คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1308/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-3469 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้นำรถเข้าร่วมกิจการขนส่งสินค้ากับบริษัทจำเลยที่ 4 โดยรถคันดังกล่าวมีชื่อจำเลยที่ 4 ติดที่ข้างรถเห็นได้ชัดเจน และจำเลยที่ 4 รับว่ารถยนต์คันนี้ใช้บรรทุกสินค้าของจำเลยที่ 4 นำไปส่งให้แก่ลูกค้า พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 4 ยินยอมให้จำเลยที่ 2 นำรถยนต์เข้าร่วมกิจการของจำเลยที่ 4 เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถไปส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าของจำเลยที่ 4จำเลยที่ 4 ย่อมได้รับผลประโยชน์จากการนี้โดยตรง ถือได้ว่าจำเลยที่ 4 เชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตนจำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งการละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำต่อโจทก์ทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 65,719.50 บาท และโจทก์ที่ 2 จำนวน 96,750บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงิน 63,728บาท แก่โจทก์ที่ 1 และของต้นเงิน 90,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของลูกจ้างของโจทก์ที่ 2 ค่าซ่อมแซมรถยนต์ของโจทก์ที่ 2ไม่เกิน 20,000 บาท โจทก์ที่ 2 มีรายได้จากการประกอบการค้าไม่เกินวันละ 100 บาท และใช้เวลาซ่อมแซมรถยนต์เพียง 30 วันก็เพียงพอรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 มีสภาพทรุดโทรมก่อนเกิดเหตุ ค่าเสื่อมราคาไม่เกิน 5,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ใช่เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 3 มิได้เป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 และไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยอื่น รถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-3469 ประจวบคีรีขันธ์มิใช่ของจำเลยที่ 3ความเสียหายของโจทก์ทั้งสองไม่เกิน 25,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ให้การร่วมกันว่า จำเลยที่ 5 และที่ 6 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 จำเลยที่ 4 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในการเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-3469 ประจวบคีรีขันธ์ วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปบรรทุกกล่องกระดาษจากโรงงานของจำเลยที่ 4โดยนายนพรัตน์ ม่วงสกุล เป็นผู้รับจ้างจากจำเลยที่ 4 เป็นรายเที่ยว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 7 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ที่ 2 ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 84-1485 กรุงเทพมหานคร ในขณะเกิดเหตุ กรมธรรม์ประกันภัยของโจทก์ที่ 1 เป็นโมฆะเพราะโจทก์ที่ 2ไม่มีส่วนได้เสียในรถยนต์ที่เอาประกันภัย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4ร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 42,935 บาท พร้อมดอกเบี้ยและให้ร่วมกันชำระเงินจำนวน 15,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ย ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 6และที่ 7
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 45,285 บาท พร้อมดอกเบี้ย และให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน25,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ว่าจำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดที่จำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดขึ้นหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-3469 ประจวบคีรีขันธ์ ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถไปตามทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ได้นำรถยนต์คันดังกล่าวเข้าร่วมในกิจการขนส่งสินค้าของจำเลยที่ 4 โดยมีชื่อของจำเลยที่ 4 ติดไว้ที่ข้างรถ วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถกลับจากบรรทุกกระดาษของจำเลยที่ 4 พิจารณาภาพถ่ายรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-3469ประจวบคีรีขันธ์ ปรากฏว่ามีชื่อบริษัทยูเนี่ยนเปเปอร์คารตอนส์จำกัด (จำเลยที่ 4) ที่ข้างรถเห็นได้ชัดเจน บุคคลทั่วไปย่อมเข้าใจว่าจำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของรถยนต์คันดังกล่าวและใช้ในกิจการของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 ก็นำสืบรับว่ารถยนต์คันนี้ใช้บรรทุกสินค้าของจำเลยที่ 4 นำไปส่งให้แก่ลูกค้า พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 4 ยินยอมให้จำเลยที่ 2 นำรถยนต์เข้าร่วมกิจการของจำเลยที่ 4 จึงมีชื่อของจำเลยที่ 4 ติดที่ข้างรถโดยเปิดเผย แม้ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ได้รับค่าจ้างจากจำเลยที่ 4 แต่จำเลยที่ 1 ขับรถคันดังกล่าวไปส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าของจำเลยที่ 4ซึ่งจำเลยที่ 4 ได้รับผลประโยชน์จากการนี้โดยตรง เท่ากับจำเลยที่ 4 เชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 นั่นเอง เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกสินค้าของจำเลยที่ 4 โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share