แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างไม่ได้หักและนำส่งเงินภาษีเงินได้ของลูกจ้าง หรือหักและนำส่งเงินภาษีเงินได้ของลูกจ้างแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง โจทก์จะต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้างในภาษีเงินได้ที่ไม่ได้หักหรือนำส่งตามจำนวนที่ขาดแล้วแต่กรณีตามประมวลรัษฎากร มาตรา54 วรรคแรก จึงถือได้ว่าโจทก์มีหน้าที่เสียภาษีเช่นเดียวกับลูกจ้างของโจทก์ ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีคำสั่งให้โจทก์เสียภาษีเงินได้และเงินเพิ่ม หากโจทก์เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร ก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับคำสั่งตามมาตรา 30 เสียก่อน โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องโดยไม่ได้อุทธรณ์การประเมินเสียก่อนย่อมไม่ชอบด้วยมาตรา 30 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินภาษีดังที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานประเมินมีคำสั่งให้โจทก์นำไปชำระ ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
จำเลยให้การว่า การประเมินภาษีชอบแล้ว และโจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน แล้ววินิจฉัยว่าโจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าผู้มีสิทธิและหน้าที่อุทธรณ์การประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 คือ ผู้ต้องเสียภาษีซึ่งได้แก่ลูกจ้างของโจทก์ ส่วนโจทก์เป็นเพียงผู้มีหน้าที่หักภาษีของลูกจ้างและเป็นผู้นำส่งภาษีอากร โจทก์ไม่ใช่เป็นผู้ต้องเสียภาษีเงินได้ จึงไม่มีสิทธิและหน้าที่อุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 ก่อนนำคดีมาฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้โจทก์จะมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ของลูกจ้างของโจทก์ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมินให้แก่ลูกจ้างของโจทก์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 และมีหน้าที่ต้องนำภาษีที่หักไว้ตามมาตรา 40 ไปส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอภายใน 7 วัน นับแต่วันที่จ่ายเงินตามมาตรา 52 ก็ตาม แต่มาตรา 45 วรรคแรกบัญญัติว่า”ถ้าผู้จ่ายเงินตามมาตรา 50 และมาตรา 53 มิได้หักและนำเงินส่งหรือได้หักและนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ผู้จ่ายเงินต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักหรือนำส่งตามจำนวนที่ขาดไปแล้วแต่กรณี” จึงเห็นได้ว่าในกรณีที่โจทก์ไม่ได้หักและนำส่งเงินภาษีเงินได้ของลูกจ้างของโจทก์ หรือหักและนำส่งเงินภาษีเงินได้ของลูกจ้างแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้องโจทก์จะต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้างของโจทก์ในภาษีเงินได้ที่มิได้หักหรือนำส่งหรือตามจำนวนที่ขาดแล้วแต่กรณี เมื่อโจทก์ต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้างของโจทก์ดังกล่าวแล้วถือว่าโจทก์เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเช่นเดียวกับลูกจ้างของโจทก์ ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีคำสั่งให้โจทก์เสียภาษีเงินได้และเงินเพิ่มตามสำเนาท้ายฟ้อง หากโจทก์เห็นว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินไม่ถูกต้องอย่างไร ชอบที่โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับคำสั่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 เสียก่อน ถ้าโจทก์ยังไม่เห็นด้วยกับคำสั่งชี้ขาดอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์จึงจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องโดยไม่อุทธรณ์การประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสียก่อนนั้นจึงไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 30 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน