แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ส.เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ.จึงต้องรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนดังกล่าวโดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1077 (2) เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดฮ.ผิดนัดชำระหนี้ภาษีอากรค้างแก่จำเลย จำเลยย่อมมีสิทธิเรียกให้ ส.ชำระหนี้ดังกล่าวได้ตามมาตรา1070 ประกอบด้วยมาตรา 1080 แม้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ.ต้องเลิกกันโดยผลของกฎหมายเนื่องจาก ส.ตายแล้วก็ตาม ทรัพย์สินกองมรดกของ ส.ก็ต้องตกเป็นทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 วรรคสอง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายสุเทพ อภิรัตนาวุฒิก่อนถึงแก่กรรมนายสุเทพเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดเพียงคนเดียวของห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮั่วไถ่ จำเลยที่ ๑ มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปี พ.ศ. ๒๕๑๑ – ๒๕๑๕ ต่อห้างหุ้นส่วนดังกล่าวให้ชำระภาษีแก่จำเลยที่ ๑ ต่อมาจำเลยที่ ๓ ได้ยึดที่ดินมีโฉนด ๓ แปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นมรดกของนายสุเทพเพื่อนำไปชำระหนี้ภาษีอากรค้าง อันเป็นการไม่ชอบเพราะมิใช่ทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮั่วไถ่ ขอให้เพิกถอนการยึด
จำเลยให้การว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮั่วไถ่ เป็นหนี้ค่าภาษีอากรค้างและไม่มีทรัพย์สินพอที่จะนำไปชำระหนี้ดังกล่าวได้นายสุเทพ อภิรัตนวุฒิ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดเพียงคนเดียวของห้างหุ้นส่วนดังกล่าว เมื่อถึงแก่กรรมห้างหุ้นส่วนดังกล่าวต้องเลิกไปโดยผลของกฎหมายทรัพย์สินกองมรดกของนายสุเทพรวมทั้งที่ดินพิพาททั้ง ๓ แปลงต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรค้าง จำเลยที่ ๓ จึงมีสิทธิยึดที่ดินพิพาทเพื่อบังคับชำระหนี้ดังกล่าวได้
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ปล่อยที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ยึด
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยในประเด็นว่าจำเลยมีสิทธิยึดทรัพย์มรดกของนายสุเทพ อภิรัตนาวุฒิ หรือไม่ว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่านายสุเทพเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดคนเดียวของห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮั่วไถ่ เมื่อนายสุเทพถึงแก่กรรม ห้างหุ้นส่วนดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกไปโดยผลของกฎหมาย ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮั่วไถ่ ไม่ชำระค่าภาษีอากรค้างตามคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๓ จึงยึดทรัพย์ที่ดินพิพาททั้ง ๓ แปลงตามฟ้อง ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายสุเทพเพื่อบังคับชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้าง เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๗๗ (๒) บัญญัติว่าผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดจะต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนไม่จำกัดจำนวน เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮั่วไถ่ซึ่งมีนายสุเทพเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดเพียงคนเดียว และห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮั่วไถ่มีหนี้ภาษีอากรค้างซึ่งจะต้องชำระแก่จำเลย แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮั่วไถ่ ไม่ยอมชำระ ถือได้ว่าเป็นการผิดนัดซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๗๐ ประกอบด้วยมาตรา ๑๐๘๐ บัญญัติให้เจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนชอบที่จะเรียกให้ชำระหนี้เอาแต่หุ้นส่วนผู้จัดการได้ ดังนั้นเมื่อห้างหุ้นส่วนดังกล่าวเป็นอันเลิกไป นายสุเทพจึงต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนนั้นอย่างไม่มีจำกัดจำนวน ซึ่งก็ย่อมรวมถึงหนี้ภาษีอากรค้างตามฟ้องด้วย แต่เนื่องจากนายสุเทพได้ถึงแก่กรรม ทรัพย์สินกองมรดกของนายสุเทพจึงตกเป็นทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากร ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๒ วรรคสอง นั่นเอง เป็นเรื่องที่สืบเนื่องต่อกันมาตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องมีบทบัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรโดยเฉพาะอีกดังนี้ การที่จำเลยยึดทรัพย์สินตามฟ้อง เพื่อบังคับชำระหนี้ภาษีอากรค้างจึงเป็นการชอบแล้ว
พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.