คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1321/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 นั้นหาจำต้องมีกฎหมายรับรองสิทธินั้นไว้โดยตรงเสียก่อนอย่างใดไม่ เมื่อผู้ใดโต้แย้งผู้นั้นก็อาจมาขอความคุ้มครองจากศาลได้เสมอเช่นในกรณีขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เมื่อมีข้อโต้แย้งว่าใครจะมีสิทธิดีกว่าในการที่จะจดทะเบียนก่อน ดังนี้ศาลก็ต้องรับวินิจฉัยให้ อย่าว่าแต่ในระหว่างผู้ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนด้วยกันเลย เจ้าของเครื่องหมายการค้าอันแท้จริงแม้จะยังมิได้จดทะเบียน จะยกขึ้นต่อสู้กับผู้ที่จดทะเบียนแล้วในศาลก็ยังได้ตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า
ศาลฎีกามีอำนาจยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้ออุทธรณ์ใหม่ทั้งหมดหรือบางส่วน (อ้างฎีกาที่ 277/2496)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้แสดงว่าโจทก์มีสิทธิที่จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตรานกอินทรีย์ (EAGLE BRAND) ดีกว่าจำเลย ขอให้ห้ามจำเลยใช้บังคับให้จำเลยถอนคำร้องขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอย่างนี้เสีย และให้ใช้ค่าเสียหายอีก 10,000 บาทด้วย เมื่อโจทก์ไปยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์กลับปรากฏว่าจำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้แล้วเหมือนกัน กองทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้แจ้งมาให้โจทก์จำเลยทำความตกลงกันหรือมิฉะนั้นก็ให้นำคดีขึ้นสู่ศาล จำเลยเพิกเฉยไม่ถอนคำร้องขอจดทะเบียน

จำเลยปฏิเสธเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ และต่อสู้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของผู้ประดิษฐ์ใช้เครื่องหมายนี้ และได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ก่อนโจทก์ ค่าเสียหายโจทก์เรียกจากจำเลยไม่ได้ตามฎีกาที่ 910/2490 ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ

ศาลแพ่งเห็นว่าโจทก์มีสิทธิขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอันนี้ดีกว่าจำเลยพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิ ที่จะจดทะเบียนดีกว่าจำเลย ส่วนค่าเสียหายนั้นโจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แม้จำเลยจะทำให้โจทก์เสียหาย กฎหมายก็ไม่คุ้มครองถึงให้ยกคำร้องข้อนี้เสีย

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเอากรณีนี้มาฟ้องศาลให้พิจารณาพิพากษาได้เพราะไม่เป็นสิทธิหน้าที่อื่นใดตามกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 17 วรรคต้นและมาตรา 27, 29 จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยข้ออุทธรณ์อื่นใดของจำเลยอีกต่อไป พิพากษากลับคำพิพากษาศาลแพ่ง ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาได้พิเคราะห์พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า มาตรา 29และ 17 สองมาตรานี้รวมกันแล้ว จะเห็นได้ว่าสิทธิในการเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือสิทธิที่จะได้รับจดทะเบียนก่อนนั้น บุคคลผู้ใช้เครื่องหมายการค้าของตนย่อมมีอยู่ สิทธิเช่นนี้ก็คือสิทธิที่ราษฎรทั้งหลายมีอยู่นั่นเอง ทำนองเดียวกับสิทธิที่จะขอใบเหยียบย่ำในที่ดินรกร้างว่างเปล่าแปลงหนึ่ง หรือสิทธิ ที่จะขอประทานบัตรการทำเหมืองแร่ก่อนราษฎรอื่น ๆ ซึ่งมีกรณีพิพาทกันในโรงศาลเสมอ ๆ การโต้แย้งสิทธิตามที่กล่าวไว้ในมาตรา 55 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น จึงหาจำต้องมีกฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิไว้โดยตรงเสียก่อนอย่างใดไม่ สิทธิของราษฎรธรรมดาในอันที่จะได้รับจดทะเบียนหรือรับสัมประทานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้นถ้ามีผู้มาโต้แย้งราษฎรผู้นั้นก็อาจมาขอความคุ้มครองจากศาลได้เสมอ มิฉะนั้นแล้วเช่นในกรณีขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าถ้าศาลไม่รับวินิจฉัยให้ว่าใครมีสิทธิดีกว่าในการที่จะจดทะเบียนคนหนึ่งก็อาจถูกคนอีกคนหนึ่งกลั่นแกล้งได้โดยง่ายโดยไปคัดค้านการขอจดทะเบียนของคน ๆ นั้นเสียทั่วทุกรายไป

ยิ่งกว่านั้นในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 นั้น มาตรา 30 ยังบัญญัติไว้เป็นใจความสำคัญว่า “การจดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ไม่เป็นการขัดขวางต่อผู้ใดในการใช้โดยสุจริตซึ่งนามสำนักงานการค้าของตน ฯลฯ” และในมาตรา 41 ก็ยังได้บัญญัติให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนการค้าเสียได้ เมื่อผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องและแสดงได้ว่า ผู้ร้องมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของ ฯลฯ ทั้งนี้แสดงว่าผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอันแท้จริง แม้ยังมิได้จดทะเบียนจะยกขึ้นต่อสู้กับผู้ที่จดทะเบียนแล้วในศาลก็ยังได้อย่าว่าแต่ในระหว่างผู้ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนด้วยกันเลย ตามฎีกาที่ 277/2496

พิพากษากลับให้ยกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เสีย ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ข้ออุทธรณ์อื่น ของจำเลยต่อไปตามรูปคดี

Share