แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 181 บัญญัติกำหนดเวลาที่จะบอกล้างนิติกรรมที่เป็นโมฆียะว่าจะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ หรือเมื่อพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ การที่จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของผู้ตายทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทตามหนังสือมอบอำนาจอันเป็นโมฆียะให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2507 โจทก์ซึ่งเป็นทายาทฟ้องคดีวันที่ 12 กรกฎาคม 2539 จึงล่วงพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกล้างและฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทได้
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ซึ่งเป็นทายาทมีสิทธิฟ้องคดีเรียกทรัพย์คืนจากบุคคลภายนอกผู้ไม่มีสิทธิ และสามารถฟ้องได้โดยไม่มีกำหนดอายุความนั้น คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทตามฟ้องและคำให้การว่าโจทก์บอกล้างนิติกรรมที่เป็นโมฆียะเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ หรือเมื่อพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 181 หรือไม่ ไม่มีประเด็นเรื่องโจทก์มีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากบุคคลภายนอกผู้ไม่มีสิทธิโดยไม่มีกำหนดอายุความตามที่โจทก์ฎีกา ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นฎีกาที่นอกฟ้องนอกประเด็นถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.พ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่า โจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 458 ผู้ตายถูกทำร้ายกลายเป็นคนวิกลจริตตั้งแต่ประมาณปี 2500 จนกระทั่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2535 และเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2507 จำเลยที่ 1 อาศัยโอกาสที่ผู้ตายเป็นคนวิกลจริตโดยทำหนังสือมอบอำนาจปลอมและหลอกลวงให้ผู้ตายลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และจำเลยที่ 1 นำที่ดินดังกล่าวโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2507 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รู้อยู่แล้วว่าผู้ตายเป็นคนวิกลจริตและไม่มีเจตนาขายที่ดิน ต่อมาวันที่ 15 มกราคม 2531 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โอนขายที่ดินให้จำเลยที่ 5 ภายหลังจำเลยที่ 5 โอนขายให้แก่จำเลยที่ 6 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2531 และจำเลยที่ 6 โอนขายให้แก่จำเลยที่ 7 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2536 ต่อมาประมาณปลายปี 2538 โจทก์ทราบความจริงดังกล่าว ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยทั้งเจ็ด ให้จำเลยที่ 7 ส่งมอบโฉนดที่ดินคืนโจทก์ และให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะเพิกถอนนิติกรรมและส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทคืนโจทก์
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 4 ถึงแก่ความตายก่อนโจทก์เสนอคำฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 6 และที่ 7 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกทายาทของจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งบุคคลผู้ถูกเรียกเป็นคู่ความแทน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าฤชาธรรมเนียมศาลที่โจทก์เสียมาทั้งหมดแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่า โจทก์ซึ่งเป็นทายาทฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลา 10 ปี นับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 181 จึงไม่มีอำนาจบอกล้างและฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาท ชอบหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เพิ่งทราบถึงนิติกรรมที่เป็นโมฆียะก่อนฟ้องไม่ถึงปีจึงมีอำนาจบอกล้างและฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ แม้จะฟ้องเกินเวลา 10 ปี นับแต่วันทำนิติกรรมนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 181 บัญญัติกำหนดเวลาที่จะบอกล้างนิติกรรมที่เป็นโมฆียะว่า โมฆียะนั้นจะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้หรือเมื่อพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น จะเห็นได้ว่ากฎหมายกำหนดเวลาที่จะบอกล้างนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ เมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่วันเวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ซ้อนอยู่กับกำหนดเวลาเมื่อพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรม เหตุที่กำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ เนื่องจากเวลาที่อาจให้สัตยาบันของผู้มีสิทธิบอกล้าง คือเวลาที่สาเหตุแห่งความเป็นโมฆียะหมดสิ้นไปแล้วมีหลายกรณีสำหรับบุคคลที่บกพร่องในความสามารถที่ได้กลับมีความสามารถในการใช้สิทธิโดยสมบูรณ์ เช่น ผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะแล้ว คนวิกลจริตหายจากวิกลจริตแล้ว หรือทายาทของบุคคลดังกล่าวเวลาที่อาจให้สัตยาบันได้เริ่มนับแต่บุคคลผู้แสดงเจตนาเป็นเหตุให้นิติกรรมเป็นโมฆียะถึงแก่ความตาย ดังนั้น ถ้าเวลาที่อาจให้สัตยาบันได้เริ่มนับแล้วต้องใช้สิทธิบอกล้างภายในหนึ่งปีนับแต่เวลานั้น แต่กำหนดเวลาดังกล่าวก็อยู่ภายใต้กำหนดเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ เพราะแม้กำหนดเวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ยังไม่เริ่มนับแต่วันครบเวลาสิบปียังคงนับไปเรื่อยๆ และถ้าครบกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันทำนิติกรรมจะบอกล้างนิติกรรมไม่ได้ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทตามหนังสือมอบอำนาจให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2507 โจทก์ซึ่งเป็นทายาทฟ้องคดีเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2539 จึงล่วงพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกล้างและฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ซึ่งเป็นทายาทมีสิทธิฟ้องคดีเรียกทรัพย์คืนจากบุคคลภายนอกผู้ไม่มีสิทธิ จึงสามารถฟ้องเรียกได้โดยไม่มีกำหนดอายุความนั้น เห็นว่า คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทตามฟ้องและคำให้การว่า โจทก์บอกล้างนิติกรรมที่เป็นโมฆียะเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ หรือเมื่อพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 181 หรือไม่ ไม่มีประเด็นเรื่องโจทก์มีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากบุคคลภายนอกผู้ไม่มีสิทธิโดยไม่มีกำหนดอายุความตามที่โจทก์ฎีกา ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นฎีกาที่นอกฟ้องนอกประเด็นถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียม ชั้นฎีกาให้เป็นพับ