คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12972/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพินัยกรรมข้อ 22 มีข้อความระบุให้สถานีบริการน้ำมันพร้อมที่ดินได้แก่ ช. ผู้เป็นทายาท เมื่อ ช. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรจึงเป็นทายาทผู้รับโอนทรัพย์มรดกจาก ช. ชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทในการอ้างอายุความมรดกยันโจทก์ผู้เป็นทายาทได้
เดิมโรงน้ำแข็ง โรงเรือนและอาคารปลูกสร้างอยู่ในที่ดินแปลงใหญ่ ต่อมาเจ้ามรดกได้แบ่งแยกที่ดินออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 11295 เป็นที่ตั้งสถานีบริการน้ำมัน และโฉนดเลขที่ 11296 เป็นที่ตั้งโรงน้ำแข็ง ขณะเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ได้ใช้ในกิจการทุกอย่างของเจ้ามรดก และเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวยังคงใช้ในกิจการร่วมกันตลอดมา โดยโจทก์ช่วยดูแลกิจการโรงน้ำแข็งและสถานีบริการน้ำมันของเจ้ามรดก และที่ดินโฉนดเลขที่ 11295 บางส่วนให้บริษัท ท. เช่า จึงถือว่าโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกที่ดินตามพินัยกรรมซึ่งยังไม่ได้แบ่งกัน ส่วนที่ดินที่ให้บริษัท ท. เช่านั้น ถือว่าผู้เช่าครอบครองแทนทายาทรวมทั้งโจทก์ด้วย ดังนั้นแม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความหนึ่งปี นับแต่เมื่อทายาทได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก หรือกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย โจทก์ผู้เป็นทายาทยังมีสิทธิเรียกร้องขอให้แบ่งทรัพย์มรดกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 และ 1754
การตีความข้อใดข้อหนึ่งในพินัยกรรมที่อาจตีความได้เป็นหลายนัย ให้ถือเอาตามนัยที่จะสำเร็จผลตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมนั้นได้ดีที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1684 และต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษรตามมาตรา 171 จึงต้องพิจารณาจากข้อความที่กำหนดในพินัยกรรมเพื่อหาเจตนาที่แท้จริงของผู้ทำพินัยกรรมว่าเป็นเช่นไร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งว่าที่ดินบางส่วนทางด้านทิศเหนือของที่ดินโฉนดเลขที่ 11295 ตำบลปากพูน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช กว้าง 20 เมตร ยาว 69 เมตร รวมเนื้อที่ 345 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินตามแผนที่สังเขปท้ายคำฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ห้ามจำเลยที่ 3 และที่ 4 เข้าเกี่ยวข้องในที่ดิน เพิกถอนนิติกรรมให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 11295 ระหว่างนายชัยรัตน์ กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับเพิกถอนนิติกรรมโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 11295 ระหว่าง จำเลยที่ 1 และที่ 2 (ที่ถูก ระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายชัยสงวน) ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุพรกับนายชัยรัตน์ โดยให้เจ้ามรดกเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าว ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินบางส่วนทางด้านทิศเหนือของที่ดินโฉนดเลขที่ 11295 ตำบลปากพูน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื้อที่ 345 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความให้
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์ จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 นายชัยรัตน์ และนายชัยสงวน เป็นบุตรของนายสุพร จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นบุตรนายชัยรัตน์ นายสุพรถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2538 ก่อนตาย นายสุพรทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท ซึ่งพินัยกรรมข้อ 21 ระบุให้โรงน้ำแข็งพร้อมที่ดินที่ใช้สำหรับโรงน้ำแข็งตกได้แก่โจทก์ และข้อ 22 ระบุให้สถานีบริการน้ำมันพร้อมที่ดินที่ใช้สำหรับสถานีบริการน้ำมันตกได้แก่นายชัยรัตน์ โรงน้ำแข็งและสถานีบริการน้ำมันดังกล่าวตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 11296 และ 11295 ตำบลปากพูน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามลำดับ โดยที่ดินทั้งสองแปลงแบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2345 ตำบลปากพูน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 345 ตารางวา ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 11295 จำเลยที่ 1 กับนายชัยสงวนเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2546 จำเลยที่ 1 กับนายชัยสงวนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 11295 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่นายชัยรัตน์ ต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2546 จำเลยที่ 1 กับนายชัยสงวนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 11296 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ ภายหลังนายชัยสงวนถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนายสุพร
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า ผู้ที่จะยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้จะต้องเป็นผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกนั้นด้วย แต่จากข้อกำหนดในพินัยกรรม นายชัยรัตน์มีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรมในที่ดินส่วนที่เป็นสถานีบริการน้ำมันเท่านั้น ไม่รวมถึงที่ดินพิพาท จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้นั้น เห็นว่า ตามพินัยกรรม ข้อ 22 มีข้อความระบุให้สถานีบริการน้ำมันพร้อมที่ดินใช้สำหรับสถานีบริการน้ำมันได้แก่นายชัยรัตน์ผู้เป็นทายาท แต่เมื่อต่อมานายชัยรัตน์ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรจึงเป็นทายาทผู้รับโอนทรัพย์มรดกจากนายชัยรัตน์ชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทในการอ้างอายุความมรดกยันโจทก์ผู้เป็นทายาทได้เช่นกัน ข้ออ้างของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏว่าโรงน้ำแข็ง โรงเรือนและอาคารปลูกสร้างเดิมอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2345 ซึ่งเป็นที่ดินแปลงใหญ่ ต่อมาปี 2519 เจ้ามรดกได้แบ่งแยกที่ดินออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 11295 อันเป็นสถานที่ตั้งสถานีบริการน้ำมัน และโฉนดเลขที่ 11296 อันเป็นสถานที่ตั้งโรงน้ำแข็ง ซึ่งขณะนั้นเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ได้ใช้ในกิจการทุกอย่างของเจ้ามรดก และเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ในปี 2538 โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวยังคงใช้ในกิจการร่วมกันตลอดมาโดยโจทก์ช่วยดูแลกิจการโรงน้ำแข็งและสถานีบริการน้ำมันของเจ้ามรดกซึ่งเป็นบิดา และที่ดินโฉนดเลขที่ 11295 บางส่วนให้บริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เช่า จึงถือว่าโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกที่ดินตามพินัยกรรมซึ่งยังไม่ได้แบ่งกัน สำหรับที่ดินส่วนที่ให้บริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เช่านั้น ถือว่าผู้เช่าครอบครองแทนทายาทรวมทั้งโจทก์ด้วย ดังนั้น แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่เมื่อทายาทได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดกหรือกำหนด 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย โจทก์ผู้เป็นทายาทก็ยังมีสิทธิเรียกร้องขอให้แบ่งทรัพย์มรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 และ 1754 คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ข้อกำหนดพินัยกรรมข้อ 21 ที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกโรงน้ำแข็งพร้อมที่ดินที่ใช้สำหรับโรงน้ำแข็งให้โจทก์ และได้ความว่าพื้นที่สำหรับทำโรงน้ำแข็งส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 11296 ส่วนที่ตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าสำหรับใช้กับเครื่องผลิตน้ำแข็ง โรงงานซ่อมอุปกรณ์เครื่องผลิตน้ำแข็ง สำนักงานขาย และอาคารคอนกรีตซึ่งใช้เป็นโกดังเก็บอุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับเครื่องผลิตน้ำแข็งตั้งอยู่บนที่ดินบางส่วนของโฉนดเลขที่ 11295 อันเป็นที่ดินพิพาท ดังนั้นการตีความข้อใดข้อหนึ่งในพินัยกรรมที่อาจตีความได้เป็นหลายนัยจึงให้ถือเอาตามนัยที่จะสำเร็จผลตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมนั้นได้ดีที่สุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1684 และต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษรตามมาตรา 171 จึงต้องพิจารณาจากข้อความที่กำหนดในพินัยกรรมเพื่อหาเจตนาที่แท้จริงของผู้ทำพินัยกรรมว่าเป็นเช่นไร โดยในเรื่องนี้นายวัชราพยานโจทก์ผู้ทำพินัยกรรมเบิกความว่า ทำพินัยกรรมที่โรงพยาบาลสมิติเวชตามคำบอกเล่าของเจ้ามรดกโดยไม่ได้นำเอกสารที่เกี่ยวข้องมาให้ดูประกอบ แต่พิจารณากิจการที่ยกให้เป็นหลักโดยรวมทั้งที่ดินที่จะใช้เกี่ยวกับกิจการนั้นด้วย ซึ่งหากเจ้ามรดกต้องการให้ผู้รับมรดกเป็นกิจการก็จะระบุลักษณะของกิจการ ทรัพย์ใดจะยกให้เป็นที่ดินก็จะระบุรายละเอียดของที่ดินเพียงคร่าว ๆ โดยเมื่อศาลพิจารณาข้อความจากพินัยกรรมแล้ว มีข้อกำหนดพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้ตามลักษณะกิจการและทรัพย์ที่เป็นที่ดิน สอดคล้องกับคำเบิกความของนายวัชราผู้ทำพินัยกรรม ทำให้พยานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า โรงเรือนซึ่งเป็นสำนักงานขายน้ำแข็ง โรงซ่อมบำรุง โกดังและที่ตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าสำหรับเดินเครื่องจักรผลิตน้ำแข็งอยู่ในที่ดินพิพาทและเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 11295 ความประสงค์ของเจ้ามรดกในการทำพินัยกรรม จึงมีความหมายถึงต้องการยกกิจการโรงน้ำแข็งพร้อมที่ดินที่ใช้สำหรับโรงน้ำแข็งซึ่งรวมตลอดถึงโรงเรือน โรงซ่อมบำรุง โกดังและที่ตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าซึ่งล้วนแต่เป็นทรัพย์ที่ใช้ในกิจการของโรงน้ำแข็งที่ตั้งอยู่ในที่ดินพิพาทด้วย ตามข้อกำหนดพินัยกรรมข้อ 21 ส่วนสถานีบริการน้ำมันพร้อมที่ดินใช้สำหรับปั๊มน้ำมันได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 4 ตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า บริเวณที่ดินที่บริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เช่า มีรั้วปูนซีเมนต์โดยรอบสูงประมาณ 1 เมตรเศษ ด้านหลังมีประตูเข้าออกไปสู่ที่ดินด้านหลังได้ จึงรับฟังได้ว่ากิจการสถานีบริการน้ำมันและที่ดินสำหรับประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมันมีอาณาเขตแน่นอน และไม่รวมถึงที่ดินพิพาทที่เป็นส่วนของกิจการโรงน้ำแข็ง ฉะนั้น แม้ที่ดินพิพาทจะอยู่คนละฟากกับบริเวณโรงน้ำแข็งโดยมีถนนส่วนบุคคลของโจทก์คั่นกลาง และสถานที่โรงน้ำแข็งส่วนใหญ่กับบริเวณสถานีบริการน้ำมันตั้งอยู่บนที่ดินคนละแปลงเพราะสาเหตุเนื่องจากเดิมตั้งอยู่บนที่ดินแปลงใหญ่ก่อนแบ่งแยก แต่เจตนาของเจ้ามรดกในการยกทรัพย์มรดกมุ่งถึงกิจการที่ยกให้เป็นสำคัญ โดยมิได้มุ่งถึงตัวทรัพย์ เช่นที่ดินเป็นหลัก เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบพยานโจทก์และพยานจำเลยแล้ว เห็นว่า พยานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้มากกว่าพยานจำเลย ดังนั้นที่ดินพิพาทจึงเป็นส่วนหนึ่งของกิจการโรงน้ำแข็งและตกได้แก่โจทก์ตามข้อกำหนดในพินัยกรรมข้อ 21 การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 11295 ทั้งแปลงรวมทั้งในส่วนที่ดินพิพาทให้แก่นายชัยรัตน์ไม่ชอบด้วยข้อกำหนดพินัยกรรม และการที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 11295 มาทั้งแปลงจึงเป็นการรับมรดกเกินส่วนที่นายชัยรัตน์จะได้รับตามข้อกำหนดพินัยกรรมเช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 11295 ตำบลปากพูน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างจำเลยที่ 1 และนายชัยสงวนในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุพรกับนายชัยรัตน์ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2546 และเพิกถอนนิติกรรมให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 11295 ระหว่างนายชัยรัตน์ กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2546 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แบ่งแยกที่ดินบางส่วนทางด้านทิศเหนือของที่ดินโฉนดเลขที่ 11295 ตำบลปากพูน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช กว้าง 20 เมตร ยาว 69 เมตร เนื้อที่ 345 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท

Share