คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1318/2529

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เงื่อนไขในการประกวดข้อเสนอโครงการปรับปรุงใช้ประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟมีว่า ผู้ชนะการประกวดข้อเสนอจะต้องมาทำสัญญาเช่าที่ดินการรถไฟภายใน 15 วันหากไม่มาทำสัญญาจะถือว่าสละสิทธิการรถไฟฯ จะริบเงินประกันซอง ดังนี้ แสดงว่าสัญญาที่คู่กรณีมุ่งจะทำนั้นจะต้องเป็นหนังสือ แม้คู่กรณีตกลงกันในเรื่องค่าเช่าได้แล้วก็ตาม ตราบใดที่คู่กรณียังไม่ทำสัญญาเช่าต่อกันถือได้ว่าสัญญาระหว่างคู่กรณียังไม่เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสองและเมื่อผู้ชนะการประกวดข้อเสนอไม่มาทำสัญญาตามกำหนด การรถไฟฯ จำเลยมีสิทธิริบเงินประกันซองอันเป็นเบี้ยปรับตามเงื่อนไขในการประกวดข้อเสนอดังกล่าวได้ตาม มาตรา 383 วรรคสอง เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดเงื่อนไขจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายกับจำเลย

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2520 จำเลยได้ประกาศประกวดข้อเสนอโครงการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธินถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร ในเนื้อที่ประมาณ 47.974 ไร่หรือ 76,758.4 ตารางเมตร โดยผู้ชนะการประกวดข้อเสนอจะได้รับสิทธิเช่าที่ดินดังกล่าวมีกำหนด 30 ปี ผู้เข้าประกวดข้อเสนอจะต้องยื่นซองพร้อมข้อเสนอและเงินประกันซองเป็นเงินสดหรือเช็คที่ธนาคารรับรอง หรือแคชเชียร์เช็ค หรือหนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นเงิน 5,000,000 บาท ผู้ชนะการประกวดข้อเสนอจะต้องวางเงินประกันสัญญาเป็นเงินสดหรือเช็คที่ธนาคารรับรองหรือแคชเชียร์เช็คหรือหนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นเงินเท่ากับค่าเช่า 1 ปี โดยยอมให้นำเงินประกันซองมาเป็นส่วนหนึ่งของเงินประกันสัญญา ต้องจัดประโยชน์ให้แก่จำเลยเป็นเงิน 16,000,000 บาทโดยวางเงินสด หรือเช็คที่ธนาคารรับรองหรือแคชเชียร์เช็คและต้องทำสัญญากับจำเลยภายใน 15 วันนับแต่ได้รับแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรจากจำเลย หากไม่ปฏิบัติตามนี้จำเลยถือว่าผู้ชนะการประกวดข้อเสนอสละสิทธิ์จำเลยจะริบเงินประกันซองและสงวนสิทธิที่จะพิจารณาให้รายอื่นมาทำสัญญาต่อไปหรือล้มเลิกการประกวด ผู้เข้าประกวดข้อเสนอต้องเสนออัตราค่าเช่าที่ดิน โดยแยกรายการแต่ละอาคารและสิ่งก่อสร้างตามโครงการ และกำหนดเวลาแล้วเสร็จของแต่ละรายการนับแต่วันลงนามในสัญญาเช่าที่ดิน ค่าเช่าปีแรกไม่คิด ปีต่อไปเพิ่มร้อยละยี่สิบห้า ห้าสิบ และร้อยละร้อยตามลำดับ แต่นับตั้งแต่ปีที่ห้า เพิ่มค่าเช่าที่ดินโดยอัตโนมัติร้อยละ 5 ต่อปี แต่ในกรณีที่ค่าครองชีพในปีใดมีการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นเกินกว่าร้อยละสิบผู้ชนะการประกวดข้อเสนอจะต้องยอมให้จำเลยปรับค่าเช่าโดยใช้ดรรชนีค่าครองชีพ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยจัดทำขึ้นเป็นค่าปรับอัตราค่าเช่า หากผู้เข้าประกวดปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่กำหนด จำเลยจะไม่รับพิจารณา ผลการพิจารณาคัดเลือกถือเป็นยุติจำเลยจะไม่รับพิจารณาข้ออุทธรณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น มีผู้เข้าประกวดข้อเสนอรวม 2 ราย คือ โจทก์ และบริษัทไทยแลนด์ เอสเตท จำกัดปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้ชนะการประกวดข้อเสนอ” ฯลฯ
“ปัญหาที่โต้แย้งกันคงแยกพิจารณาได้เป็นสองประการประการแรกมีปัญหาว่าในการประกวดข้อเสนอโครงการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินของจำเลยบริเวณสามเหลี่ยมพหลโยธินและโจทก์เป็นผู้ชนะการประกวดข้อเสนอนั้น ได้เกิดมีสัญญาต่อกันระหว่างโจทก์จำเลยแล้วหรือไม่ และประการที่สองในการประกวดข้อเสนอฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดเงื่อนไข เห็นว่าในปัญหาแรกโจทก์ฎีกาว่าในการประกวดข้อเสนอ ซึ่งเป็นคำเชิญชวนของจำเลยนั้นโจทก์ได้กรอกแบบฟอร์มตามแบบคำเชิญชวนแล้วยื่นต่อจำเลยจึงเท่ากับเป็นคำเสนอ แต่เนื่องจากไม่ตกลงราคาค่าเช่ากัน และจำเลยได้เสนอราคาค่าเช่าขึ้นใหม่ คำเสนอของโจทก์จึงตกไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 359 วรรคสอง รวมทั้งวันเวลาที่จะลงนามในสัญญาด้วยชอบที่คู่สัญญาจะตกลงกันใหม่ว่าให้ลงนามในสัญญาเมื่อใด เมื่อไม่มีการตกลงกันใหม่จะถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ได้ ข้อนี้ได้ความว่าตามประกาศประกวดข้อเสนอโครงการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินของจำเลยลงวันที่28 มีนาคม 2520 เอกสารหมาย จ.2 ข้อ 4 ปรากฏข้อความชัดว่า”ผู้ชนะการประกวดข้อเสนอจะต้องมาทำสัญญากับการรถไฟฯภายในระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรจากการรถไฟฯ หากไม่มาทำสัญญาในระยะเวลาดังกล่าวจะถือว่าสละสิทธิ์ การรถไฟฯ จะริบเงินประกันซองและสงวนสิทธิที่จะพิจารณาให้รายอื่นมาทำสัญญาต่อไป หรือเลิกล้มการประกวดข้อเสนอครั้งนี้เสียก็ได้” และข้อ 5 ว่า “ผู้ชนะการประกวดข้อเสนอจะต้องมาทำสัญญาเช่าที่ดินและวางเงินประกันสัญญาเป็นเงินหรือเช็คที่ธนาคารรับรอง หรือแคชเชียร์เช็คหรือหนังสือค้ำประกันของธนาคารตามแบบของการรถไฟฯ เป็นจำนวนเงินเท่ากับค่าเช่า 1 ปี ที่ผู้เข้าประกวดได้เสนอไว้ตามประกาศประกวดข้อเสนอฯ ข้อ 8” และเมื่อการประกวดข้อเสนอได้ดำเนินต่อมาจนถึงขั้นคณะกรรมการบริหารของจำเลยเห็นชอบและอนุมัติให้เรียกมาเซ็นสัญญา จำเลยก็ได้มีหนังสือเรียกโจทก์มาทำสัญญาเช่าที่ดินและนำเงินค่าธรรมเนียมการจัดประโยชน์ตามที่จำเลยกำหนดไว้ 16,000,000 บาท และค่าประกันสัญญาเป็นเงิน1,744,000 บาท ค่าแบบพิมพ์สัญญาเช่าเป็นเงิน 100 บาทภายใน 15 วัน นับแต่วันรับหนังสือปรากฏตามเอกสารหมาย จ.20อันแสดงชัดว่าสัญญาที่คู่สัญญามุ่งจะทำนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือแม้โจทก์จำเลยจะตกลงกันในเรื่องค่าเช่าได้แล้วก็ตาม กรณีจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสองที่บัญญัติว่า “ถ้าได้ตกลงกันว่าสัญญาอันมุ่งจะทำนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือไซร้ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัยท่านนับว่ายังไม่ได้มีสัญญาต่อกัน จนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ” ดังนั้นตราบใดที่โจทก์จำเลยยังไม่ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินต่อกัน ก็ถือได้ว่าสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยยังไม่เกิดขึ้น เมื่อยังไม่มีสัญญาเกิดขึ้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา กรณีดังกล่าวจึงยังไม่เกิดขึ้น
ประการต่อมามีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดเงื่อนไขในการประกวดข้อเสนอโครงการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณสามเหลี่ยมพหลโยธินของจำเลยหรือไม่ปัญหานี้ได้ความว่า ในการเข้าประกวดข้อเสนอในขั้นแรกโจทก์เสนอราคาค่าเช่าที่ดินปีละ 840,000 บาท แต่จำเลยขอให้โจทก์เสนอราคาค่าเช่าสูงขึ้น ซึ่งในที่สุดโจทก์ยอมเสนอค่าเช่า 1,700,000 บาท เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2521 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.17 แต่เมื่อคนของจำเลยขอให้เพิ่มค่าเช่าเป็น1,744,000 บาท โจทก์เองก็เป็นฝ่ายมีหนังสือยืนยันกับจำเลยเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2521 เอกสารหมาย จ.18 ยอมให้ค่าเช่าจำเลยเป็นเงิน 1,744,000 บาท ตามที่จำเลยต้องการ ในหนังสือดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดในหนังสือของโจทก์เลยว่าโจทก์ประสงค์จะขอแก้ไขสัญญากับจำเลย ตรงข้ามกลับปรากฏข้อความตามเอกสารดังกล่าวว่าโจทก์ยอมชำระค่าเช่าที่ดินให้ตามเงื่อนไขของจำเลยและยินดีรับอัตราค่าเช่าจำนวนนี้ จึงยืนยันมายังจำเลยจากนั้นวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2521 โจทก์ก็ได้มีหนังสือถึงจำเลยขอให้รังวัดสอบเขตที่ดินที่โจทก์จะเช่าเพื่อทำแผนผังแนบท้ายสัญญา ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.19 เอกสารดังกล่าวก็เช่นกัน โจทก์หาได้โต้แย้งถึงการขอแก้ไขสัญญาเป็นประการอื่นอีกไม่ ตรงข้ามโจทก์กลับแสดงความเชื่อมั่นที่จะทำสัญญากับจำเลยตามตกลงถึงขั้นขอให้จำเลยจัดทำแผนผังเพื่อแนบท้ายสัญญา ดังนั้นเองจำเลยจึงได้มีหนังสือถึงโจทก์ ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2521 เอกสารหมาย จ.20ใจความว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยอนุญาตให้โจทก์เช่าที่ดินบริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธินเพื่อดำเนินการก่อสร้างตามโครงการฯที่บริษัทโจทก์เสนอมาได้ และให้โจทก์ไปทำสัญญาเช่ากับจำเลยภายใน15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ เมื่อโจทก์ได้รับหนังสือจากจำเลยแล้วนางสุรีพยานโจทก์เบิกความอ้างว่า ได้โทรศัพท์โต้แย้งกับนายวิชิต หัวหน้ากองคลังสินค้าและที่ดินของจำเลยว่าร่างสัญญาไม่มีการตัดดรรชนีค่าครองชีพออกตามตกลงคำเบิกความของนางสุรีไม่น่าเชื่อ เพราะหากเป็นจริงดังนางสุรีว่า โจทก์ก็คงต้องมีหนังสือโต้แย้งถึงจำเลยดังเช่นที่ได้กระทำมาแล้วโดยตลอดแต่กลับได้ความว่าโจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลยเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2521 เอกสารหมาย จ.22 ว่าโจทก์ยืนยันรับเงื่อนไขขอเพิ่มค่าเช่าของจำเลย แต่ขอให้จำเลยพิจารณาทบทวนหมวดค่าเช่าในร่างสัญญาเช่าที่ดินให้ตรงกับที่ได้ต่อรองกันไว้ จะเห็นได้ว่าจนวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2521 โจทก์ยังหาได้แสดงโต้แย้งขอแก้ไขสัญญาเอากับจำเลยไม่โจทก์เพิ่งแสดงข้อโต้แย้งเสนอขอแก้ไขสัญญารวม 7 ข้อ ต่อจำเลยเมื่อวันที่23 กุมภาพันธ์ 2521 เอกสารหมาย จ.23 เป็นครั้งแรกเหตุที่เป็นเช่นนั้นน่าจะเป็นเพราะจำเลยกำหนดให้โจทก์ไปทำสัญญาภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือดังได้กล่าวมาแล้ว โดยกำหนดให้โจทก์นำเงินค่าธรรมเนียมการจัดประโยชน์ไปวางต่อจำเลยเป็นเงิน 16,000,000 บาท เงินจำนวนนี้นางสุรีก็เบิกความยอมรับว่าไม่มีเพียงแต่อ้างว่าสามารถหามาได้เท่านั้นดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ว่าโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขในการประกวดข้อเสนอมากกว่า กล่าวคือ โจทก์ไม่สามารถทั้งวางเงินค่าธรรมเนียมการจัดประโยชน์และทำสัญญาเช่าที่ดินกับจำเลย ทั้ง ๆ ที่ได้มีการตกลงกันถึงขั้นกำหนดวันทำสัญญาเช่าที่ดินต่อกัน จะเห็นได้ว่านอกจากการขอแก้ไขสัญญาทั้ง 7 ข้อที่โจทก์อ้างในหนังสือของโจทก์ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2521 แล้วโจทก์ยังมีข้อโต้แย้งที่จะให้จำเลยแก้ไขสัญญาประการอื่นเพิ่มขึ้นภายหลังอีกหลายประการดังจะได้วินิจฉัยต่อไป ซึ่งจำเลยก็ได้นำสืบไว้แล้วว่าโจทก์ไม่เคยเสนอการขอแก้ไขสัญญาใด ๆ ทั้งสิ้นต่อจำเลย การขอแก้ไขสัญญา 7 ข้อดังกล่าว โจทก์อ้างว่าได้ประชุมคณะกรรมการบริษัทโจทก์กำหนดขึ้นมาก่อน ตั้งแต่วันที่16 มกราคม 2521 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.16 แต่วิสัยของผู้ทำงานใหญ่มูลค่ามหาศาลเช่นกรณีนี้โจทก์กลับอ้างว่าการขอแก้ไขสัญญาของโจทก์เพียงแต่พูดกับจำเลยด้วยวาจาเท่านั้นนายสง่า นาวีเจริญ หรือนายบันยง ศรลัมพ์ ก็ดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของจำเลยต่างยืนยันว่าไม่เคยรับเรื่องราวขอแก้ไขสัญญาของโจทก์ ได้ความต่อไปว่า แม้จำเลยจะได้รับการขอแก้ไขสัญญา 7 ข้อของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.23 แล้ว จำเลยก็ยังได้ให้โอกาสโจทก์โดยมีหนังสือถึงโจทก์เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2521เอกสารหมาย จ.24 ว่าจำเลยให้เวลาโจทก์อีก 7 วัน หากโจทก์มีเหตุผลไม่อาจลงนามได้ให้แจ้งให้จำเลยทราบและจำเลยจะไม่ผ่อนผันให้กับโจทก์อีก หากโจทก์ไม่มาลงนามในสัญญาเช่าที่ดินภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ จำเลยจะดำเนินการตามเงื่อนไขในการประกวดข้อเสนอต่อไป หลังจากจำเลยให้โอกาสโจทก์อีก7 วันแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงต่อไปว่าแทนที่โจทก์จะรีบดำเนินการตามตกลง แต่โจทก์กลับยืนยันขอแก้ไขสัญญา 7 ข้อ ไปยังจำเลยอีกตามหนังสือลงวันที่ 8 มีนาคม 2521 ของโจทก์ เอกสารหมาย จ.25ทั้ง ๆ ที่ตามหนังสือดังกล่าวของโจทก์ก็ยืนยันว่าโจทก์พร้อมที่จะลงนามในสัญญาเช่าที่ดินกับจำเลย แต่แล้ววันที่ 13 มีนาคม 2521ก่อนครบ 7 วัน ตามที่จำเลยผ่อนผันในวันที่ 14 มีนาคม 2521โจทก์กลับมีหนังสือถึงผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ขอพบปรากฏตามเอกสารหมาย จ.26 มีการนัดร่วมกันแก้ไขสัญญาในวันที่ 14 มีนาคม 2521 เพราะข้อความไม่ชัดแจ้ง นายสง่าพยานจำเลยยืนยันว่าการพบกันเพื่อแก้ไขสัญญาดังกล่าวเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ไม่ใช่การแก้เงื่อนไขหรือสาระสำคัญแต่อย่างใดครั้นวันที่ 14 มีนาคม 2521 ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยได้ตกลงปรับปรุงแก้ไขสัญญากันอันเป็นการแก้ไขรายละเอียดเล็กน้อยแต่ในที่สุดฝ่ายโจทก์ไม่ยอมลงนามในสัญญา ทั้ง ๆ ที่ได้ความจากนายสง่าพยานจำเลยว่าได้มีการตกลงเรียบร้อยแล้วจนถึงขั้นเจ้าหน้าที่จำเลยเตรียมเขียนใบเสร็จรับเงินไว้ล่วงหน้าแล้วเหตุที่โจทก์ไม่ยอมลงนามในสัญญาได้ความจากนายสง่าพยานจำเลยต่อไปว่า เพราะโจทก์เสนอขอแก้ไขสัญญาเพิ่มขึ้นอีก โดยขอแยกโครงการสร้างศูนย์การค้าออกจากโครงการก่อสร้างอื่นเนื่องจากโจทก์จะให้บริษัทเซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนา จำกัดมาร่วมดำเนินการ แต่โจทก์อ้างว่าที่ไม่ลงนามในสัญญาเช่าที่ดินเพราะจำเลยไม่ยอมแก้ไขสัญญา 7 ข้อของโจทก์ ในวันดังกล่าวนางสุรีพยานโจทก์เบิกความว่าไม่ได้นำเงินค่าธรรมเนียมการจัดประโยชน์จำนวน 16,000,000 บาท ไปด้วย แต่มีพร้อมและไม่เคยเสนอว่าบริษัทเซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนา จำกัดจะมาร่วมโครงการด้วย ข้อที่โต้แย้งกันนี้กลับได้ความตามคำฟ้องของโจทก์เองว่าจำเลยเป็นฝ่ายไม่ยอมแยกความรับผิดระหว่างผู้ดำเนินการแต่ละโครงการออกจากกัน ซึ่งก็ตรงกับที่นายสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ พยานจำเลยเบิกความว่าโจทก์ได้ติดต่อขอให้บริษัทเซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนา จำกัด เป็นผู้ดำเนินการในเรื่องศูนย์การค้า ซึ่งนางสุรีรับจะไปติดต่อกับจำเลยเพื่อขอแยกสัญญาออกจากกันต่อไป ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่าจนถึงวันที่ 14 มีนาคม 2521 โจทก์ก็ยังเป็นฝ่ายไม่พร้อมที่จะวางเงินค่าธรรมเนียมการจัดประโยชน์จำนวน 16,000,000 บาท และวางเงินประกันสัญญาเท่ากับค่าเช่า 1 ปี และไม่พร้อมที่จะทำสัญญาเช่าที่ดินกับจำเลยแต่กลับบ่ายเบี่ยงขอแก้ไขสัญญาเพิ่มขึ้นเป็นลำดับและในวันที่ 14 มีนาคม 2521 วันเดียวกันนั้นเองโจทก์ยังได้มีหนังสือถึงจำเลยขอให้แก้ไขสัญญาโดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับอาณาเขตที่ดินที่ให้เช่าควรจะต้องมีกรมทางหลวงและกรุงเทพมหานครรับรอง สัญญาเช่าจะต้องมีการจดทะเบียนการเช่าการรับรองการเข้าสวมสิทธิของผู้ร่วมงาน การยินยอมให้นำสัญญาเช่าไปเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินได้ และขอผ่อนผันการเซ็นสัญญาเช่าที่ดินต่อไปอีกไม่เกิน 30 วัน ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.28 สรุปแล้วเห็นว่าการที่โจทก์ไม่สามารถวางเงินค่าธรรมเนียมในการจัดประโยชน์จำนวน 16,000,000 บาท รวมทั้งไม่สามารถทำสัญญาเช่าที่ดินกับจำเลยได้อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการประกวดข้อเสนอโครงการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินของจำเลยดังนั้นโจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดเงื่อนไขในการประกวดข้อเสนอกรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคสองซึ่งบัญญัติว่า “นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในมาตรา 379 และ 382 ท่านให้ใช้วิธีเดียวกันนี้บังคับ ในเมื่อบุคคลสัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนกระทำหรืองดเว้นกระทำการอันหนึ่งอันใดนั้นด้วย” ดังนั้นการที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดข้อเสนอ ไม่ยอมกระทำการดังกล่าวทั้งสองประการ จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดให้มีการประกวดข้อเสนอจึงมีสิทธิริบเงินประกันซองจำนวน 5,000,000 บาทซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ส่งเงินจำนวนดังกล่าวมาให้จำเลยตามสัญญาค้ำประกัน อันเป็นเบี้ยปรับตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในการประกวดข้อเสนอโครงการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินของจำเลยข้อ 4 และข้อ 6 ซึ่งเป็นเบี้ยปรับที่โจทก์สัญญาจะให้จำเลยริบได้หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการประกวดข้อเสนอดังกล่าว เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดเงื่อนไข โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใด ๆ กับจำเลยดังที่โจทก์ฎีกาที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นฟ้องด้วยในผลฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา 100,000 บาทแทนจำเลย

Share