผิดชำระเงินตามเนื้อความเดิมแห่งเช็คนั้น และเนื่องจากไม่ปรากฏว่าจำเลยได้วางเงินชำระหนี้ตามเช็คพิพาท จำเลยที่ ๑ จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไม่ต้องรับผิดชำระเงินดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมศาลชั้นต้นโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์