แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีมาตรการรักษาความปลอดภัยให้แก่สินค้าที่รับฝากไว้อย่างเข้มงวดเป็นการใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือสงวนทรัพย์สินเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์เช่นนั้นจึงไม่ต้องรับผิด เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงอันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์สั่งซื้อเครื่องบันทึกโทรภาพ จำนวน 791เครื่อง มาจากบริษัทมิตซูบิชิอีเล็คทริค คอปปอเรชั่น จำกัดแห่งประเทศญี่ปุ่น โดยส่งมาทางเรือถึงประเทศไทยฝากเก็บไว้ในโรงพักสินค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ช่วยหัวหน้าโรงพักสินค้าดังกล่าว หลังจากโจทก์ได้ดำเนินการพิธีศุลกากรเสร็จแล้ว โจทก์ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจสอบสินค้าที่บรรจุอยู่ภายในตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งเก็บไว้ในโรงพักสินค้า ปรากฏว่ามีจำนวนครบถูกต้อง แต่ในคืนเดียวกันนั้นเองปรากฏว่าเครื่องบันทึกโทรภาพจำนวน 12 เครื่อง เป็นเงิน 153,000 บาทสูญหายไป จึงขอบังคับให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายจำนวน153,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า ในการรับฝากตู้สินค้าของโจทก์นั้นจำเลยทั้งสองเพียงแต่ตรวจสอบว่าตู้สินค้ามีซีลตะกั่วของบริษัทเรือที่ขนส่งถูกต้องหรือไม่ ส่วนสินค้าภายในตู้สินค้าจะมีอะไรและจำนวนเท่าใด จำเลยทั้งสองไม่ทราบ จำเลยทั้งสองมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยดูแลตรวจสอบความเรียบร้อยเป็นจำนวนมากจึงไม่มีความเป็นไปได้ที่จะมีผู้เข้าไปทำการโจรกรรมสินค้าของโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 153,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาเพียง 153,000 บาท จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 มีมาตรการรักษาความปลอดภัยให้แก่สินค้าที่รับฝากไว้อย่างเข้มงวดเป็นการใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินโจทก์เหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์เช่นนั้น จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 1