แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนที่ดินพิพาทจาก อ. ผู้จัดการมรดกของ ส. ในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนมีการขอให้จัดการทรัพย์มรดก ของ ส.โดยขณะรับโอนผู้คัดค้านที่1ทราบว่าส. มีหนี้สินบุคคล หลายราย และ ส. ไม่มีทรัพย์สินอื่นนอกจากที่ดินพิพาท แสดงว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ทราบถึงสภาพการมีหนี้สินพ้นตัวของกองมรดกของ ส. เป็นการรับโอนที่ดินพิพาทไว้โดยไม่สุจริต ไม่ได้รับความคุ้มครองตาม มาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ส่วนผู้คัดค้าน ที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งรับโอนและรับจำนองที่ดินพิพาทภายหลังจากมี การฟ้องขอให้จัดการทรัพย์มรดกของ ส. ตามพระราชบัญญัติล้มละลายดังนั้น แม้ทำโดยสุจริต มีค่าตอบแทนและเป็นบุคคลภายนอกก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า โจทก์ยื่นฟ้องขอให้จัดการทรัพย์มรดกของนายสงวนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จัดการทรัพย์มรดกของนายสงวนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2524และพิพากษาให้กองมรดกของนายสงวนล้มละลายแล้วตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2526เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2523 นายอุปถัมภ์ผู้จัดการมรดกของนายสงวนได้โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 2732 และที่ดินเลขที่ 744 ซึ่งมีชื่อนายสงวนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นการกระทำหรือยินยอมให้กระทำการโอนทรัพย์สินในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนมีการขอให้จัดการทรัพย์มรดกของนายสงวนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 และการโอนดังกล่าวเป็นไปโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทนสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 2712 ปรากฏว่าได้มีการโอนขายต่อให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 เมื่อวันที่7 พฤษภาคม 2527 และโอนขายต่อให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2527และผู้คัดค้านที่ 3 ได้จำนองที่ดินดังกล่าวไว้กับผู้คัดค้านที่ 4 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2527ซึ่งการโอนขายของผู้คัดค้านที่ 1 ตลอดทั้งการทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินในภายหลังนั้นเป็นการกระทำโดยไม่มีสิทธิเพราะผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้รับโอนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการโอนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวระหว่างนายอุปถัมภ์กับผู้คัดค้านที่ 1 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 และเพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2732 ระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 และระหว่างผู้คัดค้านที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 3 และการจดทะเบียนจำนองระหว่างผู้คัดค้านที่ 3 กับผู้คัดค้านที่ 4 กลับเป็นของกองมรดกของนายสงวนจำเลยตามหลักฎหมายที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
ผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า การซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงระหว่างนายอุปถัมภ์กับผู้คัดค้านที่ 1 ได้กระทำไปโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนทั้งนี้เพราะนายสงวนเป็นหนี้เงินกู้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเงิน 187,075 บาท ผู้คัดค้านที่ 1ขอรับชำระหนี้จากนายอุปถัมภ์ นายอุปถัมภ์บอกว่าไม่มีเงินพอที่จะชำระหนี้ แต่มีที่ดินพิพาททั้งสองแปลงซึ่งจำนองไว้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาลำพูน ถ้าผู้คัดค้านที่ 1 ต้องการจะได้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพื่อเป็นการชำระหนี้ ก็ขอให้ไถ่ถอนจำนองเอาเอง แล้วนายอุปถัมภ์ก็จะจดทะเบียนโอนขายให้ต่อไป ผู้คัดค้านที่ 1ได้จัดการไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2523 เป็นเงินทั้งสิ้น 89,582.68 บาท นอกจากที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนี้แล้ว นายสงวนไม่มีทรัพย์สินสิ่งใดอีก จึงเป็นการรับโอนมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน และรับโอนมาก่อนที่กองมรดกจำเลยจะถูกฟ้องล้มละลาย ต้องด้วยข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 114, 116 ฟ้องของผู้ร้องเคลือบคลุม ผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับซื้อที่ดินพิพาทแปลงโฉนดเลขที่ 2732 มาโดยสุจริต และมีค่าตอบแทน โดยซื้อมาเป็นเงิน40,000 บาท และได้จดทะเบียนซื้อขายต่อพนักงานที่ดินโดยถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1329 ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 3 และผู้คัดค้านที่ 4 ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 3ซื้อที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2732 จากผู้คัดค้านที่ 2 โดยสุจริต และมีค่าตอบแทน และผู้คัดค้านที่ 4 ได้รับจำนองไว้จากผู้คัดค้านที่ 3 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนเช่นกันนอกจากนั้นผู้คัดค้านที่ 1 ก็ได้ซื้อที่ดินพิพาทแปลงดังกล่าวมาจากนายอุปถัมภ์โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน และผู้คัดค้านที่ 2 ก็ได้ซื้อที่ดินพิพาทแปลงดังกล่าวจากผู้คัดค้านที่ 1ด้วยความสุจริตและมีค่าตอบแทน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2732 และ น.ส.3 ก. เลขที่ 744 ระหว่างนายอุปถัมภ์ผู้จัดการมรดกของนายสงวนผู้โอนกับผู้คัดค้านที่ 1 ผู้รับโอนเพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2732 ดังกล่าวระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 และระหว่างผู้คัดค้านที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 3 และเพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2732 ระหว่างผู้คัดค้านกับผู้คัดค้านที่ 4 ทั้งนี้โดยให้กลับเป็นของกองมรดกจำเลยตามเดิม
ผู้คัดค้านทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสี่มีว่าผู้คัดค้านถึงที่ 4 ได้รับโอนและรับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนอันจะได้รับความคุ้มครองพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114, 116หรือไม่ ผู้คัดค้านที่ 1 เบิกความว่า นายสงวน ใจธัญ กู้ยืมเงินผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน106,900 บาท ปรากฏตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย ร ต่อมาวันที่ 10 กรกฎาคม2523 นายสงวนถึงแก่ความตาย เมื่อเสร็จงานศพนายสงวนแล้ว ผู้คัดค้านได้ไปทวงหนี้กับนายอุปถัมภ์ ใจธัญ บุตรชายของนายสงวน นายอุปถัมภ์บอกว่า นายสงวนไม่มีเงินมีแต่ที่ดินพิพาทสองแปลงติดจำนองอยู่ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาลำพูน เป็นเงิน89,582.68 บาท ผู้คัดค้านที่ 1 กับนายอุปถัมภ์จึงตกลงกันให้ผู้คัดค้านที่ 1 ออกเงินไถ่ถอนจำนองเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2523 แล้วนายอุปถัมภ์ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ในวันเดียวกันราคาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไม่คุ้มกับจำนวนหนี้กู้ยืมเงินพร้อมดอกเบี้ยและค่าไถ่ถอนจำนอง ตอนที่นายอุปถัมภ์โอนที่ดินพิพาทให้ผู้คัดค้านที่ 1 นั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ก็ทราบว่านายสงวนมีหนี้สินมาก และผู้คัดค้านที่ 1 ได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ขณะทำการโอนที่ดินพิพาท ผู้คัดค้านที่ 1 ทราบว่านายสงวนมีหนี้สินกับธนาคารหลายแห่งและกับบุคคลอื่นด้วย โดยแท้จริงแล้วผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ต้องการที่ดินพิพาททั้งสองแปลง แต่ที่ต้องยอมรับมาก็เพราะทราบว่านายสงวนไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะนำมาชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 อีกแล้ว จึงจำต้องยอมรับโอนที่ดินพิพาท ปรากฏตามคำให้การลูกหนี้หรือพยานเอกสารหมาย ป.ร.1 จากคำเบิกความและคำให้การของผู้คัดค้านที่ 1 ดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดว่าขณะรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงผู้คัดค้านที่ 1 ได้ทราบถึงสภาพการมีหนี้สินล้นพ้นตัวของกองมรดกของนายสงวนเป็นอย่างดีแล้วว่า ไม่อาจชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายได้ จึงรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านได้รับโอนที่ดินพิพาทไว้โดยไม่สุจริต ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 114 ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 นั้น แม้จะฟังว่าได้รับโอนและรับจำนองที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2732 ไว้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนก็ตาม แต่สิทธิของบุคคลภายนอกเช่นผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 อันได้มาภายหลังมีการฟ้องขอให้จัดการทรัพย์มรดกของนายสงวนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 แล้วก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 116 เช่นเดียวกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนการโอนและรับจำนองที่ดินพิพาทนั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน