แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ซื้อผิดสัญญาไม่มารับหนังสัตว์ที่ซื้อ ผู้ขายปล่อยปละละเลยไม่จัดการตามควรเพื่อให้เสียหายแต่น้อย จึงมีส่วนทำผิด ผู้ขายควรได้ค่าเสียหายเพียงครึ่งหนึ่ง
การอ้างเอกสารเป็นพยาน ไม่จำต้องอ้างทั้งฉบับ จะอ้างแต่บางส่วนก็ได้
อ้างพยานไว้แล้ว จะไม่นำสืบก็ได้
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2494 จำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลโดยนายเลี่ยงหั่ง แซ่เซียว เป็นกรรมการผู้จัดการได้ทำหนังสือสั่งซื้อสินค้าหนังโคเค็ม 25 ตัน และหนังกระบือเค็ม 20 ตัน คิดเป็นราคาเงิน 486,666 บาท 50สตางค์ โดยตกลงส่งและรับมอบสินค้ากันเสร็จสิ้นภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันสั่งซื้อหากจำเลยไม่มารับมอบสินค้าภายในกำหนด จำเลยจะชำระราคาสินค้าให้จนครบ จำเลยได้วางเงินมัดจำไว้แก่โจทก์ 150,000 บาท ดังสำเนาหนังสือสั่งซื้อและคำแปลท้ายฟ้อง จนกระทั่งถึงวันที่ 12 มีนาคม 2494ซึ่งเป็นวันครบ กำหนด 30 วัน จำเลยมารับหนังโคเค็ม 3 ตัน หนังกระบือเค็ม 9 ตันกับ 666 ก.ก. รวมราคา 120,161 บาท โจทก์ได้บอกให้จำเลยรับสินค้าที่สั่งซื้อนั้นไปทั้งหมด แต่จำเลยขอผัดจะมารับภายหลัง โจทก์ได้เตือนจำเลยอีกหลายครั้งหลายหน ให้จำเลยรับสินค้าที่สั่งซื้อไว้ไปเสียโดยเร็วเพราะสินค้ากำลังจะเสียใช้การไม่ได้แต่จำเลยก็ผัดเสมอมา โจทก์จึงมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือลงวันที่ 12 มกราคม 2495 บอกกล่าวให้จำเลยมารับสินค้าที่สั่งซื้อไปภายใน 5 วัน จำเลยก็ไม่มารับ และกลับให้ทนายตอบปฏิเสธมา การผิดนัดของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายเพราะหนังโค และกระบือเค็มที่จำเลยสั่งซื้อไว้เสียหายใช้การไม่ได้หมดสิ้นทำให้โจทก์ขาดเงินที่จะได้จากการขายสินค้านี้ จึงขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายตามสัญญาให้โจทก์ 216,505.50 บาท
จำเลยให้การต่อสู้คดีหลายประการ คือ
1. จำเลยให้การรับว่า ได้ทำสัญญาซื้อขายหนังเป็นภาษาจีนกับโจทก์ แต่คำแปลสัญญาท้ายฟ้องโจทก์ไม่ถูกต้อง จำเลยได้จัดการแปลใหม่ ส่งมาพร้อมกับคำให้การและขอถือเป็นส่วนหนึ่งของคำให้การด้วย
2. สัญญาฉบับภาษาจีนที่ทำกันไว้นั้นเขียนข้อความผิดและยุ่งมากแต่เจตนาของคู่สัญญาคงมีว่า จำเลยเป็นผู้ซื้อ โจทก์เป็นผู้ขายตกลงซื้อขายหนังโคเค็ม 25 ตัน ในราคาหาบละ 760 บาท หนังกระบือเค็ม 20 ตัน ในราคาหาบละ 510 บาท กำหนดกันไว้ว่าหาบหนึ่งเท่ากับ 60 ก.ก.ผู้ซื้อได้วางเงินมัดจำไว้ 150,000 บาท คู่สัญญาต้องส่งและรับมอบของกันภายใน 30 วัน นับแต่วันทำสัญญา
3. โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โดยไม่มีหนังโคกระบือขายให้จำเลยตามสัญญา จำเลยเรียกร้องให้ส่งมอบตามสัญญาตลอดมา แต่โจทก์ไม่มีส่งให้ ในที่สุดมีเพียงหนังโคเค็ม 3 ตัน หนังกระบือเค็ม 9 ตัน 666 ก.ก. เอามาขายให้จำเลยและรับชำระเงินไปเสร็จแล้ว นอกจากนี้ไม่มีอีก
4. แม้โจทก์จะอ้างว่า มีหนังโคกระบือขายให้ แต่หนังโคกระบือนั้นยังไม่ได้ส่งมอบแก่จำเลยตามหน้าที่ของโจทก์ หนังโคกระบือยังอยู่กับโจทก์และยังเป็นของโจทก์ ถ้าหากมีการเสียหายเกิดขึ้นแก่หนังโคกระบือนั้น จำเลยไม่มีหน้าที่จะต้องรับผิด หรือแม้จำเลยจะผิดสัญญาซื้อขาย โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอย่างอื่นนอกจากริบเงินมัดจำ 150,000 บาท เท่านั้น แม้จะว่าจำเลยไม่ยอมรับของ โจทก์ก็ยังคงต้องรับผิดสำหรับของอยู่นั่นเอง อนึ่ง สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามฟ้องนั้นขาดอายุความแล้ว
5. โจทก์ไม่เคยแจ้งให้จำเลยไปรับหนังโคกระบือตามสัญญาและจำเลยไม่เคยขอผัดผ่อนแต่อย่างใด ตรงกันข้ามมีแต่โจทก์ขอทำความตกลงและขอร้องไม่ให้จำเลยเรียกมัดจำคืน และอย่าเรียกร้องค่าเสียหายเพราะโจทก์รู้อยู่แล้วว่า หนังโคกระบือรายนี้จำเลยซื้อเพื่อเอาไปขายอีกทอดหนึ่งการที่โจทก์ไม่มีหนังโคกระบือขายให้จำเลย จำเลยได้รับความเสียหายมากเพราะจำเลยไม่มีหนังโคกระบือไปขายตามสัญญาที่ได้ทำไว้เหมือนกัน
ศาลแพ่งพิจารณาแล้ว ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่รับมอบสินค้าไปภายในกำหนด จำเลยต้องชดใช้เบี้ยปรับตามสัญญาแต่เห็นว่าโจทก์ไม่บำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหายตามควรเท่าที่จะทำได้ จึงนับว่าโจทก์มีส่วนผิดอยู่ด้วย จึงต้องช่วยกันรับผิดชอบในผลอันนี้ด้วยกัน โจทก์จึงควรได้รับค่าเสียหายเพียงครึ่งเดียวของราคาหนังที่เสียหาย ซึ่งไม่มารับไปตามสัญญา ราคาหนังทั้งสิ้น486,666 บาท 50 สตางค์ จำเลยชำระราคาหนังที่รับไปแล้ว 120,161 บาทหักแล้วจึงคงเหลือราคาหนังที่ไม่รับไป 366,505 บาท 50 สตางค์ส่วนที่จำเลยจะต้องรับผิดครึ่งหนึ่งก็คือ 183,252 บาท 25 สตางค์แต่จำเลยวางมัดจำไว้กับโจทก์ 150,000 บาท ซึ่งตาม มาตรา 378 ให้ส่งคืนฉะนั้น จึงเหลือเงินที่จำเลยจะต้องชดใช้แก่โจทก์อีก 33,252 บาท 25 สตางค์ จึงพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวนนี้ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 1/2 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ ค่าธรรมเนียมเท่าที่โจทก์ชนะและค่าทนาย 800 บาทใช้จำเลยใช้แทนโจทก์ คำขอนอกจากนี้ยก
โจทก์จำเลยอุทธรณ์ โจทก์ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ฝ่ายเดียว โดยโจทก์ไม่ต้องรับผิดด้วยครึ่งหนึ่ง ฝ่ายจำเลยขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว ฟังว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โดยโจทก์ไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำผิดด้วย จึงพิพากษาแก้ให้จำเลยใช้ราคาหนังเค็มอีกกึ่งหนึ่งแก่โจทก์เป็นเงิน 183,252 บาท 25 สตางค์ตามขอกับดอกเบี้ยร้อยละ 7 1/2 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ ให้จำเลยเสียค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์กับค่าทนายอีก 800 บาทแทนโจทก์
จำเลยฎีกาว่า 1. คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว เพราะโจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกราคาหนังตามสัญญา ย่อมถือว่าเป็นการเรียกค่าเสียหายที่เกิดจากมูลละเมิด ต้องใช้อายุความเรื่องละเมิด
2. เอกสารหมาย จ.2 รับฟังเป็นพยานไม่ได้ เพราะชั้นต้นโจทก์อ้างทั้งฉบับ ภายหลังจะกลับอ้างแต่เพียงบางส่วนไม่ได้ เพราะไม่มีในระบุพยาน
3. โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่มีหนังโคกระบือให้จำเลย
4. หากจำเลยผิดสัญญา จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายให้โจทก์
5. กรรมสิทธิ์ในหนังยังอยู่กับโจทก์ เมื่อมีการเสียหายเกิดขึ้นกับหนังโจทก์ก็ต้องรับผิดชอบเอง
6. ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลย ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อีกกึ่งหนึ่งเป็นเงิน 183,252 บาท 25 สตางค์ เป็นการเกินคำขอ เพราะโจทก์ฟ้องเรียกเพียง 216,505 บาท แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ 366,504 บาท 50 สตางค์
เมื่อศาลสั่งรับฎีกาของจำเลยแล้ว ปรากฏว่าตัวโจทก์ถึงแก่กรรมจำเลยขอให้ศาลเรียกนางกุยเฮียง แซ่คู ภริยาโจทก์ และนายตงชิ้นหรือตังชิ้น บุตรโจทก์เข้ามาเป็นโจทก์แทน นางกุยเฮียง และนายตงชิ้นไม่ขัดข้อง ศาลจึงอนุญาตให้นางกุยเฮียง และนายตงชิ้นเข้าเป็นโจทก์แทนนายโปฮวงต่อไป
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นคงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2494 บริษัทจำเลยได้ทำสัญญาเป็นภาษาจีนตามเอกสารหมาย จ.1 ตกลงซื้อหนังโคกระบือเค็มจากโจทก์ คือหนังโคเค็ม 25 ตัน ในราคาหาบละ 760 บาท หนังกระบือเค็ม 20 ตัน ในราคาหาบละ 510 บาท (หาบหนึ่งเท่ากับ 60 กิโลกรัม) วันทำสัญญาจำเลยได้วางเงินมัดจำไว้ 150,000 บาท ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าจะส่งและรับมอบสินค้ากันภายใน 30 วัน ต่อมาวันที่ 12 มีนาคม 2494 จำเลยได้รับมอบหนังโคเค็มไปจากโจทก์ 3 ตัน หนังกระบือเค็ม 9 ตัน 666 กิโลกรัม คิดเป็นราคา 120,161 บาท จำเลยได้ชำระราคาหนังที่รับไปในวันนั้นให้แก่โจทก์แล้ว ต่อจากนั้นก็มิได้มีการรับและส่งมอบหนังตามสัญญาแก่กันอีกเลย
ต่อจากนี้ไปจะได้วินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ตามที่จำเลยฎีกาขึ้นมา
1. ที่จำเลยว่าคดีโจทก์ขาดอายุแล้ว เพราะมิได้ฟ้องเสียภายใน 1 ปี นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีฟ้องเรียกค่าเสียหาย เพราะการทำผิดสัญญาที่ตกลงกัน มิใช่คดีละเมิดดังที่จำเลยฎีกา จะใช้อายุความละเมิดมาบังคับหาได้ไม่ คดีของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความดังที่ศาลล่างวินิจฉัยมาถูกต้องแล้ว
2. ฎีกาจำเลยข้อ 2 ที่ขอไม่ให้รับฟังเอกสารหมาย จ.2 เป็นพยาน เพราะชั้นต้นโจทก์นำเอกสารนี้ทั้งฉบับมาส่งศาล ศาลรับไว้แล้วแต่ถูกจำเลยคัดค้านว่ายังไม่ได้รับสำเนาและคำแปล โจทก์จึงได้ส่งสำเนาเอกสารนี้ให้จำเลย แต่ส่งเพียงบางส่วน และขออ้างเฉพาะส่วนที่ได้ส่งสำเนาให้จำเลย จำเลยจึงเห็นว่าโจทก์จะอ้างเฉพาะบางส่วนเป็นพยานนั้น เป็นสิทธิของโจทก์ หามีอะไรบังคับว่าจะต้องอ้างทั้งฉบับเสมอไปไม่ หากการอ้างเฉพาะส่วนรับฟังไม่ได้ก็เป็นผลร้ายแก่โจทก์เอง อนึ่งการอ้างพยานไว้แล้วไม่ติดใจอ้างหรือไม่ติดใจสืบ นั้น โจทก์ย่อมทำได้ไม่มีอะไรห้ามเหมือนกัน ฉะนั้น ที่ศาลล่างยอมรับฟังเอกสารหมาย จ.2 เป็นพยาน จึงเป็นการชอบแล้ว
3. ข้อที่จำเลยฎีกาเถียงข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่มีหนังจะส่งมอบให้จำเลยนั้น ในข้อนี้โจทก์จำเลยต่างนำพยานบุคคลมาสืบโต้เถียงกัน แต่ฝ่ายโจทก์ยังมีกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งบริษัททวีผลประกันภัยออกให้เป็นพยานเอกสารประกอบคำพยานบุคคลว่าโจทก์มีหนังประมาณ 50 ตัน เก็บอยู่ในโกดังที่ตึกขาวธนบุรี ซึ่งโจทก์ได้เอาประกันภัยไว้เป็นเงิน 500,000 บาท นายซวยขิ้น ผู้ช่วยผู้จัดการแผนกอัคคีภัยของบริษัททวีผล ประกันภัยก็ได้ไปตรวจดูหนังที่โจทก์เอาประกันภัยเห็นมีหนังอยู่จริง ฉะนั้น ศาลฎีกาจึงเห็นว่าพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์มีน้ำหนักควรเชื่อฟังกว่าพยานจำเลย เชื่อได้ว่า โจทก์มีหนังที่จะส่งมอบให้จำเลยตามสัญญาจริง จำเลยไม่ไปรับมอบหนังจากโจทก์ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
4. ข้อที่จำเลยเถียงว่า แม้จำเลยผิดสัญญา จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ เพราะตามสัญญาซื้อขายไม่มีข้อความตอนใดสนับสนุนให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ ในข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาแล้ว ตามปกติจำเลยก็ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ จะเถียงว่าเพราะสัญญาไม่ได้มีข้อสนับสนุนให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์นั้นไม่ได้ แต่จำเลยควรต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเท่าใดนั้นจะได้วินิจฉัยต่อไป
5. ที่จำเลยเถียงว่า กรรมสิทธิ์ในหนังยังอยู่กับโจทก์ เมื่อมีการเสียหายเกิดขึ้น โจทก์ก็ต้องรับผิดชอบเอง นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าแม้หนังจะยังเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ แต่เมื่อจำเลยผิดสัญญาไม่ไปรับหนัง ทำให้โจทก์ต้องเสียหายแล้ว จำเลยก็ต้องรับผิดในความเสียหายนั้น ๆ
ปัญหามีว่า โจทก์ต้องเสียหายอันจำเลยจะต้องชดใช้ให้เท่าใดในข้อนี้โจทก์เบิกความเป็นพยานว่า เมื่อจำเลยไม่มารับหนังไปโจทก์ก็มิได้ขายให้คนอื่น คงเก็บไว้ในโกดัง แล้วหนังเสียไป แต่พยานในข้อนี้มีแต่ตัวโจทก์คนเดียว ทั้งคำโจทก์เองก็ขัดกัน คือโจทก์ว่า หนังรายนี้โจทก์ได้เอาประกันภัยไว้ 1 ปี นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2494 ครบ 1 ปี แล้วโจทก์ได้เอาประกันภัยต่ออีก 6 เดือนถ้าหนังได้เน่าเสียหายไปแล้วดังโจทก์กล่าว ไฉนโจทก์จะต้องเอาประกันภัยต่อไปอีกเล่า อนึ่ง หนังรายนี้มีจำนวนถึง 30 ตัน ราคาสามแสนบาทเศษ และยังเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์อยู่ ไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะดูดายปล่อยให้หนังเน่าเสียไปทั้งหมด ศาลฎีกาจึงเห็นว่าคดียังไม่น่าเชื่อว่าหนังพิพาทได้เน่าเสียไปทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อจำเลยทำผิดสัญญาแล้ว จำเลยก็จำต้องเสียค่าสินไหมให้โจทก์เสมอ แต่จะควรเสียเท่าใด นั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์เห็นว่าโจทก์เองก็มีหน้าที่จะต้องบำบัดปัดป้อง หรือบรรเทาความเสียหายด้วยเพื่อให้เกิดการเสียหายน้อยที่สุด การที่โจทก์ปล่อยปละละเลยให้หนังเน่าเสียหายไป ไม่จัดการประการใดเท่าที่ควรเพื่อให้เกิดการเสียหายแต่น้อย จึงเรียกได้ว่าโจทก์ก็มีส่วนทำผิดอยู่ด้วยเหมือนกัน ศาลฎีกาจึงเห็นว่า โจทก์ควรได้รับค่าเสียหายเพียงครึ่งหนึ่งดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษามาก็สมควรแล้ว
6. ฎีกาจำเลยในข้อ 6 ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยต่อไป
เหตุนี้จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยให้บังคับคดีดังคำพิพากษาศาลชั้นต้น