แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดพร้อมกันนั้น จะเรียกว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาไม่ได้
โจทก์จำเลยขอให้ศาลงดกาพิจารณาไว้รอฟังผลของอีกคดีหนึ่ง เมื่อคดีนั้นได้ผลอย่างใดจะมาแถลงให้ศาลทราบ ครั้นเมื่อคดีนั้นพิพากษาถึงที่สุดแล้ว โจทก์ก็หาได้กระทำประการใดไม่ จนเวลาล่วงเลยไปร่วมปี และซ้ำเมื่อจำเลยยื่นคำแถลงให้ศาลทราบ ศาลนัดโจทก์จำเลยมาพร้อมกัน โจทก์ได้รับหมายแล้ว ก้ยังหามาศาลไม่ การละเลยของโจทก์ เช่นนี้ เรียกได้ว่า โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีได้แล้ว และถือว่าเป็นการเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดตามความใน ป.ม.วิ.แพ่งมาตรา 174(2) ด้วย ซึ่งศาลมีอำนาจสั้งจำหน่ายคดีโจทก์เสีสยได้แล้ว
อำนาจสั่งจำหน่ายคดีนั้นกฎหมายให้ศาลไว้เพื่อใช้ตามควรแก่กรณี ไม่ใช่บังคับว่าจะต้องจำหน่ายเสมอไป ศาลย่อมพิจารณาตามสมควรแก่พฤติการณ์(อ้างคำสั่งคำร้องฎีกาที่ 57/2493) ฉะนั้นอำนาจที่จะสั้งนั้นอย่างหนึ่งสมควรสั่งหรือไม่นั้นอีกอย่างหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุคคลสัญชาติไทย โดยได้สมรสกับคนสัญชาติไทย แล้วเดินทางจากประเทศาจีนเพื่อมามีภูมิลำเนาร่วมกับสามีในประเทศไทย พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้โจทก์อยู่ในแระเทศไทย จะส่งกลับประเทศจีนจึงขอให้ศาลห้ามจำเลยและเจ้าหน้าที่ของจำเลยอย่าให้ขัดขวาง
ศาลชั้นต้นดำเนินคดีไปแล้ว คู่ความแถลงต่อศาล ขอรอฟังผลคดีอีกเรื่องหนึ่งก่อน เมื่อได้ผลอย่างไรคู่ความจะแถลงให้ศาลทราบ ศาลได้รอไว้ ครั้นวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๔๙๔ จำเลยยื่นคำร้องว่า ศาลพิพากษาคดีอีกเรื่องหนึ่งแล้ว ขอให้ศาลดำเนินดคีานี้ต่อไป
ศาลชั้นต้นหมายนัดโจทก์จำเลยมาพร้อมกันเรื่องจำเลยขอให้ดำเนินการพิจารณาต่อไป ครั้นวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๔๙๔ อันเป็นวันหยุด ไม่มีคู่ความฝ่ายใดมาศาล ศาลแพ่งมีคำสั่งว่า “บัดนี้ศาลให้โจทก์มาเพื่อดำเนินคดีนี้ โจทก์รับหมายนัดแล้วไม่มา ถือได้ว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติการตามข้อกำหนดของศาล จึงให้จำหน่ายคดี เมื่อศาลสั่งแล้วในวันนั้นเองทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ดำเนินคดีต่อไป ศาลแพ่งสั่งว่า ศาลสั่งจำหน่ายคดีก่อนแล้ว จึงให้ถือตามคำสั่งเดิม
ต่อมาวันที่ ๕ มกราคม ๒๔๙๕ โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลยกคดีขึ้นพิพากษาใหม่ ศาลแพ่งสั่งว่า นับแต่วันที่คดีซึ่งรอฟังผลอยู่ถึงที่สุด จนกระทั่งจำเลยมายื่นคำแถลงขอให้ศาลดำเนินคดีต่อไป เป็นเวลาร่วมปี แสดงว่าโจทก์เองมิได้เอาใจใส่นำพาต่อคดีที่ยื่นฟ้องไว้ จึงให้ยกคำร้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ สั่งศาลแพ่งที่ให้าจำหน่ายคดีโจทก์เสีย ให้+++การพิจารณาพิพากษาต่อไป
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดพร้อมกันนั้น ยังไม่เป็นการขาดนัดพิจารณาตามมาตรา ๒๐๐ แต่คดีนี้ เมื่อศาลงดการพิจารณารอฟังผลของอีกคดีหนึ่งนั้น คู่ความรับต่อศาลว่า เมื่อคดีได้ผลอย่างไร คู่ความจะมาแถลงให้ศาลทราบ ซึ่งจะกล่าวก็เป็นหน้าที่ของโจทก์ ซึ่งเป็นผู้ฟ้องร้อง จะต้องขอต่อศาลให้ดำเนินคดีต่อไป แต่โจทก์ก็หาได้ทำประการใดไม่ จนเวลาล่วงเลยไปร่วมปี ปละซ้ำเมื่อจำเลยยื่นคำแถลงให้ศาลทราบ ศาลนัดโจทก์ไป โจทก์ได้รับหมายแล้ว ก็ยังหามาศาลไม่ การละเลยของโจทก์เช่นนี้ศาลฎีกาเห็นว่า เรียกได้ว่า โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีได้แล้ว และถือว่าเป็นการเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดตามความในมาตรา ๑๗๔(๒) ด้วย
อย่างไรก็ดีศาลฎีกาเห็นว่า อำนาจสั่งจำหน่ายคดีนั้น กฎหมายให้ศาลไว้เพื่อใช้ตามควรแก่กรณี ไม่ใช่บังคับจะต้องจำหน่ายเสมอไป ศาลย่อมพิจารณาตามสมควรแก่พฤติการณ์ (อ้างคำสั่งคำร้องที่ ๕๗/๒๔๙๓) ฉะนั้นอำนาจที่จะสั่งนั้นอย่างหนึ่ง สมควรสั่งหรือไม่นั้น อีกอย่างหนึ่ง
จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่