แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มาตรา 14 ให้โจทก์มีอำนาจกำหนด ค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนค่าบริการในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมในด้านธุรกิจ โจทก์จึงประกาศกำหนดค่าบริการบำบัดน้ำเสียได้ โดยประกาศนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่ 60/2538 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคิดปริมาณน้ำเสีย ให้คำนวณจากร้อยละ 80 ของน้ำใช้ในแต่ละเดือน และแม้ผู้ใช้น้ำจะมิได้ปล่อยน้ำใช้ลงสู่ระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง ผู้ใช้น้ำก็ยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยคำนวณจากน้ำใช้ตามประกาศฉบับนี้ และประกาศของโจทก์ที่ 61/2538 เรื่อง ค่าบริการบำบัดน้ำเสียในนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร กำหนดวิธีคำนวณอัตราค่าบริการในการบำบัดน้ำเสียในโรงงานอุตสาหกรรมไว้โดยชัดแจ้ง ประกาศดังกล่าวใช้บังคับเป็นการทั่วไปแก่ผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาครทุกราย มิได้ใช้บังคับเฉพาะรายของจำเลยอันจะทำให้เห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ จึงมิได้ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่จำเลยดังที่ให้การ จำเลยซึ่งเป็นผู้ใช้ที่ดินตามสัญญาการใช้ที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาครและใบอนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อการประกอบกิจการอุตสาหกรรม จึงต้องผูกพันเสียค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียตามอัตราที่โจทก์ประกาศกำหนด ไม่ว่ากระบวนการผลิตของจำเลยจะก่อให้เกิดน้ำเสียขึ้นถึงร้อยละ 80 หรือไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,187,015.25 บาท และชำระเงินเพิ่มค่าบำรุงรักษานิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาครและค่าบำบัดน้ำเสียที่ค้างชำระอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์เป็นค่าบำรุงรักษา 487,329.36 บาท ค่าบริการบำบัดน้ำเสีย 1,200,703.63 บาท เบี้ยปรับเป็นเงิน 166,327.42 บาท และให้ชำระเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 0.5 ต่อเดือน ของต้นเงิน 1,688,032.99 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าบริการบำบัดน้ำเสียและเบี้ยปรับรวม 1,043,726.61 บาท และชำระเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 0.5 ต่อเดือน ของต้นเงิน 1,447,892.26 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลของทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มีวัตถุประสงค์ในการให้เช่า ให้เช่าซื้อ และขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ในนิคมอุตสาหกรรม จำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมผลิตไอศกรีมโยเกิร์ต โยเกิร์ตแช่แข็ง และโยเกิร์ตพร้อมดื่ม เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2538 จำเลยทำสัญญาการใช้ที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมกับโจทก์เพื่อใช้ที่ดินแปลงที่ 51 และ 52 เนื้อที่ 9 ไร่ 2 งาน 21 ตารางวา และที่ดินแปลงเลขที่ 50 และ 53 ถึง 55 เนื้อที่ 17 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวา รวมเนื้อที่ทั้งหมด 27 ไร่ 44 ตารางวา เพื่อการผลิตสินค้าดังกล่าว ตามสัญญาการใช้ที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร และบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาการใช้ที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ในการใช้ที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมดังกล่าวจำเลยมีหน้าที่ต้องชำระค่าบำรุงรักษาการนิคมอุตสาหกรรมและค่าบำบัดน้ำเสียให้แก่โจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องชำระเงินค่าบำรุงรักษานิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร 487,329.36 บาท ให้แก่โจทก์หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยค้างชำระเงินค่าบำรุงรักษานิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาครตั้งแต่งวดเดือนมีนาคม 2542 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2544 เป็นเงิน 487,329.36 บาท แต่มิได้พิพากษาให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวจำเลยมิได้แก้ฎีกา ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยค้างชำระค่าบำรุงรักษานิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาครแก่โจทก์ตั้งแต่งวดเดือนมีนาคม 2542 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2544 เป็นเงิน 487,329.36 บาท จำเลยจึงต้องชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาโดยมิได้ให้จำเลยชำระหนี้จำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ จึงเป็นการไม่ชอบ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยต้องชำระค่าบริการบำบัดน้ำเสียให้แก่โจทก์เพียงใด เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มาตรา 14 โจทก์มีอำนาจกำหนดค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนค่าบริการในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมในด้านธุรกิจ โจทก์จึงมีอำนาจตามกฎหมายที่จะประกาศกำหนดค่าบริการการบำบัดน้ำเสียได้ โดยตามประกาศการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่ 60/2538 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคิดปริมาณน้ำเสีย มีใจความสำคัญว่า น้ำเสีย ได้แก่ น้ำที่ผ่านการใช้แล้วทุกชนิด เช่น จากกระบวนการผลิต จากการชะล้างต่าง ๆ จากห้องทดลอง รวมทั้งน้ำใช้แล้วจากห้องน้ำ ห้องส้วม และโรงอาหาร การคิดปริมาณน้ำเสียให้คำนวณจากร้อยละ 80 ของน้ำใช้ในแต่ละเดือน และแม้ผู้ใช้น้ำจะมิได้ปล่อยน้ำใช้ลงสู่ระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง ผู้ใช้น้ำก็ยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยคำนวณจากน้ำใช้ตามประกาศฉบับนี้ และประกาศของโจทก์ที่ 61/2538 เรื่อง ค่าบริการบำบัดน้ำเสียในนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร กำหนดวิธีการคำนวณอัตราค่าบริการในการบำบัดน้ำเสียในโรงงานอุตสาหกรรมไว้โดยชัดแจ้ง ประกาศดังกล่าวใช้บังคับเป็นการทั่วไปแก่ผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาครทุกราย มิได้ใช้บังคับเฉพาะรายของจำเลยอันจะทำให้เห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ จึงมิได้ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่จำเลยดังที่ให้การ จำเลยซึ่งเป็นผู้ใช้ที่ดินตามสัญญาการใช้ที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาครและใบอนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อการประกอบกิจการอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร จึงต้องผูกพันเสียค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียตามอัตราที่โจทก์ประกาศกำหนด ไม่ว่ากระบวนการผลิตของจำเลยจะก่อให้เกิดน้ำเสียขึ้นถึงร้อยละ 80 หรือไม่ เมื่อจำเลยมิได้โต้แย้งว่าโจทก์คำนวณค่าบำบัดน้ำเสียไม่ถูกต้องตามประกาศดังกล่าว จำเลยจึงต้องชำระค่าบริการบำบัดน้ำเสียตั้งแต่งวดเดือนกุมภาพันธ์ 2541 ถึงงวดเดือนมกราคม 2544 เป็นเงิน 1,200,703.63 บาท ให้แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ให้ลดเงินค่าบริการบำบัดน้ำเสียลงร้อยละ 20 เพราะเห็นว่ากระบวนการผลิตของจำเลยปล่อยน้ำเสียไม่ถึงร้อยละ 80 ของน้ำดีที่จำเลยใช้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าบำรุงรักษานิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร 487,329.36 บาท ค่าบริการบำบัดน้ำเสีย 1,200,703.63 บาท เงินเพิ่ม(เบี้ยปรับ) 166,327.42 บาท และเงินที่เพิ่ม (เบี้ยปรับ) ในอัตราร้อยละ 0.5 ต่อเดือนของต้นเงิน 1,688,032.99 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ