คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1307/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทมีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยโจทก์ได้รับมาตามพ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ดังนั้นสิทธิของโจทก์ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์จะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวมีข้อบังคับว่า ภายในกำหนดเวลาห้าปี นับแต่วันได้รับโฉนดที่ดิน ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินไปยังผู้อื่นมิได้นอกจากการตกทอดทางมรดก หรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่แล้วแต่กรณี ดังนั้นแม้ ส.บุตรจำเลยจะซื้อที่ดินพิพาทจาก ผ.สามีโจทก์และรับมอบการครอบครองตั้งแต่วันที่ซื้อตลอดมา จนกระทั่งจำเลยรับโอนครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องมาถึงวันที่ยื่นคำร้องขอต่อศาลขอแสดงกรรมสิทธิ์ก็ตาม แต่จำเลยจะนำระยะเวลาก่อนวันที่พ้นระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมายมาเป็นระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 หาได้ไม่
แม้จำเลยจะมีคำสั่งของศาลชั้นต้นถึงที่สุดแสดงว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและไม่ใช่คู่ความในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (2) โจทก์จึงสามารถพิสูจน์ได้ว่าโจทก์ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยโต้แย้งกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของตน โจทก์จึงชอบที่จะนำคดีมาฟ้องศาลได้ ไม่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตแต่อย่างใด
คำสั่งศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ถึงที่สุดแล้ว ไม่อาจถูกเพิกถอนได้ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นด้วยจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาพิพากษายืน แต่ไม่เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว

Share