คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1296/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตึกแถวสองชั้นในย่านประชุมชนทำเลการค้า สภาพของตึกแถวสร้างไว้เป็นที่ทำการค้า ผู้เช่าใช้ทำการค้า และเป็นสำนักงานทนายความไม่เป็นเคหะอันจะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขันฯ

ย่อยาว

คดีมีปัญหาว่า ตึกแถวที่เช่าเป็นเคหะตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าหรือไม่ ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ขับไล่จำเลย โดยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังนี้

“ปัญหาอันเป็นข้อโต้เถียงในคดีนี้อยู่ที่ว่า ห้องพิพาทซึ่งจำเลยได้ทำสัญญาเช่าต่อโจทก์โดยมีข้อความในสัญญาเช่าว่า เช่าเพื่อค้าขายสิ่งของเบ็ดเตล็ดและอยู่อาศัยตามสัญญาข้อ 1 นั้นจะเป็นเคหะตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 หรือไม่ มาตรา 3 บัญญัติว่า “เคหะหมายความว่าสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยโดยไม่ต้องคำนึงว่าจะใช้เป็นที่ประกอบธุรกิจการค้าหรืออุตสาหกรรมด้วย เป็นส่วนประธานหรืออุปกรณ์” ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ในคดีที่ 1099 ถึง 1147 พ.ศ. 2491 คดีระหว่างพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักร์พงษ์โดยนายสถิตย์ นิยมศิลป์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ นายจงโหงว แซ่จูกับพวกจำเลยว่า กฎหมายประสงค์จะคุ้มครองการเช่าอันใช้เป็นที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ในทางกลับกันกฎหมายมิได้มุ่งคุ้มครองการเช่าเพื่อประกอบธุรกิจ ฯลฯ จะต้องพิจารณาเจตนาของคู่กรณี สภาพของสิ่งปลูกสร้าง อัตราค่าเช่า ทำเลและการปฏิบัติของคู่สัญญารวม ๆ กันว่า การเช่าสิ่งปลูกสร้างนั้นเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือไม่ตึกแถวพิพาทรายนี้เป็นตึกแถวสองชั้นอยู่ในย่านประชุมชน อยู่ในทำเลการค้า สองฟากถนนมีแต่ร้านค้า สภาพของตึกแถวก็ปลูกสร้างไว้สำหรับเป็นสถานที่ทำการค้า เมื่อจำเลยเช่าแล้วก็ได้ทำการค้ามีชื่อร้านค้าว่า ไชยศิริ ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น เหตุต่าง ๆ ประกอบกันน่าเชื่อว่า เจตนาของคู่สัญญารายนี้เป็นการเช่าเพื่อประกอบกิจการค้า อนึ่ง คดีนี้โจทก์ยังได้กล่าวฟ้องด้วยว่าจำเลยได้ใช้ห้องที่เช่าเป็นสำนักงานทนายความโดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ด้วย ฝ่ายจำเลยไม่ได้ปฏิเสธ และรับว่าได้ใช้สถานที่เช่ารับว่าความเป็นอาชีพตลอดมา การใช้สถานที่เช่าเป็นสำนักงานทนายความศาลนี้ก็ยังเห็นว่ามิใช่เป็นการเช่าเพื่ออยู่อาศัย ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การเช่ารายนี้ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน ชอบแล้ว”

Share