คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1435/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่479/2528โจทก์ที่1และที่3ฟ้องจำเลยอ้างสิทธิในที่ดินโฉนดเลขที่3083และที่ดินมือเปล่าคือที่ดินพิพาทในคดีนี้แต่คำขอท้ายฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลยออกไปจากที่ดินเพียงโฉนดเลขที่3083เท่านั้นมิได้ขอให้บังคับเกี่ยวกับที่ดินมือเปล่าแต่ขอให้บังคับให้ใช้ค่าเสียหายเกี่ยวกับที่ดินมือเปล่าด้วยศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าในการวางเกณฑ์คำนวณค่าเสียหายนั้นเนื่องจากคำขอท้ายฟ้องขอให้บังคับจำเลยออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่3083เท่านั้นการที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นที่ดินมือเปล่าจนได้สิทธิหรือไม่แล้ววินิจฉัยไปตามประเด็นนี้ย่อมเป็นการวินิจฉัยนอกคำขอท้ายฟ้องจึงไม่นำเอาที่ดินมือเปล่ามารวมคำนวณค่าเสียหายด้วยจำเลยฎีกาโดยไม่มีปัญหาขึ้นสู่ศาลฎีกาเกี่ยวกับที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเรื่องศาลชั้นต้นวินิจฉัยนอกคำขอท้ายฟ้องประเด็นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่479/2528เกี่ยวกับที่ดินพิพาทที่เป็นที่ดินมือเปล่านั้นเป็นอันยุติว่าวินิจฉัยให้ไม่ได้เพราะเกินคำขอท้ายฟ้องจึงถือไม่ได้ว่าเป็นประเด็นที่ได้วินิจฉัยแล้วในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่479/2528คำฟ้องสำนวนหลังที่จำเลยฟ้องโจทก์ที่1และที่3จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลสั่งรวมพิจารณา เพื่อความสะดวกให้เรียกโจทก์ในสำนวนหลังว่าจำเลย และให้เรียกจำเลยที่ 2 และที่ 1ในสำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ตามลำดับ
สำนวนแรก โจทก์ทั้งสิบฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จำเลยนายสายหยุด จินดา และนายบัญญัติ จินดา เป็นเจ้าของรวมในที่ดินมือเปล่าตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลกาหลง อำเภอเมืองสมุทรสาครเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่เศษ โดยมีสิทธิคนละ 1 ใน 6 ส่วน โจทก์ที่ 4ถึงที่ 10 เป็นบุตรของนายบัญญัติซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อปี 2508โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 10 จึงร่วมกันครอบครองที่ดินส่วนของนายบัญญัติสืบต่อมา ที่ดินดังกล่าวอยู่ด้านทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 3038(ที่ถูกคือ 3083) เมื่อต้นเดือนมกราคม 2535 จำเลยได้นำเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครไปรังวัดที่ดินมือเปล่าดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการออกโฉนดโดยมีชื่อของจำเลยแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โจทก์ทั้งสิบจึงบอกกล่าวให้จำเลยไปยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินร่วมกันกับโจทก์เพื่อทำการรังวัดออกโฉนดและแบ่งแยกที่ดินออกเป็นส่วนสัดระหว่างโจทก์ทั้งสิบกับจำเลย แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยไปยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครร่วมกับโจทก์ทั้งสิบเพื่อออกโฉนดเป็นชื่อของโจทก์ทั้งสิบและจำเลยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสิบไม่ได้เป็นเจ้าของร่วมในที่ดินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนหลัง จำเลยฟ้องว่า จำเลย โจทก์ที่ 1 และที่ 3เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่ 3083 ตำบลกาหลงอำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเดิมด้านทิศใต้เป็นที่ดินมือเปล่า เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2522 จำเลยได้เข้าไปแผ้วถางที่ดินมือเปล่าเพื่อทำเป็นนากุ้งและครอบครองตลอดมาจนถึงปัจจุบันเกินกว่า 10 ปี จำเลยจึงได้สิทธิครอบครอง เมื่อวันที่24 ตุลาคม 2533 จำเลยได้ยื่นหนังสือต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครเพื่อขอออกโฉนดในที่ดินมือเปล่าแต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ได้โต้แย้งคัดค้านทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับโจทก์ที่ 1 และที่ 3ดำเนินการถอนคำร้อง คำขอโต้แย้งคัดค้านการขอรังวัดเพื่อออกโฉนดของจำเลยต่อเจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครหากโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา
โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ในสำนวนหลังให้การว่า เมื่อปี 2528โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ได้ฟ้องขับไล่จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 472/2528 (ที่ถูกคือ 479/2528)ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินมือเปล่าทางทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 3083 เป็นที่ดินที่จำเลยครอบครองแทนโจทก์ที่ 1และที่ 3 จำเลยจึงไม่ได้สิทธิครอบครอง คดีดังกล่าวถึงที่สุดฟ้องของจำเลยจึงเป็นฟ้องซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ดำเนินการถอนคำร้องโต้แย้งการขอรังวัดเพื่อออกโฉนดของจำเลยต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาคร หากโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสิบสำนวนแรก
โจทก์ทั้งสิบอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสิบฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า ทางด้านทิศเหนือมีอาณาเขตติดที่ดินโฉนดเลขที่ 3083 ตำบลกาหลง อำเภอเมืองสมุทรสาครจังหวัดสมุทรสาคร โดยที่ดินมีโฉนดจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วย ต่อมาวันที่ 24 ตุลาคม 2533 จำเลยยื่นหนังสือต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครเพื่อดำเนินการออกโฉนดให้มีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว ต่อมาเดือนมกราคม 2535จำเลยนำเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครไปรังวัดที่ดินพิพาทเพื่อออกโฉนดดังกล่าวแต่ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะโจทก์ที่ 1และที่ 3 โต้แย้งคัดค้าน ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสิบข้อแรกมีว่า คำฟ้องในสำนวนคดีหลังเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 479/2528 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 479/2528 ของศาลชั้นต้นนั้น ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นที่ดินมือเปล่าจนได้สิทธิหรือไม่ และได้ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 3 โดยจำเลยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาในส่วนนี้จึงต้องรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ คำฟ้องในสำนวนคดีหลังจึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 479/2528ของศาลชั้นต้น เห็นว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 479/2528ของศาลชั้นต้น ปรากฎว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยอ้างสิทธิของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 3083 และที่ดินมือเปล่าคือที่ดินพิพาทในคดีทั้งสองสำนวนนี้ แต่คำขอท้ายฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลยออกไปจากที่ดินเพียงโฉนดเลขที่ 3083เท่านั้น มิได้ขอให้บังคับเกี่ยวกับที่ดินมือเปล่า แต่ได้ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายจำเลยให้การอ้างสิทธิครอบครองในที่ดินมือเปล่าด้วย ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทประเด็นหนึ่งว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นที่ดินมือเปล่าจนได้สิทธิหรือไม่ แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ที่ 1และที่ 3 โดยการเช่าซึ่งยังไม่สิ้นอายุและพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1และที่ 3 โจทก์ที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้ว จำเลยต้องคืนที่ดินที่เช่าและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 และวินิจฉัยว่า ในการเกณฑ์คำนวณค่าเสียหายเนื่องจากคำขอท้ายฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยออกไปจากที่ดินโฉนดที่ 3083 เท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นที่ดินมือเปล่าจนได้สิทธิหรือไม่ย่อมเป็นการวินิจฉัยนอกคำขอท้ายฟ้อง จึงไม่นำเอาที่ดินมือเปล่ามารวมคำนวณค่าเสียหายด้วย และพิพากษากลับให้จำเลยส่งมอบที่ดินส่วนของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ตามโฉนดที่ 3083 คืนพร้อมกับใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 จำเลยฎีกาโดยไม่มีปัญหาขึ้นสู่ศาลฎีกาเกี่ยวกับที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเรื่องศาลชั้นต้นวินิจฉัยนอกคำขอท้ายฟ้อง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยผิดสัญญาเช่า แต่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ต่างเป็นเจ้าของในที่ดินที่เช่าซึ่งยังมิได้มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัด โจทก์ที่ 1และที่ 3 หามีสิทธิขอให้จำเลยส่งมอบที่ดินส่วนของโจทก์ที่ 1และที่ 3 ไม่ และพิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 และที่ 3ที่ขอให้จำเลยและบริวารส่งมอบและออกจากที่ดินโฉนดที่ 3083ในส่วนของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เสีย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แสดงให้เห็นว่าประเด็นพิพาทในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 479/2528 ของศาลชั้นต้นเฉพาะข้อที่ว่าจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นที่ดินมือเปล่าจนได้สิทธิหรือไม่นั้นเป็นอันยุติตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าจะวินิจฉัยให้ไม่ได้เพราะเกินคำขอท้ายฟ้อง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นประเด็นที่ได้วินิจฉัยแล้วในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 479/2528 ของศาลชั้นต้นคำฟ้องในสำนวนคดีหลังจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกันคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 479/2528 ของศาลชั้นต้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสิบข้อสองมีว่าโจทก์ทั้งสิบมีสิทธิครอบครองร่วมกับจำเลยโดยจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสิบหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างทั้งสองฟังมาโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาเป็นยุติว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทและข้อเท็จจริงฟังมาข้างต้นว่าประเด็นพิพาทในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 479/2528 ของศาลชั้นต้นในข้อที่ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นที่ดินมือเปล่าจนได้สิทธิหรือไม่นั้นเป็นประเด็นที่ยังมิได้วินิจฉัยในคดีดังกล่าวดังนั้น ข้อวินิจฉัยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทที่เป็นที่ดินมือเปล่าของศาลชั้นต้นเช่นนั้นย่อมไม่ผูกพันคู่ความในคดีทั้งสองสำนวนนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคแรก สำหรับคดีทั้งสองสำนวนนี้พยานหลักฐานของจำเลยน่าเชื่อกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสิบ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยลำพัง มิได้ครอบครองแทนโจทก์ทั้งสิบ จำเลยจึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ทั้งสิบหาได้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลยดังโจทก์ทั้งสิบฎีกาไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เช่นนี้จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ดังที่โจทก์ทั้งสิบฎีกาส่วนฎีกาอื่น ๆ ในข้อนี้ของโจทก์ทั้งสิบเป็นข้อปลีกย่อยไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป และฎีกาโจทก์ที่ว่า จำเลยแย่งการครอบครองหรือไม่ ไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลล่างพิพากษาต้องกันมานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทั้งสิบฟังไม่ขึ้นทุกข้อ”
พิพากษายืน

Share