คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1316/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

มาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518เป็นกรณีต่อเนื่องมาจากมาตรา 19 ซึ่งเป็นเรื่องข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเกิดจากข้อเรียกร้อง ข้อตกลงนี้จึงมีผลผูกพันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในขณะที่ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นและมีผลใช้บังคับเท่านั้น จำเลยที่ 1 รับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6และที่ 7 กลับเข้าทำงานใหม่โดยมิใช่เป็นการรับกลับเข้าทำงานตามสภาพการจ้างเดิม จึงมิใช่กรณีจะนำบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงมาแล้วว่าอย่างไร จะอุทธรณ์ให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงผิดไปจากที่ศาลแรงงานกลางฟังมาไม่ได้ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 รับโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานกับจำเลยทั้งสอง แต่สัญญาที่จำเลยทั้งสองได้ทำไว้ต่อกันก็เพื่อเป็นการเลี่ยงประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานเพื่อที่จะให้โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีนิติสัมพันธ์โดยตรงกับจำเลยที่ 2แต่ข้อเท็จจริงในการทำงานของโจทก์ทั้งเจ็ดนั้น โจทก์ทั้งเจ็ดเข้ามาทำงานภายในบริเวณสถานประกอบการของจำเลยที่ 2 และการเข้าออกสถานที่ของจำเลยที่ 2 จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำงาน วัตถุดิบในการผลิตต่าง ๆเป็นของจำเลยที่ 2 และเมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดมีผลผลิตออกมาได้เท่าไรจะเป็นของจำเลยที่ 2 ทั้งหมดทันที จึงเห็นว่าการที่จำเลยที่ 1และที่ 2 ทำสัญญาไว้ต่อกันก็เพื่อเป็นการอำพรางและหลีกเลี่ยงประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน เพื่อให้โจทก์และพนักงานอื่นของจำเลยที่ 1ไม่มีนิติสัมพันธ์การเป็นนายจ้างลูกจ้างกับจำเลยที่ 2 ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 2 ทำให้โจทก์และลูกจ้างอื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 ต้องเสียเปรียบ จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของโจทก์ด้วยโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานกับจำเลยทั้งสองในวันและเวลาอัตราค่าจ้างและตำแหน่งหน้าที่แตกต่างกัน ปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1ในการเข้ามาทำงาน โจทก์แต่ละคนไม่เคยทำสัญญาในลักษณะที่มีการกำหนดอายุสัญญาจ้างที่แน่นอนไว้แต่อย่างใด อีกทั้งโจทก์บางคนได้ทำงานมาตั้งแต่บริษัทอมรกิจจำกัด โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานอมรกิจ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2532 สหภาพแรงงานอมรกิจจัดประชุมใหญ่ ที่ประชุมใหญ่มีมติให้นัดหยุดงานตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2532 เป็นต้นไปจนกว่าการเจรจาจะสามารถตกลงกันได้ซึ่งสหภาพแรงงานอมรกิจเป็นสหภาพแรงงานในกิจการของจำเลยที่ 1ครั้นถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2532 สหภาพแรงงานอมรกิจนัดหยุดงานตามที่มติประชุมใหญ่ของสหภาพแรงงาน โจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานอมรกิจได้ร่วมนัดหยุดงานด้วย ในระหว่างการนัดหยุดงาน สหภาพแรงงานอมรกิจกับจำเลยทั้งสองมีการเจรจาเพื่อตกลงกันในข้อพิพาทแรงงานที่เกิดขึ้นหลายครั้ง จนกระทั่งวันที่ 9 สิงหาคม 2532 สหภาพแรงงานอมรกิจสามารถเจรจาตกลงกับจำเลยทั้งสองได้ ปรากฏตามเอกสารท้ายหมายเลข 2 โดยมีข้อสัญญาว่าจำเลยที่ 1 และอีก 3 บริษัทจะรับลูกจ้างที่เกี่ยวข้องเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างเท่าเดิม นับอายุงานต่อเนื่อง และสภาพการจ้างเป็นไปตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของแต่ละบริษัทโดยลูกจ้างต้องไปเขียนใบสมัครงานกับบริษัทที่เกี่ยวข้องภายในวันที่ 11 สิงหาคม2532 เวลา 13.00 นาฬิกา ณ ที่ทำการแต่ละบริษัท และจำเลยที่ 1ไม่เอาความผิดแก่ลูกจ้างทุกคนที่ชุมนุมนัดหยุดงานมาตั้งแต่วันที่1 สิงหาคม 2532 ถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2532 เมื่อถึงวันที่ 11สิงหาคม 2532 โจทก์ทั้งเจ็ดได้ปฏิบัติตามข้อตกลง โดยได้ไปเขียนใบสมัครงานที่บริษัทจำเลยที่ 1 ตามวันและเวลาที่กำหนดไว้แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 กลับให้โจทก์เขียนใบสมัครงานโดยมีกำหนดอายุสัญญาการจ้างถึงวันที่ 31 มกราคม 2533 ซึ่งโจทก์ทั้งเจ็ดได้ทักท้วงว่าเป็นการทำสัญญาที่ไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์ทั้งเจ็ดทำงานมานานไม่เคยทำสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลา โดยโจทก์ทั้งเจ็ดจะต้องเกษียณอายุเมื่ออายุครบห้าสิบห้าปี การทำเช่นนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างของโจทก์ทั้งเจ็ด แต่จำเลยที่ 1 ชี้แจงว่าเมื่อครบกำหนดระยะเวลาแล้วจะต้องจ้างต่อไป ขอให้โจทก์ทั้งเจ็ดกับพวกทำสัญญาไปก่อน โจทก์ทั้งเจ็ดจึงต้องทำสัญญาไปก่อน เพราะหากไม่ทำสัญญาดังกล่าวก็จะถือได้ว่าโจทก์ทั้งเจ็ดผิดสัญญาบันทึกการปรึกษาหารือฉบับลงวันที่ 9 สิงหาคม 2532 โจทก์ทั้งเจ็ดจึงต้องจำยอมทำสัญญาฉบับดังกล่าวเพื่อให้ครบตามเงื่อนไขในสัญญาว่าจะต้องไปทำสัญญากับบริษัทภายในระยะเวลาที่กำหนด ต่อมาวันที่31 มกราคม 2533 จำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดโดยอ้างเหตุว่าครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาการจ้างดังกล่าวซึ่งโจทก์ทั้งเจ็ดเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องเพราะเป็นการกระทำที่เปลี่ยนแปลงสัญญาสภาพการจ้างและเป็นการเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดโดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรับโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าเดิม และให้นับอายุการทำงานต่อเนื่องตั้งแต่วันถูกเลิกจ้างติดต่อกับอายุการทำงานเดิม ให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะรับโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงาน หากจำเลยทั้งสองไม่รับโจทก์ทั้งเจ็ดกลับเข้าทำงาน ให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งเจ็ด
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจ้างเหมาส่งพนักงานไปทำงานกับจำเลยที่ 2 ก่อนสัญญาจ้างเหมาฉบับปี 2529 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จะสิ้นสุดลงจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 2 ว่า หากมีการทำสัญญาจ้างเหมากันอีก จำเลยที่ 1จะไม่ขอรับงานบางส่วน ทำให้จำเลยที่ 2 ต้องทำสัญญาจ้างเหมากับผู้รับเหมารายอื่นเพื่อจ้างทำงานส่วนที่จำเลยที่ 1 ไม่ขอทำการนัดหยุดงานของโจทก์ทั้งเจ็ดเมื่อเดือนสิงหาคม 2532 นั้นจำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์กับพวกที่นัดหยุดงานทราบว่า การนัดหยุดงานดังกล่าวเป็นการนัดหยุดงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและจำเลยที่ 1มีคำสั่งปลดลูกจ้างที่ได้กระทำผิดทั้งหมดออกและจัดคนงานส่วนหนึ่งของจำเลยที่ 1 เข้าไปทำงานแทนเพื่อให้เป็นไปตามสัญญาที่จำเลยที่ 1ทำไว้กับบริษัทจำเลยที่ 2 ต่อมาทางราชการเข้ามาขอร้องให้จำเลยที่ 1กับบริษัทที่เข้ามารับเหมางานใหม่อีก 3 บริษัท ช่วยรับลูกจ้างกลับเข้ามาทำงานใหม่ การเข้ามาทำงานใหม่ของโจทก์ทั้งเจ็ดและลูกจ้างอื่น ๆ จึงไม่มีผลผูกพันไปถึงสภาพการจ้างเดิมประการใดที่โจทก์ทั้งเจ็ดอ้างว่าจำเลยที่ 1 ได้เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างนั้นจำเลยที่ 1 ขอปฏิเสธ โจทก์ทั้งเจ็ดไม่เคยทักท้วงการทำสัญญาดังกล่าวแต่ประการใด โจทก์ทั้งเจ็ดเต็มใจที่จะเขียนใบสมัครงานและสัญญาจ้างกับจำเลยที่ 1 โดยในสัญญาจ้างได้กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนคือสัญญาจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มกราคม 2533 และสำหรับโจทก์ที่ 5นั้นจำเลยที่ 1 รับเข้าทำงานโดยได้ทำสัญญาทดลองงานไว้มีกำหนดระยะเวลา 169 วัน หากโจทก์ที่ 5 ทำงานไม่ผ่านขั้นตอนของการทดลองงาน จำเลยที่ 1 จะไม่จ้างโจทก์ที่ 5 ทำงานต่อไป ซึ่งโจทก์ที่ 5 ก็ทราบต่อมา ปรากฏว่าโจทก์ที่ 5 ไม่ผ่านการทดลองงาน จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ที่ 5 ทราบ โจทก์ที่ 5จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องใด ๆ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ทั้งเจ็ดไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ดำเนินกิจการในด้านรับเหมางานเป็นเอกเทศไม่เกี่ยวพันกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1ให้เหมางานที่เกี่ยวกับด้านใช้แรงงานทั่วไป รวมทั้งงานที่คลังบรรจุแก๊สของจำเลยที่ 2 โดยจ่ายค่าจ้างตามอัตราเหมาของงานที่จ้าง โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ทั้งเจ็ดขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 และโจทก์ที่ 5ขอถอนฟ้อง ศาลแรงงานกลางอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยจำนวน23,220 บาท ให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 20,160 บาท ให้โจทก์ที่ 2 จำนวน24,300 บาท ให้โจทก์ที่ 3 จำนวน 22,500 บาท ให้โจทก์ที่ 4 จำนวน24,840 บาท ให้โจทก์ที่ 6 และจำนวน 26,640 บาท ให้โจทก์ที่ 7พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ดังกล่าว คำขออื่นให้ยก
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิพากษาคำพิพากษาศาลแรงงานกลางให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่โดยให้จำเลยที่ 1สืบพยานต่อไปแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลแรงงานกลางพิจารณาใหม่แล้ว ฟังข้อเท็จจริงยุติว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1โจทก์ทุกคนเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานอมรกิจ เมื่อวันที่ 30กรกฎาคม 2532 สหภาพแรงงานอมรกิจได้จัดประชุมใหญ่ ที่ประชุมใหญ่ได้มีมติให้นัดหยุดงานตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2532 เป็นต้นไปจนกว่าการเจรจาจะสามารถตกลงกันได้ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2532สหภาพแรงงานอมรกิจได้นัดหยุดงานตามมติที่ประชุมใหญ่ของสหภาพแรงงานโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และพนักงานอื่น ๆได้ร่วมกันนัดหยุดงานด้วย จำเลยที่ 1 ได้เลิกจ้างโจทก์ทุกคนและพนักงานอื่น ๆ ที่นัดหยุดงานทั้งหมด พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้เข้ามาไกล่เกลี่ย ในที่สุดมีการตกลงได้ระหว่างจำเลยที่ 1และบริษัทที่มารับเหมางานจากบริษัทจำเลยที่ 2 อีกสามบริษัทฝ่ายหนึ่งกับผู้แทนลูกจ้างอีกฝ่ายหนึ่ง ได้ข้อยุติว่า บริษัททั้งสี่จะรับลูกจ้างที่เกี่ยวข้องเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างเท่าเดิมและนับอายุงานต่อเนื่อง สภาพการจ้างเป็นไปตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของแต่ละบริษัท โดยลูกจ้างต้องไปเขียนใบสมัครงานกับบริษัทที่เกี่ยวข้องภายในวันที่ 11 สิงหาคม 2532 เวลา 13.00 นาฬิกา ณ ที่ทำการของแต่ละบริษัท จำเลยที่ 1 ไม่เอาความผิดแก่ลูกจ้างทุกคนที่ชุมนุมนัดหยุดงานมาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2532 ถึงวันที่ 11 สิงหาคม2532 ต่อมาวันที่ 11 สิงหาคม 2532 โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4ที่ 6 และที่ 7 ได้ไปเขียนใบสมัครงานกับบริษัทจำเลยที่ 1หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 จัดให้โจทก์ดังกล่าวลงชื่อในสัญญาจ้างแรงงานสัญญาจ้างแรงงานทุกฉบับดังกล่าวกำหนดในข้อ 2 ว่า จำเลยที่ 1ตกลงว่าจ้างโจทก์แต่ละคนเป็นลูกจ้างประจำ มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนประเภทรายวันตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2532 ถึงวันที่ 31 มกราคม2533 หลังจากนั้นโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ได้เข้าทำงานกับบริษัทจำเลยที่ 1 ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2533 จำเลยที่ 1ไม่ยอมให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ทำงานต่อไปโดยอ้างว่าครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างแล้ว และวินิจฉัยว่าสำหรับประเด็นข้อ 1ที่ว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 มีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตามสภาพการจ้างเดิมหรือไม่นั้น พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1มีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการรับโจทก์ทั้งหมดเข้าทำงานของจำเลยที่ 1 เป็นการรับเข้าทำงานใหม่ มิใช่เป็นการรับกลับเข้าทำงานตามสภาพการจ้างเดิมดังนั้น โจทก์ทั้งหมดจึงมิได้มีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1ตามสภาพการจ้างเดิม แต่มีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตามสภาพการจ้าง เมื่อสมัครเข้าทำงานในวันที่ 11 สิงหาคม 2532 และเริ่มทำงานในวันที่ 16 สิงหาคม 2532 เป็นต้นไป สำหรับประเด็นข้อ 4ที่ว่า จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 หรือไม่เพียงใดนั้น จำเลยที่ 1 ไม่ยอมให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7ทำงานต่อไปโดยอ้างว่าครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้าง จึงเป็นการที่นายจ้างไม่ยอมให้ลูกจ้างประจำทำงานเกิน 7 วัน ทำงานติดต่อกันโดยไม่จ่ายค่าจ้างให้และปรากฏว่ามีเจตนาจะไม่จ้างลูกจ้างนั้นทำงานต่อไปจึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6และที่ 7 แล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่างานที่จำเลยที่ 1 จ้างให้โจทก์ดังกล่าวทำมีลักษณะตามที่บัญญัติไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสุดท้าย (ตามที่แก้ไขใหม่)การเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ของจำเลยที่ 1จึงต้องด้วยข้อ 46 ที่จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 และแม้การรับโจทก์ดังกล่าวกลับเข้าทำงานของจำเลยที่ 1 จะเป็นการรับเข้าทำงานใหม่ แต่ก็เป็นการรับเข้าทำงานตามบันทึกการปรึกษาหารือ เท่ากับโจทก์ทุกคนและจำเลยที่ 1 ยอมรับข้อกำหนด เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างด้วย และกำหนดว่าจำเลยที่ 1ยอมนับอายุงานต่อเนื่องให้ดังนั้นวันเริ่มเข้าทำงานของโจทก์แต่ละคนจึงต้องถือเอาวันที่โจทก์เริ่มเข้าทำงานแต่แรกก่อนที่จะถูกจำเลยที่ 1 เลิกจ้างเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2532 ซึ่งนับจากวันดังกล่าวจนถึงวันที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างเมื่อวันที่ 31 มกราคม2533 แล้ว โจทก์แต่ละคนทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เมื่อสัญญาจ้างครบกำหนดระยะเวลาการจ้างแล้วและจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์แต่ละคนตามสัญญาจ้างจำเลยที่ 1จึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 1ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582สำหรับประเด็นข้อ 2 ที่ว่าการเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6และที่ 7 เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น เมื่อโจทก์ทุกคนมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตามสภาพการจ้างใหม่ เมื่อสมัครงานในวันที่ 12 สิงหาคม 2532 ซึ่งครบกำหนดอายุสัญญาจ้างถึงวันที่ 31 มกราคม 2533 การเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการเลิกจ้างตามสัญญาจ้าง ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับโจทก์ดังกล่าวกลับเข้าทำงานหรือชดใช้ค่าเสียหายใด ๆ แก่โจทก์ดังกล่าว พิพากษาให้จำเลยที่ 1จ่ายค่าชดเชยจำนวน 23,220 บาท แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 20,160 บาทแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 24,300 บาท แก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 22,500 บาทแก่โจทก์ที่ 4 จำนวน 24,840 บาท แก่โจทก์ที่ 6 และจำนวน 26,640 บาทแก่โจทก์ที่ 7 พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 4 เมษายน 2533) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขออย่างอื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ในข้อแรกว่า การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6และที่ 7 โดยมีกำหนดระยะเวลาตามฟ้องนั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อพระราชบัญญัติ แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 หรือไม่ เห็นว่ามาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เป็นกรณีต่อเนื่องมาจากมาตรา 19 ซึ่งเป็นเรื่องของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเกิดจากข้อเรียกร้อง ข้อตกลงนี้จึงมีผลผูกพันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในขณะที่ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นและมีผลใช้บังคับเท่านั้น ดังนั้นความในมาตรา 20 จึงเป็นเรื่องห้ามนายจ้างมิให้ทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างโดยขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับลูกจ้างที่ผูกพันกันอยู่โดยผลของมาตรา 19 เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าเท่านั้น แต่กรณีของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 เป็นเรื่องจำเลยที่ 1 เลิกจ้าง แล้วต่อมาจำเลยที่ 1 ได้รับโจทก์ดังกล่าวกลับเข้าทำงานใหม่ ซึ่งศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1รับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 กลับเข้าทำงานใหม่โดยมิใช่เป็นการรับกลับเข้าทำงานตามสภาพการจ้างเดิม ดังนั้น กรณีของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 จึงมิใช่กรณีจะนำบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนประเด็นตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า จำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 หรือไม่เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงมาแล้วว่าไม่ปรากฏว่างานที่จำเลยที่ 1 จ้างให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ทำนั้นมีลักษณะตามที่บัญญัติไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสุดท้าย (ตามที่แก้ไขใหม่)จำเลยที่ 1 จะอุทธรณ์ให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงผิดไปจากที่ศาลแรงงานกลางฟังมาไม่ได้ ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้”
พิพากษายืน

Share