แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพฤติการณ์แห่งความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และ ธ. น่าเชื่อว่าโจทก์เป็นคนมอบเช็คให้แก่ ธ. เพื่อใช้ในการถอนเงินจากบัญชีในกิจการที่ทำร่วมกันด้วยความไว้ใจ ดังนั้น ไม่ว่า ธ. จะได้นำเช็คไปกรอกข้อความและปลอมลายมือชื่อโจทก์เพื่อถอนเงินจากบัญชีโดยโจทก์ไม่รู้เห็นยินยอมหรือไม่ก็ตาม ย่อมต้องถือว่าเป็นความผิดพลาดบกพร่องและประมาทเลินเล่อของโจทก์ โจทก์จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้ที่ต้องถูกตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมนั้นขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,290,213 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 960,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 960,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 เมษายน 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551) ต้องไม่เกิน 330,213 บาท ตามที่โจทก์ขอ แต่หากนายธนกรหรือยุทธพงษ์ ชำระหนี้แก่โจทก์ไปแล้วตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1615/2551 ของศาลอาญา จำนวนเท่าใดก็ให้นำมาหักออกจากหนี้ที่จำเลยต้องชำระในคดีนี้ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า เดิมโจทก์ชื่อนางศศิพร โจทก์ประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างในชื่อบริษัทพิษณุพงษ์ คอนสตัคชั่น จำกัด มีนายธนกรหรือยุทธพงษ์ เป็นกรรมการทำหน้าที่บริหารงาน โจทก์เป็นลูกค้าของธนาคารจำเลย สาขาสุขาภิบาล 1 ประเภทบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เลขที่ 042-1-01504-2 นายธนกรนำเช็คเลขที่ 2001752, 2001753 และ 2001754 ไปขอถอนเงิน 420,000 บาท 100,000 บาท และ 440,000 บาท ตามลำดับ จากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์ โจทก์แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบึงกุ่มให้ดำเนินคดีแก่นายธนกร และผู้เชี่ยวชาญตรวจลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คเปรียบเทียบตัวอย่างลายมือชื่อของโจทก์แล้วลงความเห็นว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน ต่อมาพนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธนกรต่อศาลอาญาในข้อหาความผิดฐานปลอมเอกสารตั๋วเงินเช็คทั้ง 3 ฉบับ และใช้เอกสารตั๋วเงินปลอม โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการและยื่นคำร้องขอให้บังคับนายธนกรชำระเงิน 960,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้ ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกนายธนกรและให้นายธนกรชำระเงินในคดีส่วนแพ่ง 960,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ตามสำเนาคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1615/2551 ของศาลอาญา
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยผิดสัญญาและต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คทั้ง 3 ฉบับ เป็นลายมือชื่อโจทก์ปลอม คำเบิกความของพันตำรวจเอกพิษณุ ผู้เชี่ยวชาญและรายงานการตรวจพิสูจน์ไม่น่าเชื่อถือ ไม่สามารถรับฟังได้นั้น เห็นว่า จำเลยมิได้ให้การโดยชัดแจ้งว่า ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คทั้ง 3 ฉบับ เป็นลายมือชื่อของโจทก์ที่แท้จริง มิใช่ลายมือชื่อปลอม คงให้การเพียงว่าลายมือชื่อมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายคลึงกับตัวอย่างลายมือชื่อที่โจทก์ให้ไว้แก่จำเลย พนักงานของจำเลยจึงได้จ่ายเงินตามเช็คไปโดยมิได้ประมาทเลินเล่อเท่านั้น ที่จำเลยให้การโดยกล่าวถึงรายงานการตรวจพิสูจน์ของกองพิสูจน์หลักฐาน ก็เพียงว่ารายงานการตรวจพิสูจน์รับฟังได้เพียงบางส่วน ไม่อาจใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาได้ ซึ่งมิใช่เป็นการต่อสู้ว่า ลายมือชื่อโจทก์มิใช่ลายมือชื่อปลอมแต่อย่างใด ที่จำเลยฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของพันตำรวจเอกพิษณุและรายงานการตรวจพิสูจน์ว่า ไม่น่าเชื่อถือ ไม่สามารถรับฟังได้ ย่อมเท่ากับฎีกาว่า ลายมือชื่อของโจทก์ในช่องผู้สั่งจ่ายมิใช่เป็นลายมือชื่อปลอมนั่นเอง จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ต้นเหตุความเสียหายเกิดจากการกระทำของโจทก์เอง โจทก์จึงถูกตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมนั้นขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1008 นั้น เห็นว่า ในการประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของโจทก์ที่มีนายธนกรร่วมด้วย นอกจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เลขที่ 042-1-01504-2 แล้ว โจทก์ยังมีบัญชีเงินฝากที่ธนาคารจำเลย สาขาสุขาภิบาล 1 อีก 6 บัญชี โดยบัญชีเงินฝากประจำและบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ในชื่อบริษัทพิษณุพงษ์ คอนสตัคชั่น จำกัด นายธนกรเพียงคนเดียวก็สามารถถอนเงินจากบัญชีได้ และโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า นายธนกรเป็นผู้ไปติดต่อกับธนาคารมากกว่าโจทก์ โจทก์ไปที่ธนาคารน้อยมาก ตรงกับที่จำเลยนำสืบว่า นายธนกรเป็นหุ้นส่วนและทำธุรกิจร่วมกับโจทก์ โดยนายธนกรจะเป็นผู้ไปขอถอนเงินจากบัญชีเป็นประจำ อันทำให้เห็นได้ว่าโจทก์มีความไว้วางใจให้นายธนกรติดต่อกับธนาคารจำเลยเพื่อทำธุรกรรมด้านการเงินแทนโจทก์มาโดยตลอด ประกอบกับข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1615/2551 ของศาลอาญา ยังปรากฏนายธนกรเพียงปลอมเอกสารเช็คของโจทก์และใช้เอกสารซึ่งเป็นเช็คปลอม แต่มิได้ลักเช็คไปจากโจทก์ ล้วนบ่งชี้ว่านายธนกรมิได้เอาเช็คไปจากโจทก์โดยที่โจทก์ไม่รู้เห็นหรือยินยอม ตามพฤติการณ์แห่งความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และนายธนกร จึงน่าเชื่อว่าโจทก์เป็นคนมอบเช็คให้แก่นายธนกรเพื่อใช้ในการถอนเงินจากบัญชีในกิจการที่ทำร่วมกันด้วยความไว้ใจ เช่นนี้ ไม่ว่านายธนกรจะได้นำเช็คเลขที่ 2001752, 2001753 และ 2001754 ไปกรอกข้อความและปลอมลายมือชื่อโจทก์เพื่อถอนเงินจากบัญชีของโจทก์ โดยโจทก์ไม่รู้เห็นยินยอมหรือไม่ก็ตาม ย่อมต้องถือว่าเป็นความผิดพลาดบกพร่องและประมาทเลินเล่อของโจทก์เองที่มอบเช็คให้แก่นายธนกรไป โจทก์จึงอยู่ในฐานเป็นผู้ที่ต้องถูกตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมนั้นขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง แล้ว ถึงแม้จำเลยและพนักงานของจำเลยจะเป็นผู้มีวิชาชีพที่พึงต้องมีความละเอียดรอบคอบและมีความรู้ความสามารถในการที่จะแยกแยะลักษณะลายมือชื่อของบุคคลได้ดีกว่าบุคคลทั่วไป แต่เมื่อโจทก์แสดงออกและยินยอมให้นายธนกรติดต่อกับจำเลยแทนโจทก์ในการถอนเงินมาโดยตลอดและโดยไม่มีข้อบ่งชี้ใดว่านายธนกรได้ประพฤติทุจริตต่อโจทก์ในการทำธุรกรรมกับจำเลยมาก่อน ที่โจทก์อ้างว่าทราบพฤติกรรมของนายธนกรมาตั้งแต่ต้นปี 2547 แต่ก็ไม่รีบแจ้งให้จำเลยทราบ เมื่อเช็คเลขที่ 2001752, 2001753 และ 2001754 มีรายการครบถ้วน และลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับลายมือชื่อของโจทก์ที่ให้ไว้เป็นตัวอย่างแก่จำเลย ไม่ถึงกับว่ามีความผิดแผกแตกต่างไปจากของจริงอย่างประจักษ์ชัดโดยไม่ต้องอาศัยการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญ การที่พนักงานของจำเลยจ่ายเงินให้แก่นายธนกรไปตามที่เคยปฏิบัติต่อกันทั้งก่อนและหลังเกิดเหตุเรื่อยมา จึงยังไม่พอฟังว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาหรือมีส่วนผิดด้วย พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักดีกว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 20,000 บาท