คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13240/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 นั้น เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแจ้งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารยังไม่ออกไปตามคำบังคับ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศกำหนดเวลาให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันปิดประกาศ ถ้าไม่ยื่นภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ฉะนั้น ผู้ที่อ้างอำนาจพิเศษดังกล่าวจะต้องมีหลักฐานเบื้องต้นมาแสดงต่อศาลมิใช่กล่าวอ้างขึ้นลอย ๆ ผู้ร้องยื่นคำร้องและฎีกาว่า ผู้ร้องเช่าที่ดินจากจำเลยเพื่อปลูกต้นยางพารา มีกำหนดเวลา 30 ปี โดยที่ดินพิพาทไม่ได้อยู่ในที่ดินที่ผู้ร้องเช่า เมื่อผู้ร้องไม่มีหลักฐานเบื้องต้นมาแสดงว่า ผู้ร้องเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้อย่างไร จึงรับฟังได้ว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิเข้าไปทำประโยชน์ที่ดินพิพาท การที่ผู้ร้องเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจึงถือว่าเป็นการเข้าไปทำประโยชน์โดยอาศัยสิทธิของจำเลย ผู้ร้องจึงเป็นบริวารของจำเลย กรณีถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจพิเศษ ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทางพิพาทซึ่งเป็นทางสาธารณะ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 362, 363 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 90, 91, 108 ทวิ จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 363 ประกอบมาตรา 83 จำคุก 3 เดือน เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนมีกำหนด 3 เดือน กับให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกไปจากทางพิพาท บรรดาเสารั้วลวดหนาม ต้นยางพารา บ่อน้ำบาดาล และสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ อื่นใดที่กระทำลงบนทางพิพาทให้ริบ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องข้อหาบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 363 และไม่ริบทรัพย์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายกฎีกาจำเลย
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นบังคับคดีแก่จำเลยและบริวาร ศาลชั้นต้นออกคำบังคับและหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีออกประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีฉบับลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2557 ว่าศาลชั้นต้นมีหมายบังคับคดีให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทบริเวณเส้นสีเขียวตามแผนที่พิพาท ให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของจำเลยยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันที่ประกาศ มิฉะนั้นถือว่าเป็นบริวารของจำเลย และเจ้าพนักงานบังคับจะดำเนินการบังคับคดีตามกฎหมายต่อไป
ผู้ร้องยื่นคำร้องลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 ขอให้โจทก์ฟ้องผู้ร้องเป็นคดีใหม่ และศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ตัดต้นยางพาราและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน และจำหน่ายคดีเฉพาะอุทธรณ์ของผู้ร้องสำหรับจำเลย
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 นั้น เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแจ้งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารยังไม่ออกไปตามคำบังคับ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศกำหนดเวลาให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันปิดประกาศ ถ้าไม่ยื่นภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ฉะนั้น ผู้ที่อ้างอำนาจพิเศษดังกล่าวจะต้องมีหลักฐานเบื้องต้นมาแสดงต่อศาลมิใช่กล่าวอ้างขึ้นลอย ๆ คดีนี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องและฎีกาว่า ผู้ร้องเช่าที่ดินจากจำเลยเพื่อปลูกต้นยางพารา มีกำหนดเวลา 30 ปี โดยที่ดินพิพาทไม่ได้อยู่ในที่ดินที่ผู้ร้องเช่า เมื่อผู้ร้องไม่มีหลักฐานเบื้องต้นมาแสดงว่า ผู้ร้องเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้อย่างไร จึงรับฟังได้ว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิเข้าไปทำประโยชน์ที่ดินพิพาท การที่ผู้ร้องเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจึงถือว่าเป็นการเข้าไปทำประโยชน์โดยอาศัยสิทธิของจำเลย ผู้ร้องจึงเป็นบริวารของจำเลย กรณีถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง และบริวารของจำเลยออกไปจากทางพิพาท ผู้ร้องซึ่งเป็นบริวารจึงต้องออกไปจากที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share