คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13026/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 บัญญัติขึ้นเพื่อปรับปรุงเกี่ยวกับสิทธิและการถือครองที่ดินในที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รวมตลอดถึงการจัดที่อยู่อาศัยในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น โดยรัฐนำที่ดินของรัฐ หรือที่ดินที่รัฐจัดซื้อหรือเวนคืนจากเจ้าของที่ดินซึ่งมิได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นด้วยตนเอง หรือมีที่ดินเกินสิทธิตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อจัดให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองหรือเกษตรกรที่มีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ ฯลฯ มาตรา 39 บัญญัติว่า “ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม ฯลฯ
ในวันที่โจทก์ไปรับต้นฉบับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ข) เจ้าพนักงานที่ดินได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้วว่า ที่ดินดังกล่าวไม่สามารถโอนแก่บุคคลอื่นได้นอกจากทางมรดก เมื่อจำเลยและสามีเสนอขอซื้อที่ดินทั้งสามแปลงของโจทก์ในราคา 720,000 บาท โจทก์ได้แจ้งแก่จำเลยแล้วว่า ที่ดินสองแปลงที่มีหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ข) ถูก ม. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของโจทก์ยึดไว้ หากจำเลยจะซื้อที่ดินให้นำเงินไปชำระหนี้ส่วนหนึ่งด้วยเป็นเงิน 500,000 บาท เมื่อจำเลยได้นำเงินไปชำระหนี้ดังกล่าวและได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ข) คืนจาก ม. และโจทก์ได้รับหนังสือสัญญากู้ยืมเงินคืนแล้ว โจทก์ได้พาจำเลยไปยังที่ดินพิพาท ส่งมอบที่ดินพิพาทให้จำเลยเข้าทำประโยชน์ และโจทก์ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปี 2546 โดยโจทก์ไม่เคยคิดที่จะฟ้องจำเลยเนื่องจากได้ขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยแล้ว จนโจทก์ได้รับหนังสือเตือนจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ดังนี้ ย่อมถือว่าโจทก์ได้กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยขายสิทธิการทำกินในที่ดินพิพาทและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว การที่โจทก์มาฟ้องกล่าวอ้างว่าตนเองยังเป็นผู้มีสิทธิทำกินในที่ดินพิพาทและฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารให้ออกไปจากที่ดินพิพาท จึงเป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและบริวาร ส่วนจำเลยจะได้สิทธิทำกินในที่ดินพิพาทหรือไม่ เป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ข) เลขที่ 2649 แปลงเลขที่ 7 กลุ่มที่ 3559 ของโจทก์ และห้ามเกี่ยวข้องใด ๆ อีกต่อไป ให้จำเลยจัดทำให้ที่ดินเป็นปกติดังเดิม หากไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายปีละ 100,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ข) เลขที่ 2649 แปลงเลขที่ 7 กลุ่มที่ 3559 อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์ และห้ามเกี่ยวข้องใด ๆ กับที่ดินอีก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อปี 2540 โจทก์ได้รับอนุญาตจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ให้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทในเขตปฏิรูปที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ข) เลขที่ 2649 แปลงเลขที่ 7 กลุ่มที่ 3559 อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื้อที่ 31 ไร่ 3 งาน 61 ตารางวา ต่อมาปี 2543 โจทก์ขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยและส่งมอบการครอบครองให้จำเลยเข้าทำประโยชน์ จนกระทั่งปี 2556 สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์มีหนังสือแจ้งให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาท แต่จำเลยไม่ยอม กลับนำรถแทรกเตอร์เข้าไถปลูกอ้อยกับต้นไม้ยืนต้นในที่ดินพิพาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่าพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 บัญญัติขึ้นเพื่อปรับปรุงเกี่ยวกับสิทธิและการถือครองที่ดินในที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รวมตลอดถึงการจัดที่อยู่อาศัยในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น โดยรัฐนำที่ดินของรัฐ หรือที่ดินที่รัฐจัดซื้อหรือเวนคืนจากเจ้าของที่ดินซึ่งมิได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นด้วยตนเอง หรือมีที่ดินเกินสิทธิตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อจัดให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองหรือเกษตรกรที่มีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ ฯลฯ มาตรา 39 บัญญัติว่า “ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม ฯลฯ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในวันที่โจทก์ไปรับต้นฉบับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ข) เจ้าพนักงานที่ดินได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้วว่า ที่ดินดังกล่าวไม่สามารถโอนแก่บุคคลอื่นได้นอกจากทางมรดก เมื่อจำเลยและสามีเสนอขอซื้อที่ดินทั้งสามแปลงของโจทก์ในราคา 720,000 บาท โจทก์ได้แจ้งแก่จำเลยแล้วว่า ที่ดินสองแปลงที่มีหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ข) ถูกนางมาลีซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของโจทก์ยึดไว้ หากจำเลยจะซื้อที่ดินให้นำเงินไปชำระหนี้ส่วนหนึ่งด้วยเป็นเงิน 500,000 บาท เมื่อจำเลยได้นำเงินไปชำระหนี้ดังกล่าวและได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ข) คืนจากนางมาลีและโจทก์ได้รับหนังสือสัญญากู้ยืมเงินคืนแล้ว โจทก์ได้พาจำเลยไปยังที่ดินพิพาท ส่งมอบที่ดินพิพาทให้จำเลยเข้าทำประโยชน์ และโจทก์ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปี 2546 โดยโจทก์ไม่เคยคิดที่จะฟ้องจำเลยเนื่องจากได้ขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยแล้ว จนโจทก์ได้รับหนังสือเตือนจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ดังนี้ ย่อมถือว่าโจทก์ได้กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยขายสิทธิการทำกินในที่ดินพิพาทและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว การที่โจทก์มาฟ้องกล่าวอ้างว่าตนเองยังเป็นผู้มีสิทธิทำกินในที่ดินพิพาทและฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารให้ออกไปจากที่ดินพิพาท จึงเป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและบริวาร ส่วนจำเลยจะได้สิทธิทำกินในที่ดินพิพาทหรือไม่ เป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาประการอื่นของโจทก์ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงได้ ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share