แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คณะกรรมการของบริษัทมีมติให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2513 เพื่อเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ แต่ ม.กรรมการคนหนึ่งกลับเรียกประชุมใหญ่ในวันที่ 22 เดือนเดียวกัน อ้างว่าทำตามคำร้องของผู้ถือหุ้นโดยไม่ได้ยื่นเรื่องราวให้คณะกรรมการพิจารณาก่อน ถึงวันที่ 22 ส. ประธานกรรมการและกรรมการส่วนใหญ่ของบริษัทได้พากันไปยังที่ประชุม แจ้งขอระงับการประชุมในวันนั้น โดยให้ไปประชุมกันในวันที่ 28 ตามที่นัดไว้แล้ว ม. ก็รับคำครั้น ส.กับพวกกรรมการกลับไปแล้ว ม. กลับจัดให้มีการประชุมใหญ่ขึ้นอีก โดยให้ ท. ซึ่งมิได้เป็นกรรมการบริษัทเป็นประธานที่ประชุม และที่ประชุมลงมติเลือก ท. กับพวกเป็นกรรมการ ครั้นวันที่ 28 ได้มีการประชุมใหญ่กันอีกครั้งหนึ่ง ที่ประชุมไม่ยอมรับรองรายงานการประชุมวันที่ 22 ดังนี้ แม้ที่ประชุมวันที่ 22 จะได้ลงมติเลือก ท. กับพวกเป็นกรรมการ ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นมติของที่ประชุมใหญ่ เพราะกรรมการส่วนใหญ่สั่งระงับการประชุมในวันนั้นเสียแล้ว ท. กับพวกจึงมิใช่กรรมการของบริษัท การที่นายทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัทรับจดทะเบียน ท. กับพวกเป็นกรรมการของบริษัท จึงเป็นการไม่ชอบบริษัทมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนได้ กรณีไม่อยู่ในบังคับมาตรา 1195 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งจะต้องฟ้องเพิกถอนภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมติ
กรรมการส่วนใหญ่ของบริษัทสั่งระงับการประชุมใหญ่เสียก่อนเริ่มลงมือประชุมโดยให้ไปประชุมกันในวันอื่นตามที่นัดไว้ หาจำต้องได้รับความยินยอมของที่ประชุมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1181 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ เพราะมิใช่เริ่มลงมือประชุมและมีผู้นั่งเป็นประธาน แล้วจึงได้มีการเลื่อนการประชุมไปเวลาอื่น
ฎีกาที่ว่า การเลือกตั้งกรรมการของบริษัทในคราวประชุมใหญ่วันที่ 28 หากมีการนับคะแนนเสียงให้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงและตามกฎหมายแล้ว กรรมการชุดของ ท. เป็นประธานจะได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ มิได้เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า คณะกรรมการบริษัทโจทก์ซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทโจทก์ และขยายอายุการมีอำนาจตามรายงานการประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ ๑/๒๕๑๓ เมื่อ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ ประกอบด้วยนาวาเอกสำราญ แย้มศรีบัว กับพวกวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๑๓ บริษัทโจทก์ได้มีหนังสือนำส่งรายงานการประชุมดังกล่าว เพื่อแจ้งให้จำเลยทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับกรรมการต่อมาเมื่อ ๑๐ มีนาคม ๒๕๑๓ ได้มีบุคคลภายนอกอ้างว่าได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการ และมีอำนาจทำการแทนบริษัทโจทก์ ในการประชุมใหญ่เมื่อ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ ได้ยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนแก้ไขเกี่ยวกับคณะกรรมการบริษัทของบริษัทโจทก์เป็น นายทองคำ เปรมฤทัย กับพวกการจดแจ้งขอแก้ไขทางทะเบียน เป็นการจดแจ้งภายหลังที่บริษัทโจทก์แจ้งไว้ก่อนแล้ว จำเลยได้จดทะเบียนและรับแจ้งการเปลี่ยนแปลงเป็นเหตุให้มีคณะกรรมการบริษัทโจทก์ซ้อนกันถึง ๒ ชุดขอให้ศาลสั่งให้จำเลยเพิกถอนการจดทะเบียนเกี่ยวกับคณะกรรมการบริษัทโจทก์ซึ่งมีนายทองคำ เปรมฤทัย กับพวก รวม ๑๑ คน ออกจากหลักฐานต่าง ๆ ทางทะเบียน ฯลฯ
จำเลยให้การว่า ที่จำเลยรับจดทะเบียนกรรมการบริษัทโจทก์เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๑๓ นั้น เป็นการถูกต้อง จำเลยไม่มีหน้าที่รับทราบรายงานการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ ๑/๒๕๑๓ ลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ ฯลฯ
บริษัทซีไซด์เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด โดยนางอัจฉรา บุญเจิม กรรมการผู้จัดการ และ พันตำรวจตรีมงคล นุตประพันธ์ กรรมการผู้ร้องได้ยื่นคำร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วม ความว่า เมื่อ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ ได้มีการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นบริษัทซีไซด์ฯ มีการเลือกตั้งกรรมการบริษัทขึ้นใหม่ จดทะเบียนกรรมการโดยชอบแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยในฐานะนายทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทเพิกถอนการจดทะเบียนเกี่ยวกับคณะกรรมการของโจทก์ซึ่งได้จดทะเบียนไว้ตามรายงานการประชุมใหญ่ เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ ออกจากหลักฐานทางทะเบียนกรมการค้า
จำเลยและผู้ร้องสอดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องสอดฎีกา
ทางพิจารณาได้ความว่า กรรมการของบริษัทซีไซด์เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด มีนาวาอากาศเอกสำราญ แย้มศรีบัว เป็นประธานกรรมการนายภิรมย์ กมลงาม นางสุมาลี คำนวณศิลป์ และคนอื่น ๆ อีกรวมทั้งสิ้น ๑๑ คน ซึ่งได้จดทะเบียนต่อกระทรวงเศรษฐการแล้ว กรรมการชุดนาวาอากาศเอกสำราญ แย้มศรีบัว เป็นประธานกรรมการ ได้ปฏิบัติหน้าที่สืบต่อมา ครั้นวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ คณะกรรมการของบริษัทก็มีมติให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีขึ้นในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓เพื่อเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ในวาระเดียวกันนั้น พันตำรวจตรีมงคลนุตประพันธ์ กรรมการของบริษัทก็ได้เรียกประชุมใหญ่ขึ้นเหมือนกันในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ อ้างว่าทำตามคำร้องของผู้ถือหุ้น โดยไม่ได้ยื่นเรื่องราวให้คณะกรรมการของบริษัทพิจารณาก่อน ครั้นถึงวันนัดประชุมวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ นาวาอากาศเอกสำราญนายภิรมย์นายอนันต์นางสุมาลีและนายอุดมกรรมการของบริษัทได้พากันไปยังที่ประชุม แจ้งขอระงับการประชุมในวันนั้นเสีย โดยให้ไปประชุมกันในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ ตามที่นัดไว้แล้ว พันตำรวจตรีมงคลซึ่งเป็นผู้เรียกประชุมใหญ่วันนั้นขึ้นก็รับคำว่าจะไม่จัดให้มีการประชุมในวันนั้นต่อไป ครั้นเมื่อนาวาอากาศเอกสำราญกับพวกพากันกลับไปแล้ว พันตำรวจตรีมงคลกลับจัดให้มีการประชุมใหญ่กันขึ้นอีก โดยให้นายทองคำซึ่งมิได้เป็นกรรมการบริษัทเป็นประธานในที่ประชุมที่ประชุมได้ลงมติเลือกนายทองคำและพวกรวม ๑๑ คน ดังมีรายนามตามฟ้องเป็นกรรมการครั้นวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ ได้มีการประชุมใหญ่กันขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ผู้ถือหุ้นขอให้ที่ประชุมรับรองรายงานการประชุมใหญ่วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓แต่นาวาอากาศเอกสำราญประธานได้ชี้แจงว่า ได้สั่งระงับการประชุมใหญ่วันดังกล่าวแล้ว พร้อมกับให้เลขานุการอ่านบันทึกการระงับการประชุมให้ที่ประชุมฟัง ที่ประชุมรับทราบ และรับรองรายงานการประชุมใหญ่วิสามัญวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๑๒ โดยไม่รับรองรายงานประชุมใหญ่วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ ต่อมาวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๑๓ พันตำรวจตรีมงคลกับพวกได้ไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริษัท อ้างว่าคณะกรรมการบริษัทชุดนาวาอากาศเอกสำราญเป็นประธานกรรมการได้พ้นตำแหน่งแล้ว โดยคณะกรรมการบริษัทชุดนายทองคำได้รับเลือกตั้งขึ้นใหม่ตามมติของที่ประชุมใหญ่ของบริษัทเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ จำเลยจดทะเบียนให้ตามคำขอของพันตำรวจตรีมงคลกับพวก
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่พันตำรวจตรีมงคลได้จัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นขึ้นอีกในวันนั้นหลังจากที่นาวาอากาศเอกสำราญและพวกพากันกลับไปแล้ว แม้ที่ประชุมจะได้ลงมติเลือกนายทองคำกับพวกรวม ๑๑ คนเป็นกรรมการของบริษัท ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นมติของที่ประชุมใหญ่ บริษัทซีไซด์เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด ที่กรรมการส่วนใหญ่ของบริษัทได้ไปสั่งระงับการประชุมใหญ่เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ นั้น หาจำต้องได้รับความยินยอมของที่ประชุมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑๘๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ เพราะกรณีนี้คณะกรรมการของบริษัทสั่งระงับการประชุมเสียก่อนเริ่มลงมือประชุม หาใช่เริ่มลงมือประชุมและมีผู้นั่งเป็นประธานในที่ประชุมแล้วจึงได้มีการเลื่อนการประชุมไปเวลาอื่นอันจะต้องได้รับความยินยอมของที่ประชุมดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑๘๑ ไม่ ฟังได้ว่าไม่มีการประชุมใหญ่ของบริษัทซีไซด์เอนเตอร์ไพรส์ในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ ขึ้นอย่างใดและรับฟังได้ด้วยว่านายทองคำกับพวกรวม ๑๑ คนดังมีรายนามตามฟ้องมิใช่กรรมการของบริษัทซีไซด์เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด การที่จำเลยจดทะเบียนนายทองคำกับพวก๑๑ คนเป็นกรรมการของบริษัทดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนได้ กรณีไม่อยู่ภายในบังคับมาตรา ๑๑๙๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในอันที่จะต้องฟ้องเพิกถอนภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมติ
ข้อที่ผู้ร้องสอดฎีกาว่า การเลือกตั้งกรรมการของบริษัทในคราวประชุมใหญ่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ หากมีการนับคะแนนเสียงให้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงและตามกฎหมายแล้ว กรรมการชุดนายทองคำเปรมฤทัย เป็นประธาน จะได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ หาใช่กรรมการชุดนาวาอากาศเอกสำราญ แย้มศรีบัว เป็นประธานได้รับเลือกตั้งไม่ นั้น เห็นว่า ปัญหาข้อนี้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นฎีกาของผู้ร้องสอดในข้อนี้จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน