แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2549 โจทก์ในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 นำเงินสินสมรสไปซื้อที่ดินและทาวน์เฮ้าส์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ภายในกำหนดเวลาหนึ่งปี นับแต่โจทก์ทราบเหตุการณ์ทำนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552 ว่า ฟ้องโจทก์มิใช่การฟ้องเพื่อเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินและทาวน์เฮ้าส์ แต่เป็นการฟ้องเพื่อเรียกสินสมรสคืนจากจำเลยที่ 2 และการที่ศาลชั้นต้นให้โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนถอนเงินในบัญชีซึ่งเป็นสินสมรสและมอบให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 2 คืนเงินแก่โจทก์ เป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็น จะพิพากษาให้จำเลยที่ 2 คืนเงินหาได้ไม่ โจทก์ต้องไปว่ากล่าวต่างหาก โจทก์จึงยื่นฟ้องคดีนี้ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 เรียกร้องให้จำเลยที่ 2 คืนเงินจำนวน 1,512,400 บาท จึงเป็นการใช้สิทธิฟ้องต่อเนื่องจากคำพิพากษาในคดีเดิม แม้คำพิพากษาคดีดังกล่าวจะไม่มีถ้อยคำว่า “โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่” อายุความคดีนี้ก็ตกอยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง ที่ฟ้องใหม่ได้ภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด หาใช่ต้องฟ้องคดีภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคสอง คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินสินสมรสจำนวน 1,512,400 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 538,792 บาท และชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวของต้นเงิน 1,512,400 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 และหรือที่ 2 ไม่ชำระให้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 283495 ตำบลแพรกษา อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 195/191 หมู่ที่ 2 ตำบลแพรกษา อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้ยึดอายัดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 นำมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์และได้นำเงินสินสมรสตามฟ้องไปซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 283495 ตำบลแพรกษา อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 195/191 หมู่ที่ 2 ตำบลแพรกษา อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ มีชื่อจำเลยที่ 2 ปรากฏเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยในเวลานั้นจำเลยที่ 1 ถูกทำของด้วยไสยศาสตร์ ปัจจุบันจำเลยที่ 1 หายเป็นปกติดีแล้ว
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความเห็นสมควรให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความชั้นอุทธรณ์เห็นสมควรให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2549 โจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 283495 พร้อมด้วยทาวน์เฮ้าส์พิพาท ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างว่าโจทก์ทราบเหตุดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่จำเลยที่ 1 โอนเงินสินสมรส 1,512,500 บาท แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโดยอ้างว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 นำเงินสินสมรสจำนวน 1,512,400 บาท ไปซื้อที่ดินและทาวน์เฮ้าส์พิพาท โอนให้แก่จำเลยที่ 2 ขอให้เพิกถอนการโอนดังกล่าว แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงนามทำสัญญาจะซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องด้วยตนเองโดยไม่มีข้อเท็จจริงใดที่แสดงว่า จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้อง แล้วทำนิติกรรมโอนให้แก่จำเลยที่ 2 กรณีจึงต้องยกฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นให้โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนถอนเงินในบัญชีซึ่งเป็นสินสมรสแล้วมอบเงินให้แก่จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องและพิพาทให้จำเลยที่ 2 คืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ เป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (1) และจะพิพากษาให้จำเลยที่ 2 คืนเงินหาได้ไม่ ปัญหาว่าจำเลยที่ 2 จะต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด โจทก์ต้องไปว่ากล่าวต่างหาก โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552 ต่อมาวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีนี้ ให้คืนเงินจำนวน 1,512,400 บาท ซึ่งเป็นสินสมรสของโจทก์พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 คืนเงินจำนวน 1,512,400 บาท เป็นการเพิกถอนการทำนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 ต้องยื่นฟ้องภายใน 1 ปี โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เกิน 1 ปี ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 วรรคสอง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกามีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 นำเงินสินสมรสไปซื้อที่ดินและทาวน์เฮ้าส์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2549 ซึ่งอยู่ภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่โจทก์ทราบเหตุการณ์ทำนิติกรรมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในคดีแรกพิพากษาว่า ฟ้องโจทก์มิใช่การฟ้องเพื่อเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินและทาวน์เฮาส์พิพาทแต่เป็นกรณีโจทก์ฟ้องเพื่อเรียกสินสมรสคืนจากจำเลยที่ 2 พิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552 โจทก์จึงยื่นฟ้องคดีนี้ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 เรียกร้องให้จำเลยที่ 2 คืนเงินจำนวน 1,512,400 บาท จึงเป็นการใช้สิทธิฟ้องต่อเนื่องจากคำพิพากษาในคดีเดิม แม้คดีดังกล่าวจะไม่มีถ้อยคำว่า “โดยตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่” อายุความคดีนี้จึงตกอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง หาใช่ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 วรรคสอง ไม่ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องภายใน 60 วัน นับแต่คำพิพากษาคดีก่อนถึงที่สุด คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,512,400 บาท คืนแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 จนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเงินคืนแก่โจทก์เสร็จสิ้น ทั้งนี้คำนวณดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 จนถึงวันฟ้องไม่ให้เกิน 538,792 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ