คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12953/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยอ้างว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์เช่าซื้อเป็นจำเลยที่ 1 โจทก์ให้การว่า จำเลยที่ 1 ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่าจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ครบถ้วนแล้วหรือไม่ ส่วนคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า หลังทำสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อบางส่วน แล้วเสนอขอทำสัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่ โดยโจทก์นำค่าเช่าซื้อบางส่วนไปชำระปิดบัญชีค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ยังค้างอยู่ ส่วนที่เหลือโจทก์สั่งจ่ายแคชเชียร์เช็คระบุชื่อจำเลยที่ 1 และมีการนำฝากเข้าบัญชีของโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ปฏิเสธว่าไม่เคยทำสัญญาเช่าซื้อฉบับหลังกับโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การว่าไม่เคยทำสัญญาเช่าซื้อฉบับหลังกับโจทก์ จำเลยทั้งสองไม่ต้องคืนเงินโจทก์ ประเด็นแห่งคดีนี้จึงมีว่า จำเลยที่ 1 รับเงินตามฟ้องไปจากโจทก์จริงหรือไม่และเป็นการรับไว้โดยมูลอันจะอ้างตามกฎหมายหรือไม่ อันเป็นคนละประเด็นกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 727,772.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2544 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน ภล 3377 กรุงเทพมหานคร กับโจทก์ ตกลงผ่อนชำระรวม 48 งวด หลังทำสัญญา จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ว่าชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมส่งมอบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์และเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ ขอให้บังคับโจทก์ส่งมอบสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พร้อมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์ให้การว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อฉบับลงวันที่ 4 มกราคม 2544 กับโจทก์จริง แต่จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เพียง 33 งวด และเสนอขอทำสัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่แทนสัญญาเช่าซื้อฉบับเดิม โจทก์และจำเลยที่ 1 จึงทำสัญญาเช่าซื้อฉบับลงวันที่ 16 ตุลาคม 2546 ในราคา 1,416,011.04 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อรวม 36 งวด จำเลยที่ 1 ยังผ่อนชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบ ขอให้ยกฟ้อง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ชี้สองสถานและกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ครบถ้วนหรือไม่ แล้ววินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ที่ยกขึ้นกล่าวอ้างมีเพียงสัญญาเช่าซื้อฉบับลงวันที่ 16 ตุลาคม 2546 และไม่มีเอกสารหลักฐานอื่นของโจทก์ที่แสดงว่าลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อฉบับดังกล่าวเป็นลายมือชื่อจำเลยที่ 1 จริงหรือไม่ ประกอบกับคำเสนอขอเช่าซื้อฉบับดังกล่าว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในคำเสนอด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์เพียงฉบับเดียวคือ ฉบับลงวันที่ 4 มกราคม 2544 เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 34 ถึงงวดที่ 48 ครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามสัญญา และพิพากษาให้โจทก์ส่งมอบคู่มือจดทะเบียนพร้อมเอกสารประจำรถของรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่จำเลยที่ 1 ตามคดีหมายเลขแดงที่ 10269/2548 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์จึงมาฟ้องเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 10269/2548 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ หรือไม่ เห็นว่า คดีก่อนจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นชื่อจำเลยที่ 1 โจทก์ให้การว่า จำเลยที่ 1 ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน ประเด็นแห่งคดีดังกล่าวจึงมีว่าจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วหรือไม่ ซึ่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ชี้สองสถานและกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ ส่วนคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อฉบับลงวันที่ 4 มกราคม 2544 แล้ว จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเพียง 33 งวดแล้วเสนอขอทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวเป็นฉบับใหม่ ในราคา 1,416,011.04 บาท โดยโจทก์นำเงินบางส่วนจากค่าเช่าซื้อดังกล่าวไปปิดบัญชีชำระค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ยังค้างอยู่ ส่วนเงินที่เหลือ 565,185.30 บาท โจทก์สั่งจ่ายเป็นแคชเชียร์เช็คระบุชื่อจำเลยที่ 1 และนำฝากเข้าบัญชีของโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ปฏิเสธว่าไม่เคยทำสัญญาเช่าซื้อฉบับลงวันที่ 16 ตุลาคม 2546 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิได้รับเงิน 565,185.30 บาท และต้องคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การว่า ไม่เคยทำสัญญาเช่าซื้อฉบับลงวันที่ 16 ตุลาคม 2546 หากโจทก์สั่งจ่ายเงินตามแคชเชียร์เช็คดังกล่าวจริง ก็เป็นการสั่งจ่ายให้แก่โจทก์เอง จำเลยทั้งสองไม่ได้เกี่ยวข้องจึงไม่ต้องคืนเงินแก่โจทก์ ประเด็นแห่งคดีนี้มีเพียงว่า จำเลยที่ 1 รับเงินตามฟ้องไปจากโจทก์จริงหรือไม่ และเป็นการรับไว้โดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้หรือไม่ อันเป็นคนละประเด็นกับคดีก่อน ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องคดีนี้ว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อฉบับลงวันที่ 16 ตุลาคม 2546 กับโจทก์ ก็เป็นเพียงการกล่าวอ้างให้เห็นถึงมูลที่มาของการเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยทั้งสองตามผลคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ซึ่งถึงที่สุดดังกล่าว หาใช่ประเด็นหลักที่โจทก์ประสงค์ให้ศาลคดีนี้วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อฉบับลงวันที่ 16 ตุลาคม 2546 กับโจทก์ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ ฟ้องโจทก์คดีนี้ไม่ใช่การรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้วินิจฉัยชี้ขาดโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงไม่เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาส่วนที่เสียเกินกว่า 200 บาท แก่โจทก์

Share