คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2137/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ. 2510มาตรา 6,7 และมาตรา 9(1) และ (2) เพียงแต่บัญญัติว่าองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกจำเลยเป็นนิติบุคคลโดยเป็นองค์การของรัฐเพื่อการกุศล ได้รับเงินอุดหนุนจากงบเงินอุดหนุนของกระทรวงกลาโหมและเงินที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นครั้งคราวแต่ไม่มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้จำเลยเป็นราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาคหรือราชการส่วนท้องถิ่นทั้งตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2503 มาตรา 8 จำเลยก็ไม่ได้เป็นส่วนราชการของกระทรวงกลาโหมจำเลยจึงมิได้เป็นราชการส่วนกลางราชการส่วนภูมิภาคหรือราชการส่วนท้องถิ่น ที่จะได้รับการยกเว้นไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดที่ห้ามมิให้หน่วยงานขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกจำเลยดำเนินกิจการเพื่อหารายได้อันเป็นการแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ ทั้งการที่สำนักงานกิจการศาลหลักเมืองนำรายได้อันเกิดจากการจำหน่ายดอกไม้ ธูปเทียนพวงมาลัยผ้าแพรสมทบกับเงินบริจาคจากผู้บริจาคต่าง ๆส่งให้แก่จำเลยนำไปใช้จ่ายเพื่อการกุศล ก็เป็นการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของจำเลยนั่นเอง มิได้ดำเนินการนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ของจำเลยการดำเนินกิจการดังกล่าวจึงเป็นการแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ
ข้อบังคับสภาทหารผ่านศึกว่าด้วยลูกจ้างองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ. 2521 ให้ถือปฏิบัติตามข้อบังคับสภาทหารผ่านศึกว่าด้วยพนักงานองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ. 2536ซึ่งกำหนดว่าพนักงานของจำเลยจะต้องออกจากงานเมื่อสิ้นปีงบประมาณของปีที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์นั้น หมายถึงให้จำเลยดำเนินการให้พนักงานที่ขาดคุณสมบัติเนื่องจากอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ออกจากงานนั่นเอง การที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุที่โจทก์มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์เป็นการไม่ให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างทำงานต่อไป จึงเป็นการเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานตำแหน่งหัวหน้าบัญชีและพัสดุ วันที่ 1 ตุลาคม 2542 จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ โดยโจทก์มิได้กระทำความผิด จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน คิดเป็นเงิน96,120 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าชดเชย 96,120 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นองค์การของรัฐเพื่อการกุศลไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจไม่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541สำนักงานกิจการศาลหลักเมืองเป็นหน่วยงานหนึ่งของจำเลยมีหน้าที่ดูแลรักษาศาลหลักเมืองรวมทั้งอาคารและสถานที่บูรณะปฏิสังขรณ์ บริการประชาชนผู้มาสักการะ จึงเป็นหน่วยงานของจำเลยซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานกิจการศาลหลักเมืองได้พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ตามข้อบังคับสภาทหารผ่านศึกว่าด้วยลูกจ้างองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ. 2521ที่ให้ถือปฏิบัติตามข้อบังคับสภาทหารผ่านศึก ระเบียบและคำสั่งขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกว่าด้วยพนักงานองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ. 2536 ซึ่งกำหนดให้พนักงานต้องออกจากงานเมื่อมีคำสั่งให้ออกเนื่องจากสิ้นปีงบประมาณที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตอบแทนจากจำเลยเพราะไม่เข้ากรณีที่จะได้รับเงินบำเหน็จตอบแทนตามข้อบังคับสภาทหารผ่านศึกว่าด้วยบำเหน็จของพนักงานองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ. 2520ซึ่งกำหนดให้พนักงานได้รับบำเหน็จเมื่อทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่า5 ปีบริบูรณ์ จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย96,120 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1ตุลาคม 2542 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยเป็นหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นได้รับการยกเว้นมิให้อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 นั้น เห็นว่า อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยเท่ากับอ้างว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง อันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลแรงงานกลางก็ตาม แต่อย่างไรก็ดีตามพระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ. 2510มาตรา 6, 7 และมาตรา 9(1) และ (2) เพียงแต่บัญญัติว่าจำเลยเป็นนิติบุคคลโดยเป็นองค์การของรัฐเพื่อการกุศล ได้รับเงินอุดหนุนจากงบเงินอุดหนุนของกระทรวงกลาโหมและเงินที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นครั้งคราว แต่มิได้มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้จำเลยเป็นราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาคหรือราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2503 มาตรา 8 บัญญัติว่า”กระทรวงกลาโหมมีส่วนราชการดังนี้

(1) สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี

(2) สำนักงานปลัดกระทรวง

(3) กรมราชองครักษ์

(4) กองบัญชาการทหารสูงสุด”

ซึ่งจากบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยก็หาได้เป็นส่วนราชการของกระทรวงกลาโหมแต่อย่างใดไม่ จำเลยจึงมิได้เป็นราชการส่วนกลางราชการส่วนภูมิภาคหรือราชการส่วนท้องถิ่น ที่จะได้รับการยกเว้นไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541และที่จำเลยอุทธรณ์ว่า สำนักงานกิจการศาลหลักเมืองมิได้ดำเนินการแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้ว ฟังข้อเท็จจริงว่าสำนักงานกิจการศาลหลักเมืองกำหนดราคาจำหน่ายดอกไม้ ธูปเทียน พวงมาลัย ผ้าแพร เท่าราคาทุน แต่ได้กำไรจากการที่สามารถนำดอกไม้ พวงมาลัย ผ้าแพร กลับมาจำหน่ายอีก ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะเป็นรายได้ส่วนหนึ่งของสำนักงานกิจการศาลหลักเมือง นอกเหนือจากเงินที่มีผู้บริจาคดังที่ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.20 และเงินที่ผู้บริจาคใส่ตู้รับบริจาคตามจุดต่าง ๆในบริเวณศาลหลักเมืองดังที่จำเลยนำสืบ จากข้อเท็จจริงดังได้กล่าวมาแล้ว ถือได้ว่ากิจการของสำนักงานกิจการศาลหลักเมืองเป็นกิจการที่แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ อุทธรณ์ของจำเลยที่แสดงเหตุผลต่าง ๆ เพื่อให้ศาลฎีการับฟังว่าจำเลยกำหนดราคาจำหน่ายดอกไม้ ธูปเทียน พวงมาลัย ผ้าแพร ต่ำกว่าราคาทุน และจำเลยไม่อาจนำดอกไม้ พวงมาลัย ผ้าแพร กลับมาใช้ได้อย่างเดิมโอกาสที่จะนำกลับมาใช้เพื่อรับการบริจาคอีกนั้นเป็นไปได้น้อยมากเป็นอุทธรณ์ที่โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่าสำนักงานกิจการศาลหลักเมืองดำเนินกิจการที่แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจหรือไม่ เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยมีวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ. 2510 เพื่อการกุศลการดำเนินกิจการของจำเลยเป็นการให้การสงเคราะห์ ย่อมไม่ได้ดำเนินกิจการแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ สำนักงานกิจการศาลหลักเมืองเป็นหน่วยงานหนึ่งของจำเลยต้องปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของจำเลยจะดำเนินการนอกเหนือขอบเขตของกฎหมายและวัตถุประสงค์ของจำเลยไม่ได้นั้น เห็นว่า ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดที่ห้ามมิให้หน่วยงานของจำเลยดำเนินกิจการเพื่อหารายได้อันเป็นการแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ ทั้งการที่สำนักงานกิจการศาลหลักเมืองนำรายได้อันเกิดจากการจำหน่ายดอกไม้ ธูปเทียนพวงมาลัย ผ้าแพรสมทบกับเงินบริจาคจากผู้บริจาคต่าง ๆส่งให้แก่จำเลยนำไปใช้จ่ายเพื่อการกุศล ก็เป็นการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของจำเลยนั่นเอง หาได้ดำเนินการนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ของจำเลยแต่อย่างใดไม่ สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยในข้อที่ว่าการที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานตามเอกสารหมาย จ.3 เป็นการให้ออกจากงานโดยผลของกฎหมายที่จำเลยจะต้องปฏิบัติตาม ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 นั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังเป็นยุติตามที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่าจำเลยมีข้อบังคับสภาทหารผ่านศึกว่าด้วยพนักงานองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกพ.ศ. 2536 เอกสารหมาย ล.12 และข้อบังคับสภาทหารผ่านศึกว่าด้วยลูกจ้างองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ. 2521เอกสารหมาย ล.11 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ. 2510 โดยข้อบังคับสภาทหารผ่านศึกว่าด้วยลูกจ้างฯ ให้ถือปฏิบัติตามข้อบังคับสภาทหารผ่านศึกว่าด้วยพนักงานฯ ซึ่งกำหนดว่าพนักงานของจำเลยจะต้องออกจากงานเมื่อสิ้นปีงบประมาณของปีที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ก็ตาม แต่ก็หมายถึงให้จำเลยดำเนินการให้พนักงานที่ขาดคุณสมบัติเนื่องจากอายุครบ60 ปีบริบูรณ์ ออกจากงานนั่นเอง ฉะนั้นการที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุที่โจทก์มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์จึงเป็นการกระทำที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างไม่ให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างทำงานต่อไป ย่อมเป็นการเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสองที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์นั้นชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share