คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1324/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ระหว่างที่คดีอยู่ระหว่างสืบพยานโจทก์ ตามทางไต่สวนได้ความว่า โจทก์ได้โอนขายกิจการ ทรัพย์สินทางธุรกิจทั้งหมดให้แก่ผู้ร้อง ซึ่งรวมทั้งหนี้ที่ค้างชำระที่จำเลยในคดีนี้มีต่อโจทก์ทั้งหมดด้วย โดยผู้ร้องได้มีหนังสือบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยทั้งสามแล้ว แม้กรณีของผู้ร้องจะไม่ต้องด้วย พ.ร.ก.ปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 หรือกฎหมายอื่นใดทำนองเดียวกันที่กำหนดให้ ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความเดิมได้ ดังที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตมาก็ดี แต่การที่ผู้ร้องรับโอนกิจการ ทรัพย์สินทางธุรกิจทั้งหมดจากโจทก์ ซึ่งรวมทั้งหนี้ที่ค้างชำระที่จำเลยในคดีนี้มีต่อโจทก์ทั้งหมดด้วยนั้น ถือได้ว่าเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องทำให้ผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีและถือว่าโจทก์ยินยอมให้ผู้ร้องเข้าแทนที่โจทก์แล้ว จึงชอบที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าแทนที่โจทก์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ 246, 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงิน จำนวน 1,056,492.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 917,714.95 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น บริษัทดูปองท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน จำนวน 917,714.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 28 มกราคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาทนอกจากที่แก้คงให้เป็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องร่วมกันชำระราคาค่าสินค้าให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว แม้โจทก์จะไม่มีพนักงานผู้ส่งสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 มาเบิกความสนับสนุนใบส่งของ ดังฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ตาม แต่ตามใบส่งของ นอกจากจะมีการระบุชื่อและที่อยู่ของจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับสินค้าแล้ว จำเลยที่ 2 ยังเบิกความรับว่า ตามใบส่งของ มีทั้งจำเลยที่ 3 นางปฏิญญา และนายสุเมธ เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับสินค้า โดยบุคคลทั้งสามเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ที่อยู่ของจำเลยที่ 1 ตามใบส่งของ ก็เป็นสถานที่ทำงานของจำเลยที่ 1 ในเวลานั้น ทั้งจำเลยที่ 2 เบิกความอีกว่า จำเลยที่ 2 เคยติดต่อซื้อขายสินค้าประเภทสีกับนายสุชาติ ไม่ปรากฏนามสกุล หลายครั้งและเคยสั่งจ่ายเช็คชำระค่าสินค้าให้นายสุชาติ ซึ่งตรงกับข้อนำสืบของโจทก์ว่า เดิมนายสุชาติ เป็นพนักงานขายของโจทก์ที่ติดต่อกับจำเลยที่ 1 ก่อนที่จะมีนายอภิรักษ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ มาทำหน้าที่แทน ยิ่งไปกว่านั้น จำเลยที่ 3 ยังเบิกความด้วยว่า การสั่งซื้อสินค้าคดีนี้ที่ตนกับพนักงานคนอื่นลงลายมือชื่อรับสินค้า ตามใบส่งของ เป็นการสั่งซื้อสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 3 สามารถสั่งซื้อสินค้าได้ ฉะนั้น แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ได้เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 หากแต่มีจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นผู้แทนก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าแทนตามที่ได้รับมอบหมายภายในขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 เช่นนี้ย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ซึ่งเท่ากับจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งสินค้าจากโจทก์ตามใบส่งของ ตรงตามที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องนั่นเอง โดยไม่จำต้องบรรยายว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้สั่งซื้อในนามของจำเลยที่ 1 ดังฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่อย่างใด ส่วนข้อที่จำเลยที่ 3 แอบอ้างสั่งสินค้าในนามของจำเลยที่ 1 ดังฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องไปว่ากล่าวกับจำเลยที่ 3 ต่างหากเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับคดีนี้ คดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องร่วมกันชำระราคาค่าสินค้าให้แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ตามที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ระหว่างที่คดีอยู่ระหว่างพิจารณาสืบพยานโจทก์ ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ได้นั้น ตามทางไต่สวนได้ความว่า โจทก์ได้โอนขายกิจการ ทรัพย์สินทางธุรกิจทั้งหมดให้แก่ผู้ร้อง ซึ่งรวมทั้งหนี้ที่ค้างชำระที่จำเลยในคดีนี้มีต่อโจทก์ทั้งหมดด้วย โดยผู้ร้องได้มีหนังสือบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยทั้งสามแล้ว แต่กรณีของผู้ร้องไม่ต้องด้วยพระราชกำหนดปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 หรือกฎหมายอื่นใดทำนองเดียวกัน ที่กำหนดให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความเดิมได้ ดังที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตมา อย่างไรก็ดี การที่ผู้ร้องรับโอนกิจการ ทรัพย์สินทางธุรกิจทั้งหมดจากโจทก์ ซึ่งรวมทั้งหนี้ที่ค้างชำระที่จำเลยในคดีนี้มีต่อโจทก์ทั้งหมดด้วยนั้น ถือได้ว่าเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องทำให้ผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีและถือว่าโจทก์ยินยอมให้ผู้ร้องเข้าแทนที่โจทก์แล้ว จึงชอบที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าแทนที่โจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (2) ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247
พิพากษายืน สำหรับคำร้องที่ผู้ร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์นั้น อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าแทนที่โจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (2) ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ 5,000 บาท

Share