คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3481/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทที่โจทก์อ้างว่าได้มาเมื่อปี2525เป็นทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา99เดิมเมื่อเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ.2519มาตรา1474แต่โจทก์จดทะเบียนสมรสก่อนวันใช้บังคับพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ.2519ซึ่งมาตรา7บัญญัติว่าบทบัญญัติบรรพ5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจการจัดการสินบริคณห์ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มีอยู่แล้วฯและไม่ปรากฏว่ามีการทำสัญญาก่อนสมรสให้โจทก์เป็นผู้จัดการสินบริคณห์ดังนั้นสามีโจทก์จึงยังคงเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ5พ.ศ.2477มาตรา1468การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยโอนที่พิพาทตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่สินบริคณห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์พ.ศ.2477มาตรา1469ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากสามีโจทก์ก่อนหากสามีโจทก์ไม่ให้ความยินยอมโดยปราศจากเหตุผลโจทก์อาจร้องขอต่อศาลให้สั่งอนุญาตได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์พ.ศ.2477มาตรา1475 โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสามีโจทก์ถือว่ามีการบกพร่องในเรื่องความสามารถตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา56ศาลล่างทั้งสองชอบที่จะสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถเสียให้บริบูรณ์ตามมาตรา56วรรคสองก่อนแต่ศาลล่างทั้งสองไม่ปฏิบัติกลับดำเนินคดีต่อไปจนเสร็จจึงเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถให้บริบูรณ์เสียก่อนแล้วดำเนินการต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อกลางปี 2525 จำเลยได้ขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 43834 ให้แก่โจทก์ในราคา 55,000 บาท ตกลงชำระราคาที่ดินเป็นงวด ๆ แล้วจำเลยจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เมื่อชำระราคาครบถ้วน หลังจากนั้นโจทก์ชำระค่าที่ดินให้แก่จำเลยจนถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2526 เป็นเงิน55,000 บาท ครบถ้วนตามสัญญาจะซื้อขายแล้วจำเลยไม่ยอมไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินการจดทะเบียนหากจำเลยไม่ยอมดำเนินการขอถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ในปี 2525 จำเลยตกลงจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และนายอนันต์ สุวพันธ์ สามีโจทก์ซึ่งเป็นน้องชายของจำเลยตกลงกันว่าโจทก์และสามีเป็นฝ่ายชำระค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ต่อมากลางปี 2528 โจทก์และสามีผ่อนชำระค่าที่ดินให้แก่จำเลยเพียง 40,000 บาท และปรากฏว่าโจทก์เป็นหนี้บุคคลภายนอกเป็นเงิน 150,000 บาท และไม่มีเงินชำระให้แก่เจ้าหนี้ โจทก์และสามีจึงมาบอกจำเลยว่าไม่ประสงค์จะซื้อที่ดินพิพาทอีกต่อไปให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินผ่อนชำระมาแล้ว จำเลยจึงตกลงยกเลิกสัญญาและคืนเงินที่โจทก์และสามีชำระมาแล้วจนครบถ้วนส่วนโฉนดที่ดินพิพาทโจทก์และสามียังไม่ได้คืนให้แก่จำเลยจำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์เป็นหญิงมีสามี ฟ้องคดีนี้ถือเป็นการจัดการสินสมรสอย่างหนึ่ง โจทก์ฟ้องโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับความยินยอมจากสามี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง และขอให้บังคับให้โจทก์ส่งมอบโฉนดเลขที่ 43834 คืนให้แก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ผู้เดียวเป็นผู้ตกลงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับจำเลย โจทก์ได้ชำระราคาที่ดินพิพาทให้จำเลยครบถ้วนแล้ว จำเลยได้ส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทให้โจทก์ยึดถือไว้ เพื่อจำเลยจะได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ แต่จำเลยผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 43834 ให้แก่โจทก์โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยไม่ยอมดำเนินการจดทะเบียนโอนก็ให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้ยกฟ้องแจ้งจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์จำเลยออกค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 43834 เท่า ๆ กันนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์เป็นหญิงมีสามีฟ้องคดีนี้เกี่ยวกับการจัดการสินสมรสโดยไม่ได้รับความยินยอมจากสามีนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์จดทะเบียนสมรสกับนายอนันต์เมื่อ พ.ศ. 2517 โจทก์ตกลงซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยเมื่อปี 2525 และโจทก์อ้างว่าผ่อนชำระเสร็จพ.ศ. 2526 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2533 ซึ่งอยู่ในระหว่างที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มีผลใช้บังคับ เห็นว่า สิทธิตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทที่โจทก์อ้างว่าได้มาเมื่อปี 2525 นั้น เป็นทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 99 เดิม เมื่อเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519มาตรา 1474 แต่โจทก์จดทะเบียนสมรสก่อนวันใช้บังคับพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ซึ่งมาตรา 7 บัญญัติว่าบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจการจัดการสินบริคณห์ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มีอยู่แล้ว ๆ และไม่ปรากฏว่ามีการทำสัญญาก่อนสมรสให้โจทก์เป็นผู้จัดการสินบริคณห์ ดังนั้น สามีโจทก์จึงยังคงเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 พ.ศ. 2477 มาตรา 1468 การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่สินบริคณห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 1469 ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากสามีโจทก์ก่อน หากสามีโจทก์ไม่ให้ความยินยอมโดยปราศจากเหตุผล โจทก์อาจร้องขอต่อศาลให้สั่งอนุญาตได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 1475 การที่โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสามีโจทก์ ถือว่ามีการบกพร่องในเรื่องความสามารถตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 ศาลล่างทั้งสองชอบที่จะสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถเสียให้บริบูรณ์ตามมาตรา 56 วรรคสองก่อน แต่ศาลล่างทั้งสองไม่ปฏิบัติกลับดำเนินคดีต่อไปจนเสร็จ จึงเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถให้บริบูรณ์ เสียก่อนภายในกำหนดเวลาอันสมควรที่ศาลชั้นต้นจะสั่งแล้วดำเนินการต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นจัดการในเรื่องความสามารถในการฟ้องคดีของโจทก์ตามที่กล่าวมาแล้วพิพากษาคดีใหม่

Share