คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 131/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันสืบพยานและมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาลเสียก่อนลงมือสืบพยาน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 197 วรรค 2 ให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณา หาใช่ให้ศาลต้องคอยฟังเหตุผลจากฝ่ายนั้นก่อนไม่
ถ้าได้ส่งหมายกำหนดวันสืบพยานให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว จำเลยขาดนัดพิจารณา หากไม่มีเหตุให้ศาลเห็นเป็นอย่างอื่นแล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 202 ให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา
ความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 205 นั้น จะเป็นในวรรค 2 หรือ 3 ก็หมายความเฉพาะกรณีที่จำเลยมาศาล ในระหว่างการพิจารณาคดีฝ่ายเดียว ถ้ามาศาลเมื่อพ้นเวลาที่จะนำพยานของตนเข้าสืบแล้ว ก็ไม่อนุญาตให้จำเลยสืบพยานของตนได้
ศาลสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวเสร็จแล้วจำเลยก็มิได้มาศาล จึงไม่ใช่กรณีที่จะให้จำเลยสืบพยานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 205 วรรค 3 (1) ต้องถือว่าเสร็จการพิจารณา (อ้างฎีกาที่ 976/2497, 250/2501).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาจำเลยมิได้จดทะเบียนสมรส โจทก์ได้จำหน่ายทรัพย์ที่ติดตัวมาซื้อที่ดิน เครื่องใช้ในบ้าน บัดนี้จำเลยขับไล่โจทก์ จึงฟ้องขอแบ่งทรัพย์กึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การว่า ทรัพย์ตามบัญชีหมายเลข ๒ อันดับ ๓ โจทก์จำเลยร่วมกันหาได้มา นอกนั้นจำเลยผู้เดียวหามา
ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์นำสืบก่อน จำเลยทราบวันนัดพิจารณาแล้ว แต่ไม่มาศาลในวันสืบพยานโดยไม่ทราบเหตุผล ศาลจึงสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา และดำเนินการสืบพยานโจทก์ฝ่ายเดียว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินตามฟ้องให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง ทรัพย์อันดับ ๒ ถึง ๗ ให้ประมูลราคาระหว่างโจทก์จำเลย ถ้าไม่ตกลงกันก็ให้ขายทอดตลาด แบ่งเงินให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันสืบพยาน และมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องมที่ไม่มาศาลเสียก่อนลงมือสืบพยานประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๙๗ วรรค ๒ ให้ถือว่า คู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณา หาใช่ให้ศาลต้องฟังเหตุผลจากฝ่ายจำเลยก่อนไม่ เพราะในวันนั้นจำเลยไม่มาศาลและการพิจารณาจะดำเนินไปฝ่ายเดียวจะคอยฟังเหตุผลทางฝ่ายจำเลยไม่ได้อยู่เอง ถ้าได้ส่งหมายกำหนดวันสืบพยานให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยขาดนัดพิจารณา หากไม่มีเหตุผลให้ศาลเห็นเป็นอย่างอื่นแล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๐๒ ให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา ที่จำเลยฎีกาว่า แม้จำเลยจะขาดนัดพิจารณา จำเลยก็หมดสิทธิซักค้านพยานโจทก์ และหมดสิทธิที่จะอ้างพยานต่อไป แต่ยังมีสิทธินำพยานที่ระบุไว้แล้วเข้าสืบได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๐๕ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยขาดนัดพิจารณา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๐๒ ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินไปฝ่ายเดียว ส่วนความในมาตรา ๒๐๕ นั้น จะเป็นในวรรค ๒ หรือวรรค ๓ ก็หมายความเฉพาะกรณีที่จำเลยมาศาลในระหว่างการพิจารณาคดีฝ่ายเดียว ถ้ามาศาลเมื่อพ้นเวลาที่จะนำพยานของตนเข้าสืบแล้ว ก็ไม่อนุญาตให้จำเลยสืบพยานของตนได้ แต่คดีนี้ศาลสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวเสร็จแล้ว จำเลยก็มิได้มาศาล จึงไม่ใช่กรณีที่จะให้จำเลยสืบพยานได้ตามาตรา ๒๐๕ วรรค ๓(๑) ต้องถือว่าเสร็จการพิจารณา ศาลพิพากษาไปได้ตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๙๗๖/๒๔๙๗, ๒๕๐/๒๕๐๑
พิพากษายืน.

Share