แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่ออ่านเอกสารท้ายฟ้องทั้งหมดประกอบคำฟ้องแล้วพอเข้าใจได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิ์นำรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน10-0769กาญจนบุรีเข้าวิ่งในคิวที่41ของจำเลยที่1แทนรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน10-0485กาญจนบุรีแต่จำเลยที่1ไม่ยินยอมให้เข้าวิ่งสำหรับเรื่องการซื้อขายและเช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวเช่นทำสัญญากันเมื่อใดราคาเท่าใดมีเงื่อนไขในการในการชำระค่าเช่าซื้ออย่างไรมีสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ล้วนเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในภายหลังส่วนคำว่าคิวนั้นเมื่ออ่านฟ้องแล้วก็พอจะเข้าใจได้ว่าเป็นลำดับของรถยนต์โดยสารที่โจทก์จะนำเข้าวิ่งในเส้นทางของจำเลยที่1คำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้วฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ส.ให้โจทก์ทำสัญญาซื้อขายคิวรถที่40เพื่อเป็นประกันการเช่าซื้อรถยนต์โดยมิได้ประสงค์ให้ผูกพันเป็นการซื้อขายกันจริงๆสัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นการทำขึ้นโดยเจตนาลวงใช้บังคับระหว่างกันไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา118เดิม โจทก์มิได้ฟ้องบังคับตามสัญญาซื้อขายดังนั้นการที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลประกอบสัญญาเช่าซื้อว่าโจทก์ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์โดยสารจากส. ราคา352,000บาทส่วนสัญญาเช่าซื้อรถยนต์โดยสารจากส. ราคา352,000บาทส่วนสัญญาซื้อขายที่ระบุว่าเป็นสัญญาซื้อขายคิวรถที่41ให้แก่ส.ราคา352,000บาทนั้นความจริงเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อที่โจทก์ทำไว้แก่ส.เนื่องจากโจทก์ไม่มีหลักประกันการเช่าซื้อโจทก์จึงได้ทำสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อไว้ในรูปของสัญญาซื้อขายคิวรถที่41โดยมีเงื่อนไขว่าหากโจทก์ไม่ชำระค่าเช่าซื้อก็ให้ส. ยึดคิวรถที่41ได้และหากโจทก์ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนส.ก็จะคืนคิวรถที่41ให้โจทก์ไม่มีการจ่ายเงินตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวแต่อย่างใดการนำสืบเช่นนี้จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา94 แม้โจทก์จะตั้งข้อหาในคำฟ้องว่าละเมิดแต่คำฟ้องของโจทก์ที่แท้จริงอยู่ที่คำบรรยายฟ้องเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องมาว่าจำเลยที่1ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้เดินรถโดยสารสาธารณะประจำทางในเส้นทางสาย8203และโจทก์เป็นผู้ประกอบการเดินรถผู้หนึ่งที่นำรถยนต์เข้าร่วมกับจำเลยที่1รับส่งคนโดยสารในเส้นทางดังกล่าวในคิวที่41ก็ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าการที่โจทก์มีสิทธินำรถยนต์เข้าร่วมรับส่งคนโดยสารในเส้นทางที่จำเลยที่1ได้รับอนุญาตได้นั้นโจทก์และจำเลยที่1จะต้องมีสัญญาต่อกันกล่าวคือจำเลยที่1จะต้องทำสัญญาให้โจทก์เข้าเดินรถร่วมกับจำเลยที่1และการที่โจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่าต่อมาจำเลยที่1ปฎิเสธไม่ยอมให้โจทก์นำรถยนต์เข้าวิ่งในคิวที่41แต่กลับให้จำเลยที่2นำรถยนต์เข้าวิ่งแทนโจทก์ก็เป็นที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยที่1ทำผิดสัญญาดังกล่าวมิใช่ฟ้องเรื่องละเมิดแม้โจทก์จะตั้งข้อหาคลาดเคลื่อนไปว่าเป็นละเมิดก็ไม่ทำให้สารัตถะในคำฟ้องเป็นเรื่องละเมิดไปได้และเป็นหน้าที่ของศาลที่จะปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ฉะนั้นจะนำอายุความ1ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา448มาปรับแก่คดีหาไม่ได้และกรณีที่จำเลยที่1ผิดสัญญาไม่ยอมให้โจทก์นำรถยนต์เข้าร่วมรับส่งคนโดยสารนี้กฎหมายมิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องถืออายุความ10ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา164(เดิม) เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้ทำสัญญาค้ำประกันโจทก์ไม่ได้ทำสัญญาขายคิวรถที่41ให้แก่ส. คิวรถที่41จึงยังเป็นของโจทก์อยู่แต่เมื่อโจทก์จะขอนำรถยนต์โดยสารเข้าร่วมวิ่งกับจำเลยที่1ตามสัญญาจำเลยที่1กลับปฎิเสธสิทธิของโจทก์โดยอ้างว่าจำเลยที่1ได้อนุญาตให้จำเลยที่2นำรถยนต์โดยสารเข้าวิ่งในคิวของโจทก์แทนการกระทำของจำเลยที่1จึงเป็นการผิดสัญญาโจทก์ชอบที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ประกอบการรับส่งคนโดยสาร ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้เป็นผู้เดินรถโดยสารสาธารณะประจำทางในเส้นทางสาย8203 ระหว่างอำเภอเมืองกาญจนบุรี – อำเภอสังขละบุรีโจทก์เป็นผู้ประกอบการเดินรถผู้หนึ่งที่นำรถยนต์เข้าร่วมรับส่งคนโดยสารในเส้นทางดังกล่าว คิวที่ 41 โดยเมื่อปี 2523 โจทก์ได้นำรถยนต์หมายเลขทะเบียน 10 – 0485 กาญจนบุรี เข้าร่วมกับจำเลย และในปี 2525 โจทก์ได้นำรถยนต์หมายเลขทะเบียน10 – 0769 กาญจนบุรี ซึ่งโจทก์เช่าซื้อมาจากนายสงวน ชูเลิศเข้าร่วม ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวจากนายสงวน และนายสงวนให้โจทก์เช่าซื้อวิ่งในคิวและเส้นทางเดิมต่อไป หลังจากวันนั้นวันที่ 9 พฤษภาคม 2529 จำเลยที่ 2 ได้ยึดรถยนต์คันดังกล่าวไปไม่ยอมให้โจทก์นำเข้าวิ่งในคิวของโจทก์โจทก์จึงได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาล จังหวัดกาญจนบุรี ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 870/2530 ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 192,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีส่วนคิวที่ 41 ถ้าเป็นของโจทก์จริงโจทก์ก็ชอบที่จะแจ้งให้ให้จำเลยที่ 1 ระงับรถยนต์คันพิพาทออกจากการร่วมสัมปทานดังกล่าวได้ ต่อมาโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 แจ้งให้ทราบว่าโจทก์จะนำรถยนต์คันใหม่เข้าวิ่งในคิวที่ 41 ต่อไปแต่จำเลยที่ 1ปฎิเสธและได้ให้จำเลยที่ 2 นำรถยนต์หมายเลขทะเบียน 10 – 0769กาญจนบุรี เข้าวิ่งแทนจนกระทั่งบัดนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดและโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายและขาดประโยชน์ที่ควรได้จากการนำรถยนต์เข้ารับส่งคนโดยสารไม่น้อยกว่าเดือนละ 10,000 บาท โจทก์ขอคิดค่าเสียหายนับแต่วันที่ 18 มกราคม 2531 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 6 เดือน เป็นเงิน60,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำนวน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปและให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 10,000บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยที่ 2 ไม่นำรถยนต์เข้าวิ่งในคิวของโจทก์ และให้จำเลยทั้งสองถอนรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ออกจากคิวที่ 41 แล้วให้โจทก์นำรถยนต์ของโจทก์เข้าวิ่งในคิวดังกล่าว
จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์บรรยายว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการเดินรถผู้หนึ่งที่นำรถยนต์เข้าร่วมกับจำเลย แต่ไม่ได้ระบุว่ากับจำเลยที่ 1 หรือที่ 2 หรือจำเลยทั้งสองคน และที่บรรยายว่า ในปี 2525 โจทก์ได้นำรถยนต์หมายเลขทะเบียน 10 – 0769กาญจนบุรี โดยโจทก์เช่าซื้อมาจากนายสงวน ก็ไม่มีรายละเอียดว่าโจทก์นำรถยนต์คันดังกล่าวไปทำอะไรกับใครการเช่าซื้อมีสัญญาหรือไม่ ส่วนที่บรรยายต่อมาว่า จำเลยที่ 2 ได้ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวจากนายสงวนก็ไม่ให้เหตุผลว่าทำไมจำเลยที่ 2จึงซื้อรถยนต์คันดังกล่าวไปจากนายสงวนได้ทั้ง ๆ ที่โจทก์เป็นผู้เช่าซื้ออยู่ก่อนแล้ว ทั้งไม่ได้ระบุวันเดือนปีที่โจทก์เช่าซื้อ และที่จำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์จากนายสงวน และการเช่าซื้อรถยนต์เข้าวิ่งในคิวของโจทก์ในเส้นทางสาย 8203 ของจำเลยที่ 1 ก็ไม่บรรยายว่า จำเลยที่ 2 ให้โจทก์เช่าซื้อไปเมื่อใด มีสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ ราคาเท่าไร ผ่อนชำระกันอย่างไรและไม่ได้อธิบายความหมายของคำว่า “คิว” ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุมโจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2529 จำเลยที่ 2ได้ยึดรถยนต์หมายเลขทะเบียน 10 – 0769 กาญจนบุรี ไปจากการวิ่งในคิวของโจทก์ และไม่ยอมให้โจทก์นำเข้าวิ่งในคิวของโจทก์ต่อไปเหตุละเมิดจึงเกิดตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2529 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 16 สิงหาคม 2531 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ 1 ปี และฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 870/2530 ของศาลจังหวัดกาญจนบุรี ได้ขายคิวรถที่ 41 ให้นายสงวนไปตั้งแต่วันที่20 กันยายน 2525 และนายสงวนได้ขายต่อให้แก่จำเลยที่ 2 ตั้งแต่กลางปี 2527 โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของคิวรถที่ 41 ที่จะนำคดีมาฟ้องนอกจากนี้โจทก์ไม่มีรถยนต์โดยสารที่จะนำมาวิ่งในคิวดังกล่าวทั้งไม่เคยเสนอว่าจะนำรถยนต์หมายเลขทะเบียนอะไรมาวิ่งจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายทั้งค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาเดือนละ 10,000 บาท ก็สูงเกินส่วน ค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับไม่เกินเดือนละ 3,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับโจทก์นำรถยนต์เข้าร่วมรับส่งคนโดยสารในคิวที่ 41 ตามระเบียบของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 5,000 บาทนับแต่วันที่ 18 มกราคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1จะรับโจทก์นำรถยนต์เข้าร่วมรับส่งคนโดยสารในคิวที่ 41 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการเดินรถผู้หนึ่งที่นำรถยนต์เข้าร่วมวิ่งกับจำเลย โดยไม่ระบุว่าเป็นจำเลยคนใด และตอนต่อมาว่า ปี 2525 โจทก์ได้นำรถยนต์หมายเลขทะเบียน 10 – 0769 กาญจนบุรี โดยโจทก์เช่าซื้อจากนายสงวน ชูเลิศ แต่ไม่มีรายละเอียดว่าเช่าซื้อไปทำอะไรกับใคร มีสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ที่ว่าจำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวจากนายสงวนก็ไม่ปรากฎเหตุผลและไม่ระบุว่าโจทก์เช่าซื้อและจำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์จากนายสงวนวันเดือนปีอะไรและเกี่ยวกับการเช่าซื้อรถยนต์วิ่งในคิวรถของโจทก์ในเส้นทางสาย 8203 ของจำเลยที่ 1 โจทก์ก็ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2ให้โจทก์เช่าซื้อเมื่อใด ราคาเท่าใด ผ่อนชำระราคากันอย่างไรมีสัญญาเช่าซื้อหรือไม่และไม่ได้อธิบายความหมายของคำว่าคิวฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการเดินรถผู้หนึ่งที่นำรถยนต์เข้าร่วมกับจำเลยโดยรับส่งคนโดยสารในเส้นทางสาย 8203 ระหว่างอำเภอเมืองกาญจนบุรี – อำเภอสังขละบุรี คิวที่ 41 โดยเริ่มแรกโจทก์นำรถยนต์หมายเลขทะเบียน 10 – 0485 กาญจนบุรี เข้าร่วมกับจำเลยเมื่อปี 2523 ต่อมาปี 2525 โจทก์ได้นำรถยนต์หมายเลขทะเบียน 10 – 0769 กาญจนบุรี เข้าร่วม นอกจากจะได้บรรยายถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยแล้ว โจทก์ยังได้อ้างส่งสำเนาทะเบียนรถยนต์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 และ 3ประกอบคำฟ้องด้วย และโจทก์ได้บรรยายถึงเรื่องที่โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 เรื่องจะนำรถยนต์เข้าวิ่งในคิวตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 ซึ่งเอกสารดังกล่าวได้กล่าวถึงเรื่องรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10 – 0769 กาญจนบุรี เข้าวิ่งในคิวที่ 41 แทนรถยนต์คันเดิม และจำเลยที่ 1 ได้ตอบปฎิเสธเมื่ออ่านเอกสารทั้งหมดประกอบคำฟ้องแล้วก็พอเข้าใจได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธินำรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10 – 0769กาญจนบุรี เข้าวิ่งในคิวที่ 41 ของจำเลยที่ 1 แทนรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10 – 0485 กาญจนบุรี แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยินยอมให้เข้าวิ่ง สำหรับเรื่องการซื้อขายและเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวเช่น ทำสัญญากันเมื่อใด ราคาเท่าใด มีเงื่อนไขในการชำระค่าเช่าซื้ออย่างไร มีสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ ล้วนเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในภายหลัง ส่วนคำว่าคิวนั้น เมื่ออ่านฟ้องแล้วก็พอจะเข้าใจได้ว่าเป็นลำดับของรถยนต์โดยสารที่โจทก์จะนำเข้าวิ่งในเส้นทางของจำเลยที่ 1 คำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า โจทก์เป็นเจ้าของคิวรถที่ 41 หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายสงวนให้โจทก์ทำสัญญาซื้อขายคิวรถที่ 41 ตามเอกสาร จ.5เพื่อเป็นประกันการเช่าซื้อรถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมายจ.4 โดยมิได้ประสงค์ให้ผูกพันเป็นการซื้อขายกันจริง ๆ สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นการทำขึ้นโดยเจตนาลวงใช้บังคับระหว่างกันไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118เดิม (มาตรา 155 ที่แก้ไขใหม่) ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่านายสงวนได้ขายคิวรถที่ 41 ให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว คิวรถดังกล่าวจึงยังคงเป็นของโจทก์
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า โจทก์นำสืบพยานบุคคลแก้ไขสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.5 ได้หรือไม่ เห็นว่าคดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องบังคับตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.5ดังนั้น การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลประกอบสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 ว่า โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์โดยสารจากนายสงวนราคา 352,000 บาท ส่วนสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.5 ที่ระบุว่าเป็นสัญญาซื้อขายคิวรถที่ 41 ให้แก่นายสงวนราคา 352,000 บาท นั้น ความจริงเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อที่โจทก์ทำไว้แก่นายสงวนเนื่องจากโจทก์ไม่มีหลักประกันการเช่าซื้อ โจทก์จึงได้ทำสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อไว้ในรูปของสัญญาซื้อขายคิวรถที่ 41โดยมีเงื่อนไขว่า หากโจทก์ไม่ชำระค่าเช่าซื้อก็ให้นายสงวนยึดคิวรถที่ 41 ได้และหากโจทก์ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนนายสงวนก็จะคืนคิวรถที่ 41 ให้โจทก์ไม่มีการจ่ายเงินตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวแต่อย่างใด การนำสืบเช่นนี้จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะตั้งข้อหาในคำฟ้องละเมิด แต่คำฟ้องของโจทก์ที่แท้จริงอยู่ที่คำบรรยายฟ้อง เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องมาว่า จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้เดินรถโดยสารสาธารณะประจำทางในเส้นทางสาย 8203 ระหว่างอำเภอเมืองกาญจนบุรีอำเภอสังขละบุรี และโจทก์เป็นผู้ประกอบการเดินรถผู้หนึ่งที่นำรถยนต์เข้าร่วมกับจำเลยที่ 1 รับส่งคนโดยสารในเส้นทางดังกล่าวในคิวที่ 41 ก็ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าการที่โจทก์มีสิทธินำรถยนต์เข้าร่วมรับส่งคนโดยสารในเส้นทางที่จำเลยที่ 1ได้รับอนุญาตได้นั้น โจทก์และจำเลยที่ 1 จะต้องมีสัญญาต่อกันกล่าวคือ จำเลยที่ 1 จะต้องทำสัญญาให้โจทก์เข้าเดินรถร่วมกับจำเลยที่ 1 และการที่โจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่า ต่อมาจำเลยที่ 1ปฎิเสธไม่ยอมให้รถยนต์เข้าวิ่งในคิวที่ 41 แต่กลับให้จำเลยที่ 2นำรถยนต์เข้าวิ่งในคิวที่ 41 แต่กลับให้จำเลยที่ 2 นำรถยนต์เข้าวิ่งแทนโจทก์ ก็เป็นที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ทำผิดสัญญาดังกล่าว มิใช่ฟ้องเรื่องละเมิด แม้โจทก์จะตั้งข้อหาคลาดเคลื่อนไปว่าเป็นละเมิดก็ไม่ทำให้สารัตถะในคำฟ้องเป็นเรื่องละเมิดไปได้ และเป็นหน้าที่ของศาลที่จะปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ ฉะนั้นจะนำอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 มาปรับแก่คดีหาไม่ได้และกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ยอมให้โจทก์นำรถยนต์เข้าร่วมรับส่งคนโดยสารนี้ กฎหมายมิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 (เดิม) ได้ความว่า เมื่อวันที่ 5 และที่ 14มกราคม 2531 โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบว่าจะนำรถยนต์โดยสารคันใหม่เข้าวิ่งในคิวที่ 41 ของโจทก์ในเส้นทางสาย 8203 ของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ตอบปฎิเสธไม่ยอมให้โจทก์นำรถยนต์โดยสารเข้าวิ่งเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2531โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2531 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ปัญหาข้อสุดท้ายที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้ทำสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.5โจทก์ไม่ได้ทำสัญญาขายคิวรถที่ 41 ให้แก่นายสงวน คิวรถที่ 41จึงยังเป็นของโจทก์อยู่ แต่เมื่อโจทก์จะขอนำรถยนต์โดยสารเข้าร่วมวิ่งกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญา จำเลยที่ 1 กลับปฎิเสธสิทธิของโจทก์โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ได้อนุญาตให้จำเลยที่ 2นำรถยนต์โดยสารเข้าวิ่งในคิวของโจทก์แทน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการผิดสัญญา โจทก์ชอบที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ ส่วนค่าเสียหายควรจะเป็นเท่าใดนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นได้กำหนดค่าเสียหายไว้พอสมควรแล้ว ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงแก้ไขศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน