คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 129/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การขอแก้วันเวลากระทำผิดอันจำเป็นต้องกล่าวในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)นั้น เป็นการแก้รายละเอียด ซึ่งมาตรา 164 อนุญาตให้แก้ได้ มิให้ถือว่า ทำให้จำเลยเสียเปรียบเว้นแต่จำเลยได้หลงข้อต่อสู้
สืบพยานโจทก์ไปได้ 2 ปากโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้วันกระทำผิดในฟ้องเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยหลงข้อต่อสู้ ย่อมแก้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 340(1)จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นสืบพยานได้ 2 ปาก โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้วันกระทำผิด ศาลอนุญาต และดำเนินการพิจารณาต่อไป แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้อง ไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา ไม่อนุญาตให้แก่ และฟังว่าข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณาต่างกับฟ้อง พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การขอแก้วันเวลากระทำผิดอันจำเป็นต้องกล่าวในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) นั้น เป็นการแก้รายละเอียด ซึ่งตามมาตรา 164 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อนุญาตให้แก้ได้ มิให้ถือว่าจำเลยเสียเปรียบเว้นแต่จะได้หลงข้อต่อสู้ คดีนี้โจทก์ขอแก้ในระหว่างพิจารณา และไม่ปรากฏว่าจำเลยหลงข้อต่อสู้ประการใด โจทก์ชอบที่จะขอแก้ได้

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาข้อเท็จจริง แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ

Share