แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การจัดให้มีการเล่นตามบัญชี ข. ท้ายพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 จะต้องเป็นการจัดให้มีขึ้นเพื่อเป็นทางนำมาซึ่งประโยชน์แก่ผู้จัด ผู้จัดจึงจะมีความผิดแม้ตามมาตรา 12 ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษจะใช้ถ้อยคำว่าผู้จัดให้มีการเล่นเท่านั้น ก็ย่อมหมายถึงผู้จัดให้มีการเล่นอันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการพนันพ.ศ. 2478 นั่นเอง ข้อความที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 วรรคสอง ที่ว่า จัดให้มีขึ้นเพื่อเป็นทางนำมาซึ่งผลประโยชน์แก่ผู้จัดโดยทางตรงหรือทางอ้อม เป็นองค์ประกอบความผิด เมื่อตามคำฟ้องของ โจทก์ไม่ปรากฎข้อความว่าจำเลยจัดให้มีการเล่นบิลเลียดและสนุกเกอร์ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการเล่นบิลเลียดขึ้นเพื่อเป็นทางนำมาซึ่งผลประโยชน์แห่งตนโดยทางตรงหรือทางอ้อมถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ปัญหานี้แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้าง แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องอีกหลายคนร่วมกันจัดให้มีการเล่นบิลเลียดอันเป็นการเล่นตามบัญชี ข.ลำดับที่ 23 ท้ายพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 และสนุกเกอร์อันเป็นการเล่นซึ่งมีลักษณะคล้ายกันกับการเล่นบิลเลียดในสมาคมสงเคราะห์ช่างเหมาไทย จำนวน 4 โต๊ะ เกินเวลา 1 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น ซึ่งเกินกำหนดเวลาที่อนุญาตให้เล่นได้ตามข้อกำหนดในกฎกระทรวง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4, 7, 12 กฎกระทรวงฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนันพ.ศ. 2478 ข้อ 1(2)
จำเลยให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4, 7, 12 จำคุก 2 เดือน ปรับ 2,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าการเล่นบิลเลียดตามฟ้องมิได้มีการพนันเอาทรัพย์สินกัน การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2539 เวลาประมาณ 2 นาฬิกา จำเลยกับพวกร่วมกันจัดให้มีการเล่นบิลเลียดอันเป็นการเล่นตามบัญชี ข.ลำดับที่ 23 ท้ายพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 จำนวน 4 โต๊ะโดยมิได้ปรากฎว่ามีการพนันเอาทรัพย์สินกันที่สมาคมสงเคราะห์ช่างเหมาไทย ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่ามาตรา 4 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 บัญญัติว่า”การเล่นอันระบุไว้ในบัญชี ข. ท้ายพระราชบัญญัตินี้ หรือการเล่นซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน หรือการเล่นอื่นใดซึ่งรัฐมนตรีได้ออกกฎกระทรวงระบุเพิ่มเติมไว้ จะจัดให้มีขึ้นเพื่อเป็นทางนำมาซึ่งผลประโยชน์แก่ผู้จัดโดยทางตรงหรือทางอ้อมได้ ต่อเมื่อรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตเห็นสมควรและออกใบอนุญาตให้ หรือมีกฎกระทรวงอนุญาตให้จัดขึ้นโดยไม่ต้องมีใบอนุญาต” ซึ่งจะเห็นได้ว่า การจัดให้มีการเล่นตามบัญชี ข.ท้ายพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 นั้น จะต้องเป็นการจัดให้มีขึ้นเพื่อเป็นทางนำมาซึ่งประโยชน์แก่ผู้จัด ผู้จัดจึงจะมีความผิด แม้ตามมาตรา 12 ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษจะใช้ถ้อยคำว่าผู้จัดให้มีการเล่น เท่านั้น ก็ย่อมหมายถึงผู้จัดให้มีการเล่นอันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 นั่นเองดังนั้น ข้อความที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 วรรคสอง ที่ว่า จัดให้มีขึ้นเพื่อเป็นทางนำมาซึ่งผลประโยชน์แก่ผู้จัดโดยทางตรงหรือทางอ้อม จึงเป็นองค์ประกอบความผิด เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฎข้อความว่าจำเลยจัดให้มีการเล่นบิลเลียดและสนุกเกอร์ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการเล่นบิลเลียดขึ้นเพื่อเป็นทางนำมาซึ่งผลประโยชน์แห่งตนโดยทางตรงหรือทางอ้อม ถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ปัญหานี้แม้จำเลยจะได้ยกขึ้นกล่าวอ้าง แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์