คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1307/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยได้ยินยอมลงชื่อในเอกสารที่มีใจความว่าโจทก์สัญญาว่าจะไม่ประพฤติการต่าง ๆ ให้เป็นที่เสียหายต่อจำเลย หากทำให้จำเลยเสียหายยอมให้จำเลยหักเอาจากเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยได้ ไม่มีข้อความตอนใดที่แสดงว่าโจทก์จะเรียกร้องสิ่งใดจากจำเลยได้บ้าง และไม่มีกฎหมายบังคับว่าความยินยอมของลูกจ้างเช่นนี้จะต้องทำตามแบบอย่างไร ดังนั้นเพียงแต่โจทก์แสดงเจตนาฝ่ายเดียวก็เป็นการเพียงพอที่จะทำให้จำเลยมีสิทธิหักเงินเดือนของโจทก์มาชดใช้เงินค่าอาหารและค่าอุปกรณ์การเรียนของบุตรที่โจทก์เบิกไปโดยไม่มีสิทธิได้ โดยจำเลยไม่จำเป็นต้องลงชื่อในเอกสารดังกล่าวด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างโจทก์ได้ฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๓๐ โดยสั่งหักหนี้อื่นจากเงินเดือนของโจทก์เพื่อชดใช้เงินค่าเล่าเรียนบุตรซึ่งโจทก์เบิกไปโดยได้รับอนุญาตการจ่ายตามระเบียบแล้ว และเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน ๑,๒๘๐ บาท ที่จำเลยหักไปคืนแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์นำเงินค่าอาหารและค่าอุปกรณ์การเรียนของบุตรมาเบิกเป็นค่าเล่าเรียนบุตรจึงไม่ถูกต้องตามระเบียบของจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิหักเงินเดือนโจทก์ จำเลยมิได้ฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย และข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า หนี้เงินที่จำเลยหักจากเงินเดือนโจทก์มิใช่หนี้อื่นแต่เป็นหนี้ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามสัญญาจ้างแรงงาน จึงไม่ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ ๓๐ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ค่าอาหารและค่าอุปกรณ์การเรียนไม่ใช่เงินค่าเล่าเรียนตามระเบียบของธนาคารจำเลย แต่ยังมีปัญหาว่ามีข้อตกลงให้จำเลยมีสิทธิหักเงินของโจทก์หรือไม่ จึงพิพากษาให้ศาลแรงงานกลางสืบพยานในประเด็นดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังว่ามีข้อตกลงให้หักหนี้ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าเอกสารทั้งสามฉบับที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเป็นข้อตกลงให้จำเลยมีสิทธิหักเงินเดือนโจทก์นั้นเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวเพราะมีผู้ลงชื่อในเอกสารเพียงฝ่ายเดียวจึงถือเป็นสัญญาไม่ได้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เอกสารดังกล่าวมีความว่า หากข้าพเจ้าทำให้ธนาคารออมสินเสียหายด้วยประการใด ๆ ข้าพเจ้ายินยอมให้ธนาคารออมสินเรียกร้องจากหลักประกันได้โดยตรงหรือยึด จำหน่าย จ่ายโอน หัก หรือถือเอาจากหลักประกัน หรือหักเอาจากเงินที่มีสิทธิได้จากธนาคารออมสิน โดยทั้งหมดหรือบางส่วน เพื่อการชำระชดใช้ค่าเสียหายเช่นว่านั้นได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องฟ้องร้องข้าพเจ้าก่อน หรือสุดแต่ธนาคารออมสินจะเห็นควร ท้ายเอกสารดังกล่าวลงชื่อโจทก์และพยานอีก ๒ คน ใจความในเอกสารทั้งสามฉบับมีเฉพาะเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยสัญญาว่าจะไม่ประพฤติการต่าง ๆ ให้เป็นที่เสียหายต่อจำเลย หากกระทำให้จำเลยเสียหายยินยอมให้จำเลยปฏิบัติต่อโจทก์อย่างไรบ้าง ไม่มีข้อความตอนใดในเอกสารทั้งสามฉบับว่าโจทก์จะเรียกร้องสิ่งใดจากจำเลยได้บ้าง ดังนี้จึงไม่มีความจำเป็นที่จำเลยจะต้องลงชื่อในเอกสารทั้งสามฉบับนั้นด้วย นอกจากนี้ไม่มีกฎหมายบังคับไว้ที่ใดว่า ความยินยอมของลูกจ้างเช่นนี้จะต้องทำตามแบบอย่างไร ฉะนั้นเพียงแต่โจทก์แสดงเจตนาฝ่ายเดียวว่า เมื่อโจทก์ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายโจทก์ยอมให้จำเลยหักเงินที่โจทก์มีสิทธิได้จากจำเลยได้ก็เป็นการเพียงพอที่จะทำให้จำเลยมีสิทธิหักเงินเดือนของโจทก์มาชดใช้เงินที่โจทก์เบิกไปโดยไม่มีสิทธิได้แล้ว หาจำเป็นที่จะต้องให้จำเลยลงชื่อในเอกสารดังกล่าวด้วยไม่ อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share