แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การดูหมิ่นผู้อื่น หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาทหรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าวดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกกล่าวหรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว เมื่อพิเคราะห์ถึงถ้อยคำที่จำเลยด่าว่าผู้เสียหายว่า “ก็ผู้หญิงชั่ว” และมองไปที่ผู้เสียหายนั้น ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายคำว่า “ชั่ว” ว่า เลว ทราม ร้าย ไม่ดี ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวต่อผู้เสียหาย จึงเป็นการพูดด่าผู้เสียหายเป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่า เป็นผู้หญิงเลว ผู้หญิงทราม ผู้หญิงร้าย ผู้หญิงไม่ดีจึงเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหาย อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลอาญาสูงภาค 2 ผู้ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 (เดิม) คำรับและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้สามในสิบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษปรับ 700 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ขณะเกิดเหตุนางสาวรัชนี ผู้เสียหาย ดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์รักษาการตำแหน่งคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มีนายบัญญัติ เป็นอธิการบดี ส่วนจำเลยเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2554 มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี โดยสภามหาวิทยาลัยมีคำสั่งปลดนายบัญญัติ ออกจากตำแหน่งอธิการบดี ต่อมาวันที่ 24 มิถุนายน 2554 เวลา 13 นาฬิกา มหาวิทยาลัยได้จัดประชุมชี้แจงเรื่องการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยและการปลดนายบัญญัติออกจากตำแหน่งอธิการบดีที่ห้องประชุมรำไพพรรณี มีผู้เสียหาย จำเลยรวมทั้งคณาจารย์บุคลากรของมหาวิทยาลัยและนักศึกษา เข้าร่วมฟังการประชุมด้วย วันที่ 30 สิงหาคม 2554 ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อพันตำรวจโทพูลทรัพย์ พนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาดูหมิ่นซึ่งหน้า และพนักงานสอบสวนได้บันทึกคำให้การของผู้เสียหายไว้ ตามบันทึกคำให้การผู้ร้องทุกข์ ผู้กล่าวโทษหรือพยาน วันที่ 7 ตุลาคม 2554 พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาจำเลยว่าดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา จำเลยให้การปฏิเสธ ตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยเช่นเดียวกัน ชั้นจับกุม จำเลยให้การปฏิเสธ ตามบันทึกคำให้การผู้ต้องหา มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยกระทำความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหาย นางสาวโพยมพรอาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ นายโชติคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นางสาวภรภัทรนักวิชาการ งานอาคารสถานที่และบริการเป็นประจักษ์พยานเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า ในวันเกิดเหตุขณะที่นายอาชว์นายกสภามหาวิทยาลัย กำลังชี้แจงให้ที่ประชุมทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นายบัญญัติได้ลุกขึ้นชี้แจง จากนั้นนายวีรวัฒน์ได้มายืนชี้แจงตรงไมโครโฟนกลางทางเดิน ระหว่างนั้นผู้เสียหายออกมายืนด้านหลังนายวีรวัฒน์ เพื่อจะขอพูดต่อจากนายวีรวัฒน์โดยมีนางสาวโพยมพรนำไมโครโฟนชนิดไร้สายมาให้ผู้เสียหายถือไว้ พอดีมีนายจรัสเดินมาดึงไมโครโฟนจากมือผู้เสียหาย ผู้เสียหายหันไปพูดว่า “เป็นผู้ชายกำลังแย่งไมค์อยู่กับผู้หญิงนะคะ” นายจรัสจึงปล่อยมือทันใดนั้นจำเลยมองไปที่ผู้เสียหายพร้อมกับพูดว่า “ก็ผู้หญิงชั่ว” นางสาวโพยมพรจึงร้องขึ้นว่า “เอ้ย น้องอาจารย์พี่นะ” จำเลยพูดกลับมาว่า “ก็อาจารย์พี่ไม่ใช่อาจารย์ผม” จากนั้นนายจรัสก็เดินออกไปและมีการประชุมต่อจนจบ ต่อมาผู้เสียหายไปร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองจันทบุรี พันตำรวจโทพูลทรัพย์ พนักงานสอบสวนได้สอบสวนผู้เสียหาย นายโชติ นางสาวโพยมพร และนางสาวภรภัทร ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุ เป็นพยาน ตามบันทึกคำให้การผู้ร้องทุกข์ ผู้กล่าวโทษหรือพยาน โดยพยานทุกปากให้การตรงกันว่า จำเลยได้ด่าผู้เสียหายด้วยถ้อยคำดังกล่าวจริง เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ซึ่งล้วนแต่เป็นประจักษ์พยานอยู่ในที่เกิดเหตุต่างเบิกความสอดคล้องต้องกันมีเหตุผลและมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ จากคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าว เมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับสาเหตุระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยก่อนเกิดเหตุคดีนี้นายบัญญัติซึ่งเป็นอธิการบดีในขณะนั้น ได้จัดตั้งคณะพยาบาลศาสตร์ โดยมีผู้เสียหายรักษาการในตำแหน่งคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ และกำหนดอัตราเงินเดือนของอาจารย์คณะดังกล่าวสูงกว่าคณะอื่น อีกทั้งนายบัญญัติได้มีคำสั่งให้งดเชิญอาจารย์พิเศษจากส่วนกลางมาทำการสอนนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ โดยให้อาจารย์ประจำและอาจารย์ภายในจังหวัดเป็นผู้สอนนักศึกษา ทั้ง ๆ ที่นักศึกษาคณะนิติศาสตร์จะต้องชำระเงินในแต่ละภาคการศึกษาสูงกว่านักศึกษาในคณะอื่น เป็นเหตุให้นักศึกษาคณะนิติศาสตร์เกิดความไม่พอใจ จึงมีการรวมตัวกันและเรียกร้องสิทธิโดยมีการทำหนังสือถึงนายบัญญัติ อธิการบดี แต่ก็ไม่เป็นผล ต่อมาจำเลยในฐานะนายกสโมสรนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ได้นำนักศึกษาเดินขบวนเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย และที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดจันทบุรี ทำให้บรรดาคณาจารย์และนักศึกษาเกิดการแตกแยกแบ่งเป็น 2 ฝ่าย โดยนายโชติและผู้เสียหายอยู่ฝ่ายเดียว กับนายบัญญัติ ซึ่งผู้เสียหายก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านยอมรับว่าเป็นเช่นนั้น อันเป็นเหตุที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีความไม่พอใจผู้เสียหายอยู่ด้วย ต่อมานายพอพันธุ์ ได้ทำหนังสือถึงสภามหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี กล่าวหาว่านายบัญญัติบกพร่องต่อหน้าที่ จนเป็นเหตุให้สภามหาวิทยาลัยมีคำสั่งถอดถอนนายบัญญัติออกจากตำแหน่งอธิการบดี จากนั้นนายอาชว์นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีจึงได้จัดให้มีการประชุมเพื่อชี้แจงกรณีที่มีการถอดถอนนายบัญญัติออกจากการดำรงตำแหน่งอธิการบดี ในวันเกิดเหตุแต่ก่อนถึงกำหนดเวลาประชุมก็ยังมีนักศึกษาและบุคลากรเดินขบวนและจัดทำพวงหรีด จากเหตุผลดังกล่าวจึงเชื่อว่าจำเลยได้พูดถ้อยคำที่พยานโจทก์เบิกความจริง ส่วนที่จำเลยเบิกความว่า ขณะที่จำเลยกำลังเดินเข้าไปหานายจรัสนั้นจำเลยได้ยินเสียงผู้หญิงพูดว่า “มันเป็นนักศึกษาเหี้ยอะไร ไม่เคารพครูบาอาจารย์” จำเลยจึงพูดสวนออกไปว่า “ผู้หญิงชั่ว” ซึ่งเป็นการพูดไปทางเสียงผู้หญิงที่พูดมา แต่นายจรัสพยานจำเลยเบิกความว่า ในขณะที่พยานกับผู้เสียหายกำลังแย่งไมโครโฟนกัน พยานได้ยินผู้เสียหายพูดว่า “นักศึกษาอะไร ไม่เคารพครูบาอาจารย์” แล้วจำเลยซึ่งยืนอยู่ด้านหลังพยาน พูดขึ้นว่า “ก็ผู้หญิงมันชั่ว” เมื่อพิจารณาซึ่งเป็นภาพที่จำเลยจ้องมองผู้เสียหายจึงเชื่อว่าจำเลยพูดถ้อยคำดังกล่าวพร้อมกับจ้องมองไปที่ผู้เสียหายตามที่พยานโจทก์เบิกความ การที่จำเลยเบิกความว่า คำพูดของจำเลยเป็นการตอบโต้เสียงที่ได้ยินมาโดยไม่ได้เจาะจงที่ผู้เสียหายนั้น น่าจะเป็นการบ่ายเบี่ยงไปเสียมากกว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยกล่าวถ้อยคำว่าผู้เสียหายตามฟ้องจริง พยานจำเลย เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้
ปัญหาว่าคำด่าของจำเลยเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า การดูหมิ่นผู้อื่น หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาทหรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าวดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกกล่าวหรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว เมื่อพิเคราะห์ถึงถ้อยคำที่จำเลยด่าว่าผู้เสียหายว่า “ก็ผู้หญิงชั่ว” และมองไปที่ผู้เสียหายนั้น ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายคำว่า “ชั่ว” ว่า เลว ทราม ร้าย ไม่ดี ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวต่อผู้เสียหาย จึงเป็นการพูดด่าผู้เสียหายเป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่า เป็นผู้หญิงเลว ผู้หญิงทราม ผู้หญิงร้าย ผู้หญิงไม่ดีจึงเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน