แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในพินัยกรรม์มีข้อความกล่าวถึงจำนวนเงินที่ผู้ทำพินัยกรรม์รับเงินในทางกู้ยืมจากเขา เขาถือเอาข้อความในพินัยกรรม์นั้นเป็นหลักฐานฟ้องร้องได้ อำนาจฟ้อง จำเลยกู้เงินโจทก์แล้วสัญญาจะชดใช้เงินโดยทำพินัยกรรม์ยกที่ดินให้โจทก์โดยมีเงื่อนไขว่าถ้าโจทก์หย่ากับสามีแล้ว จำเลยจะคืนเงินให้ บัดนี้โจทก์หย่ากับสามีแล้ว โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องเรียกเงินรายนี้ได้
ย่อยาว
ได้ความว่าเมื่อโจทก์แต่งงานกับบุตร์จำเลยแล้วสัก ๕-๖ เดือนจำเลยได้ขอให้โจทก์หาเงินเพื่อใช้หนี้ จำเลยเป็นเงิน ๗๔๐ บาท โจทก์จึงให้เงิน ๗๔๐ บาทแก่จำเลยไปจำเลยจึงทำพินัยกรรม์ไว้ฉะบับหนึ่งยกที่ดินและเรือนให้โจทก์กับสามีซึ่งเป็นบุตร์จำเลยในพินัยกรรม์มีข้อความกล่าวถึงเรื่องเงิน ๗๔๐ บาทซึ่งโจทก์หามาให้ใช้หนี้ และว่าถ้าโจทก์กับบุตร์จำเลยหย่ากันโจทก์จะคืนเงิน ๗๔๐ บาทนั้นให้ มาบัดนี้โจทก์กับบุตร์จำเลยหย่าขาดกนแล้ว จำเลยกลับใจเรียกที่ดินคืนโจทก์จึงฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิที่ดินและบ้านให้โจทก์หรือคืนเงิน ๗๔๐ บาทให้
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยคืนเงิน ๗๔๐ บาทให้โจทก์
ศาลฎีกาตัดสินว่าที่จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์ยังไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าเมื่อพินัยกรรม์มีเงื่อนไขดังกล่าวมาข้างต้นฉะนี้ การยกที่ดินให้เป็นการชำระหนี้ในภายหน้าก็เป็นอันเกิดมีขึ้นมิได้ จำเลยจึงต้องคืนเงินให้โจทก์ ๆ จึงฟ้องเรียนได้ และที่จำเลยอ้างว่าการกู้ยืมเงินรายนี้ไม่มีหนังสือตาม ม.๖๕๓ นั้นเห็นว่าหนังสือพินัยกรรม์ของจำเลยเป็นหลักฐานอันชัดแจ้งที่กล่าวถึงเงินที่จำเลยเอามาจากโจทก์ และมีลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญดังนี้โจทก์จึงฟ้องร้องได้จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์