คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13199/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคสี่ บัญญัติเพื่อมุ่งประสงค์ที่จะห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยที่ ๑ มารับฟังประกอบการพิจารณาลงโทษจำเลยที่ 1 เท่านั้น คำให้การในชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่พาดพิงถึงจำเลยที่ 2 ว่าร่วมกระทำความผิด แม้เป็นพยานบอกเล่าและเป็นคำซัดทอดเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์จากการซัดทอดถึงจำเลยที่ 2 ก็รับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นที่โจทก์ส่งอ้างเป็นพยานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 โดยชอบ เพื่อพิจารณาลงโทษจำเลยที่ 2 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 97, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง และเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2) (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคสาม (2)), 66 วรรคสาม, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต และปรับคนละ 1,000,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้หนึ่งในสี่ โดยเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 เมื่อลดโทษแล้วคงจำคุกคนละ 37 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 750,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางส่วนคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 นั้น เนื่องจากได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป ให้ล้างมลทินแก่ผู้ต้องโทษในกรณีความผิดซึ่งได้กระทำก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับโดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษกรณีความผิดนั้น ๆ ดังนี้จึงไม่อาจเพิ่มโทษแก่จำเลยที่ 1 ได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปี
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสองเบิกความสอดคล้องต้องกันไม่มีพิรุธแต่ประการใด ขั้นตอนต่าง ๆ ในชั้นจับกุมจำเลยทั้งสองดังกล่าวมาแล้วข้างต้นเป็นไปในระยะเวลาใกล้ชิดและต่อเนื่องกัน ปรากฏข้อเท็จจริงในคดีว่าหลังจากจำเลยที่ 1ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพต่อเจ้าพนักงานตำรวจในทันทีทันใด โดยยืนยันว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจากนายชาย การที่จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมในทันทีทันใดและให้ข้อเท็จจริงต่อเจ้าพนักงานตำรวจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 2 นั้น เชื่อว่า จำเลยที่ 1 ยังไม่มีเวลาจะไตร่ตรองเพื่อแต่งเติมคำให้การให้ผิดไปจากความเป็นจริง ทั้งจำเลยที่ 1 ยังเขียนคำให้การรับสารภาพด้วยลายมือของตนเองอีกด้วย ข้อเท็จจริงในคดีรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ให้การต่อพนักงานตำรวจในชั้นจับกุมด้วยความสมัครใจ โดยยืนยันว่าจำเลยทั้งสองรับเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจากนายแดงลูกน้องของนายชายเพื่อนำไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้า คำให้การในชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 แม้เป็นพยานบอกเล่าและเป็นคำซัดทอดก็รับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ให้มีน้ำหนักได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์จากการซัดทอดถึงจำเลยที่ 2 ทั้งมีเหตุผลอยู่ในตัวว่าหากจำเลยทั้งสองไม่ได้รับเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจากนายแดงเพื่อนำไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้า ก็ไม่น่าจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ให้การพาดพิงถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งนั่งรถยนต์มากับจำเลยที่ 1 ในวันเกิดเหตุ แสดงให้เห็นว่าคำให้การของจำเลยที่ 1 ในชั้นจับกุมในส่วนที่พาดพิงถึงจำเลยที่ 2 เป็นความจริงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคสี่ บัญญัติว่า “ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่น จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับกุมได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือตามมาตรา 83 วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับ แล้วแต่กรณี” กฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 มารับฟังประกอบการพิจารณาลงโทษจำเลยที่ 1 เท่านั้น บันทึกการจับกุม ใบเสร็จรับเงิน ฝาก/ถอนต่างสำนักงาน และคำรับสารภาพ เป็นพยานหลักฐานที่เจ้าพนักงานผู้จับได้จัดทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์ก็ได้ส่งอ้างเป็นพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 โดยชอบแล้ว จึงนำบันทึกการจับกุม และใบเสร็จรับเงิน ฝาก/ถอน ต่างสำนักงาน คำรับสารภาพ มารับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบการพิจารณาสำหรับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ได้ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าพยานโจทก์มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 2 มาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งใส่ร้ายจำเลยที่ 2 ให้รับโทษทางอาญา เมื่อนำคำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 ตามบันทึกการจับกุม ใบเสร็จรับเงิน ฝาก/ถอนต่างสำนักงาน และคำรับสารภาพมาวินิจฉัยประกอบกับคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์ประกอบไปด้วยเหตุผลมีน้ำหนักมั่นคง รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share