คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1302/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ทรัพย์ซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อชำระหนี้กับทั้งค่าอุปกรณ์อันรวมถึงดอกเบี้ยซึ่งคำนวณและถือได้เป็นรายวัน ดังนั้น ผู้จำนองจึงต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ยตั้งแต่วันจดทะเบียนจำนองเป็นต้นไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาทรัสตรีซีท ไว้กับโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 จดทะเบียนจำนองประกันหนี้ตามสัญญาดังกล่าว ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 5,143,887.18 บาท และหนี้ตามสัญญาทรัสตรีซีท จำนวน 209,104.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 350,000 บาท จึงรับผิดเพียงจำนวนดังกล่าว โจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ที่ 3ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้จำนวน 4,351,505.78บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 2,704,742.28 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบก็ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ชำระหนี้ดังกล่าวให้โจทก์แทนแทนจำเลยที่ 1 โดยให้ จำเลยที่ 2 รับผิดจำนวน 559,104.35 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 350,000 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2521 เป็นต้นไป และในต้นเงิน 112,412.20บาท นับแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2525 เป็นต้นไป กับให้จำเลยที่ 3รับผิดจำนวน 2,409,104.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 2,200,000 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2521 เป็นต้นไปและในต้นเงิน 112,412.20 บาท นับแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2525เป็นต้นไป ถ้าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบก็ให้บังคับจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จำนอง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 2,592,330.08บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1พฤศจิกายน 2521 จนถึงวันที่ 21 มีนาคม 2525 และชำระดอกเบี้ยต่อไปในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของยอดเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวในวันที่ 21 มีนาคม 2525 นับแต่วันที่ 22 มีนาคม 2525 และชำระเงินจำนวน 112,412.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 30 กันยายน 2520 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ก็ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ชำระหนี้ดังกล่าวแทนโดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดจำนวน350,000 บาท และ 2,220,000 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 มีนาคม 2525 และร่วมกับจำเลยที่ 1รับผิดจำนวนเงิน 112,412.20 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปีนับแต่วันที่ 30 กันยายน 2520 ทั้งนี้จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามฎีกาโจทก์ข้อแรกว่าจำนวนเงินค่าดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดแทนจำเลยที่ 1ต่อโจทก์ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์นั้น ต่ำไปกว่าที่โจทก์ควรจะได้รับ กล่าวคือศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดเรื่องดอกเบี้ยตั้งแต่ 22 มีนาคม 2525 อันเป็นวันครบกำหนดให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ตามหนังสือบอกกล่าวของโจทก์นั้นไม่ชอบ ข้อนี้เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715 บัญญัติว่า ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับทั้งค่าอุปกรณ์ต่อไปนี้ด้วย คือ (1) ดอกเบี้ย ฯลฯ และตามมาตรา 111 บัญญัติไว้มีใจความว่าดอกเบี้ยย่อมคำนวณและถือได้เป็นรายวัน ดังนั้นเมื่อมีการจำนองเพื่อประกันหนี้แล้วทรัพย์สินที่จำนองต้องเริ่มผูกพันรับผิดตั้งแต่วันที่เอาทรัพย์สินจำนอง กรณีของจำเลยที่ 2 เริ่มจดทะเบียนจำนองครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2519 เป็นจำนวน 300,000 บาทต่อมาวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2521 จำเลยที่ 2 ขอขึ้นเงินจำนองอีก50,000 บาท รวมเป็นเงิน 350,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.4และ จ.7 ส่วนจำเลยที่ 3 ได้จำนองที่ดินไว้กับโจทก์เพื่อประกันหนี้จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2521 เป็นเงิน 2,200,000 บาทซึ่งในวันที่ 29 มีนาคม 2521 อันเป็นวันที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 2เริ่มรับผิดเรื่องดอกเบี้ยนั้นปรากฏตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมายจ.217 ว่าวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอยู่จำนวน 359,969.45 บาท ซึ่งเกินกว่าจำนวนที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 แล้ว และหลังจากนั้นหนี้ของจำเลยที่ 1 ก็เพิ่มขึ้นจากจำนวนดังกล่าวโดยลำดับ จำเลยที่ 2จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในต้นเงินตามที่จดทะเบียนจำนองคือ 350,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยคิดแบบทบต้นจนถึงวันที่ครบกำหนดการบอกกล่าวให้ชำระหนี้และบังคับจำนองคือวันที่ 21 มีนาคม 2525ต่อจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นจากต้นเงิน 350,000 บาทจนกว่าจำเลยที่ 2 จะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ มิใช่คิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นต่อไปจากต้นเงินจำนวน 634,085.65 บาท ตามที่โจทก์ฎีกาเพราะจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในต้นเงินไม่เกิน 350,000 บาทเท่านั้นส่วนกรณีของจำเลยที่ 3 ซึ่งจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ของจำเลยที่ 1ไว้ 2,200,000 บาท และโจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 3 รับผิดเรื่องดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 3 จดทะเบียนจำนองคือวันที่ 29มีนาคม 2521 จากต้นเงิน 1,869,969.45 บาท อันเป็นจำนวนที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ในวันดังกล่าวนั้น ปรากฏว่าตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.217 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ตามจำนวนหนี้ดังกล่าวจริง หลังจากนั้นหนี้ของจำเลยที่ 1ก็เพิ่มขึ้นจากจำนวนดังกล่าวโดยลำดับ นอกจากต้นเงินแล้วจำเลยที่ 3จึงต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ย ตั้งแต่วันจดทะเบียนจำนองอัตราร้อยละ15 ต่อปี จากต้นเงิน 1,869,969.45 บาท คิดแบบทบต้นไปจนถึงวันที่21 มีนาคม 2525 เช่นกัน แต่จำนวนต้นเงินนั้นจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดไม่เกิน 2,200,000 บาท ดังนั้น การคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นต่อไปจึงต้องคิดจากต้นเงิน 2,200,000 บาท เท่านั้น มิใช่จากต้นเงินจำนวน 3,385,427.05 บาท ตามที่โจทก์ฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า หนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ชำระหนี้ให้โจทก์แทนจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 รับผิดในต้นเงินจำนวน350,000 บาท และ 2,200,000 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยทบต้นร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 350,000 บาท และ 1,869,969.45 บาทนับแต่วันที่ 29 มีนาคม 2521 ถึงวันที่ 21 มีนาคม 2525 ต่อจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยอัตราเดียวกันแบบไม่ทบต้นในต้นเงิน 350,000 บาทและ 2,200,000 บาท ตามลำดับ จนกว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share