แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลแสดงว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง ปรากฏว่าที่พิพาทตามแผนที่วิวาทเป็นรูปสามเหลี่ยม อยู่บนคันนาด้านเหนือหมายอักษร ก. มีหลักไม้แก่นปักอยู่เป็นจุดรวม ในชั้นพิจารณาโจทก์จำเลยท้าดื่มน้ำสาบานกันว่าแต่ละฝ่ายปั้นคันนาพิพาทขึ้นก่อน เมื่อดื่มน้ำสาบานกันตามคำท้าแล้ว จึงขอให้ศาลชี้ขาดว่าที่พิพาทเป็นของฝ่ายใด ประเด็นเดียว โดยต่างไม่สืบพยานกันและแถลงรับกันว่าที่พิพาทอยู่บนคันนาซึ่งเป็นเขตที่ดินของที่ดินโจทก์จำเลยที่อยู่ติดต่อกัน และต่างฝ่ายต่างถือว่าเป็นเขตของตน ดังนี้ เมื่อที่พิพาทเป็นคันนากั้นเขตที่ดินของโจทก์จำเลยติดต่อกัน และต่างไม่นำสืบพยานว่าใครเป็นฝ่ายครอบครองก็ต้องถือว่าเป็นเจ้าของร่วมกันตามข้อสันนิษฐานของ ป.พ.พ.มาตรา 1344 และศาลย่อมพิพากษาให้แบ่งที่พิพาทคนละครึ่งโดยลากเส้นจากหมายอักษร ก.มายังจุดแบ่งครึ่งด้านทิศใต้และให้ด้านที่ติดต่อกับที่ดินของฝ่ายใดเป็นของฝ่ายนั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลแสดงว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง
จำเลยให้การว่าที่พิพาทเป็นที่ดินของจำเลยส่วนที่ยกให้บุตรเขยไป และได้ปักหลักไว้เป็นเขตแดนกันแล้วไม่ได้รุกล้ำที่โจทก์
ศาลชั้นต้นให้ทำแผนพิพาท ปรากฏว่าที่ดินตามหมายอักษร ก.ย.ง. เมื่อศาลชั้นต้นเดินเผชิญสืบแล้ว โจทก์จำเลยจึงท้าดื่มน้ำสาบานกันว่า แต่ละฝ่ายเป็นฝ่ายปั้นคันนาที่พิพาทขึ้นก่อนน้ำสาบานกันแล้วจึงขอให้ศาลชี้ขาดว่าที่พิพาทเป็นของฝ่ายใดประเด็นเดียว โจทก์จำเลยแถลงสืบพยาน และรับว่าที่พิพาทอยู่บนคันนาซึ่งเป็นเขตที่ดินของที่ดินโจทก์จำเลยที่อยู่ติดต่อกัน และต่างฝ่ายต่างถือว่าเป็นเขตของตน
ศาลชั้นต้นเห็นว่า เมื่อต่างรับว่าที่พิพาทเป็นเขตติดต่อกันไม่อาจชี้ขาดว่าเป็นของฝ่ายใด ต้องถือว่าเป็นเจ้าจองกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๔๔ พิพากษาแบ่งที่พิพาทให้คนละครึ่ง โดยแบ่งครึ่งที่ดินด้านทิศใต้จากหมายอักษร ง. ถึง ย. แล้วลากเส้นจากหมายอักษร ก. มายังจุดแบ่งครึ่งด้านใต้(ง.ย.) ด้านตะวันตกของเส้นแบ่งครึ่งเป็นของโจทก์ ด้านตะวันออกเป็นของจำเลย
โจทก์อุทธรณ์ว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ฝ่ายเดียว
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าควรแบ่งครึ่งกัน แต่ด้านเหนือตรงหมายอักษร ก. มีความหว้าง ๑.๖๐ เมตร และด้านใต้จากอักษร ง.ย.ช. มีความกว้าง ๓.๘๐ เมตร พิพากษาแก้ให้เป็นด้านเหนือได้กว้างคนละ ๐.๘๐ เมตร และด้านใต้คนละ ๑.๙๐ เมตร โดยลากเส้นจากจุดแบ่งครึ่งด้านเหนือไปด้านใต้ จากจุดแบ่งครึ่งด้านตะวันตกคงเป็นของโจทก์ และด้านตะวันออกเป็นของจำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์จำเลยรับกันว่าที่พิพาทมีแห่งเดียวคือที่ดินที่ระบายสีแดงในแผนที่วิวาท(ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๑๗) หมายอักษร ก.ย.ง. นอกที่พิพาทไปทางตะวันออกโจทก์นำชี้ว่าเป็นที่ดินของจำเลย ทั้งศาลไปดูที่พิพาทก็บันทึกว่าที่พิพาทเป็นรูปสามเหลี่ยมอยู่บนคันนา ด้านเหนือหมายอักษร ก. มีหลักไม้แก่นปักอยู่เป็นจุดรวม จุด ก. จึงไม่กว้าง ๑.๖๐ เมตร ดังข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ส่วนด้านใต้ก็พิพาทกันเพียงจากหมายอักษร ง.ถึง ย. เท่านั้น มิใช่เลยไปถึงหมายอักษร ข. ฉะนั้นการที่ศาลอุทธรณ์แบ่งที่พิพาททั้งด้านเหนือและด้านใต้จึงเกินข้อตกลงดังที่โจทก์ฎีกาและจำเลยแก้ฎีกา และศาลฎีกาเห็นต่อไปว่าที่พิพาทเป็นคันนาซึ่งกั้นเขตที่ดินของโจทก์จำเลยที่ติดต่อกัน เมื่อต่างไม่นำสืบว่าใครเป็นฝ่ายครอบครอง ก็ต้องถือว่าเป็นเจ้าของร่วมกันตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังที่ศาลล่างทั้งสองชี้ขาดมา โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของแต่ผู้เดียวดังฎีกา
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น