คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1316/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จ. ถึงแก่กรรม ที่ดินของ จ. จึงตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทโดยธรรมรวมทั้ง ส. ซึ่งเป็นพระภิกษุด้วย ที่ดินที่ ส. ได้รับมรดกมาเช่นนี้มิใช่ที่ดินของวัด แม้จะได้มาในระหว่างที่อยู่ในสมณเพศ ส. จึงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินส่วนของตนซึ่งยังมิได้แบ่งแยกจากที่ดินเดิมให้แก่โจทก์ได้ การที่ ส. ดำเนินการแบ่งแยกโฉนดที่ดินเสร็จในเวลาต่อมาแต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์และถึงแก่มรณภาพเสียก่อน ที่ดินดังกล่าวย่อมตกเป็นสมบัติของวัดจำเลย โดยผลแห่งกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1623
ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์และที่ศาสนสมบัติกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 35 ย่อมเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 285 (4) ด้วย คำพิพากษาในส่วนที่ให้วัดจำเลยโอนที่ดินให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย สภาพแห่งหนี้จึงไม่เปิดช่องให้บังคับได้ ทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 276 วรรคสาม ก็บัญญัติให้ศาลดำเนินการบังคับคดีเพียงเท่าที่สภาพแห่งการบังคับจะเปิดช่อง ให้กระทำได้เท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นนัดพร้อมเพื่อให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์เพื่อดำเนินการจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ และมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาต่อไปจึงไม่อาจกระทำได้ กรณีมีเหตุให้ยกเลิกการบังคับคดี
การแบ่งแยกโฉนดที่ดินออกมาจากโฉนดเดิมไม่ถือว่าเป็นการจำหน่ายที่ดิน เพราะการจำหน่ายจะต้องเป็น การจดทะเบียนโอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น การที่ ส. ซึ่งเป็นพระภิกษุดำเนินการแบ่งแยกโฉนดที่ดินของตนเสร็จแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ก่อนที่ ส. มรณภาพ จึงมิใช่ ส. โอนที่ดินให้แก่โจทก์ก่อน ส. มรณภาพ ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นของวัดจำเลย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับมรดกของพระครูสุวรรณสุนทรจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 40191 ตำบลทุ่งครุ (บ้านครุ) อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขาย ให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่เหลือจำนวน 1,500,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุดและอยู่ระหว่างศาลนัดพร้อมตามคำขอของโจทก์ให้จำเลยส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินแก่โจทก์เพื่อดำเนินการจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ตามคำพิพากษา
ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 โดยผลของกฎหมาย จำเลยที่ 1 ต้องรายงานขึ้นไปตามลำดับชั้นเพื่อตราออกเป็นพระราชบัญญัติก่อนตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2507) ข้อ 12, 13 ไม่สามารถปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ ขอให้ยกเลิกการบังคับคดี
ศาลชั้นต้นยกคำร้อง และมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามคำพิพากษาต่อไป
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 958 ตำบลทุ่งครุ (บ้านครุ) อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร เป็นของนางจีบ นางจีบมีบุตรด้วยกัน 5 คน ซึ่งรวมถึงพระครูสุวรรณสุนทรด้วย เมื่อนางจีบถึงแก่กรรม ที่ดินข้างต้นตกแก่ทายาทดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2531 พระครูสุวรรณสุนทรขณะเป็นเจ้าอาวาสจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนในโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ในราคา 2,100,000 บาท โจทก์ชำระเงินมัดจำ 600,000 บาท ในวันทำสัญญาแล้ว พระครูสุวรรณสุนทรมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินดังกล่าว โดยแบ่งแยกออกเป็นอีก 6 โฉนด รวมกับโฉนดที่ดินเดิมเป็น 7 โฉนด เฉพาะส่วนของพระครูสุวรรณสุนทรเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 40191 พระครูสุวรรณสุนทรมรณภาพเมื่อเดือนพฤษภาคม 2534 ต่อมาโจทก์นำคดีมาฟ้องศาล ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในชั้นนี้ว่า มีเหตุต้องยกเลิกการบังคับคดีหรือไม่ เห็นว่า เมื่อนางจีบถึงแก่กรรม ที่ดินดังกล่าวตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทโดยธรรมรวมทั้งพระครูสุวรรณสุนทรด้วย ที่ดินที่พระครูสุวรรณสุนทรได้รับมรดกมาเช่นนี้จึงมิใช่ที่ดินของวัด แม้จะได้มาในระหว่างที่อยู่ในสมณเพศก็ตาม เมื่อพระครูสุวรรณสุนทรได้ขายที่ดินส่วนของตนซึ่งขณะนั้นยังมิได้แบ่งแยกจากที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 958 ย่อมทำสัญญาจะซื้อขายแก่โจทก์ได้ โดยนัดโอนกรรมสิทธิ์เมื่อแบ่งแยกเสร็จแล้ว การที่พระครูสุวรรณสุนทรได้ดำเนินการแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ 40191 เสร็จแล้ว แต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ และถึงแก่มรณภาพเมื่อเดือนพฤษภาคม 2534 ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ที่ดินพิพาทอันเป็นของพระครูสุวรรณสุนทรย่อมตกเป็นสมบัติของจำเลยที่ 1 โดยผลแห่งกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1623 ซึ่งบัญญัติว่า ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม ซึ่งโจทก์กล่าวในคำฟ้องก็ยอมรับว่าพระครูสุวรรณสุนทรได้มรณภาพลงโดยมิได้ทำพินัยกรรม โดยผลแห่งกฎหมายที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสมบัติของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นวัด ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 33 บัญญัติว่า ที่วัดและที่ซึ่งขึ้นต่อวัดมีดังนี้ (1) ที่วัด คือที่ซึ่งตั้งวัดตลอดจนเขตของวัดนั้น (2) ที่ธรณีสงฆ์ คือที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด (3)… มาตรา 34 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง ให้กระทำได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ เว้นแต่เป็นกรณีตามวรรคสอง… และมาตรา 35 บัญญัติว่า “ที่วัดที่ธรณีสงฆ์และที่ศาสนสมบัติกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี” และทรัพย์สินที่ตามกฎหมายไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีย่อมเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 285 (4) ด้วย เมื่อกฎหมายมีข้อจำกัดเช่นนี้ คำพิพากษาในส่วนที่ให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 สภาพแห่งหนี้จึงไม่เปิดช่องให้บังคับให้ ทั้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 276 วรรคสาม ก็บัญญัติให้ศาลดำเนินการบังคับคดีเพียงเท่าที่สภาพแห่งการบังคับคดีจะเปิดช่องให้กระทำได้เท่านั้น ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นนัดพร้อมเพื่อให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์เพื่อดำเนินการจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ และมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามคำพิพากษาต่อไปนั้น จึงไม่อาจกระทำได้และกรณีนี้ศาลจะสั่งให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ก็ไม่ได้ เพราะเป็นการบังคับคดีผิดไปจากคำพิพากษา ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ถือว่าการแบ่งแยกโฉนดที่ดินพิพาทออกมาจากโฉนดเดิมเป็นการจำหน่ายที่ดินพิพาทนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เพราะการจำหน่ายนั้นจะต้องเป็นการจดทะเบียนโอนตาม ป.พ.พ. เท่านั้น และต้องเป็นการกระทำก่อนที่พระครูสุวรรณสุนทรมรณภาพ กรณีมีเหตุให้ยกเลิกการบังคับคดี ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกเลิกการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share