คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1289/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 20 เม็ดให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ กับจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการขายอีกจำนวน 150 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย น้ำหนักรวมกันทั้งหมด 15.25 กรัม เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลย และยึดได้ธนบัตรจำนวน 44,000 บาท ซึ่งเป็นธนบัตรที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ผู้ซื้อรายอื่นไป เมื่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(2) บัญญัติให้ในการริบทรัพย์สิน นอกจากศาลจะมีอำนาจริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยได้กระทำความผิดด้วย ดังนี้ เมื่อธนบัตรจำนวน 44,000 บาทเป็นเงินที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวนอื่นไปก่อนหน้าที่จำเลยถูกจับในคดีนี้ กรณีจึงเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้มาโดยได้กระทำความผิด ซึ่งศาลมีอำนาจริบเงินของกลางจำนวนดังกล่าวนี้ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2540 เวลากลางวันจำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยมีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1จำนวน 170 เม็ด น้ำหนักรวม 15.25 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโดยการขายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจำนวน 20 เม็ดน้ำหนักไม่ปรากฏชัด อันเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อไปในราคา 1,600 บาทเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยธนบัตรฉบับละ 500 บาทจำนวน 3 ฉบับ และธนบัตรฉบับละ 100 บาท จำนวน 1 ฉบับรวมเป็นเงิน 1,600 บาท ซึ่งเป็นธนบัตรที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวในฟ้องข้างต้น และยึดได้ธนบัตรจำนวน 44,000 บาท ที่ซุกซ่อนอยู่ในตะกร้าพลาสติกสีฟ้าซึ่งเป็นธนบัตรที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ผู้ซื้อรายอื่นไป กับตะกร้าพลาสติกสีฟ้า 1 ใบและตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจำนวน 150 เม็ด และได้เมทแอมเฟตามีนอีกจำนวน 20 เม็ด เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนและธนบัตรจำนวน 44,000 บาท กับตะกร้าพลาสติกสีฟ้า 1 ใบ ของกลางและคืนธนบัตรจำนวน 1,600 บาท ที่ใช้ล่อซื้อของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่งเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 11 ปี และฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุก 11 ปี รวมจำคุก 22 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 11 ปี ริบเมทแอมเฟตามีน ธนบัตรจำนวน 44,000 บาท และตะกร้าพลาสติกสีฟ้า 1 ใบ ของกลางและคืนธนบัตรจำนวน 1,600 บาท ที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลดโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอให้ริบธนบัตรจำนวน44,000 บาท ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้อง คำรับสารภาพของจำเลยกับพยานหลักฐานของโจทก์ประกอบคำรับสารภาพว่าเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2540 เวลาประมาณ 8 นาฬิกา จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 20 เม็ด ราคา 1,600 บาท ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อกับจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการขายอีกจำนวน 150 เม็ดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย น้ำหนักรวมกันทั้งหมด 15.25 กรัมเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยพร้อมด้วยธนบัตรฉบับละ 500 บาทจำนวน 3 ฉบับ และธนบัตรฉบับละ 100 บาท จำนวน 1 ฉบับรวมเป็นเงิน 1,600 บาท ซึ่งเป็นธนบัตรที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ และยึดได้ธนบัตรจำนวน44,000 บาท ที่ซุกซ่อนอยู่ในตะกร้าพลาสติกสีฟ้า 1 ใบซึ่งเป็นธนบัตรที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ผู้ซื้อรายอื่นไป ของกลางตรวจพิสูจน์แล้วเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ธนบัตรจำนวน 44,000 บาทซึ่งเป็นธนบัตรที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางนี้ศาลมีอำนาจริบหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33(2) บัญญัติว่าในการริบทรัพย์สินนอกจากศาลจะมีอำนาจริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้อีกด้วยคือ (2) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยได้กระทำความผิด ดังนี้ เมื่อเงินสดจำนวน 44,000 บาทฟังได้ว่าได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวนอื่นไปก่อนหน้านั้นกรณีจึงเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้มาโดยได้กระทำความผิดศาลมีอำนาจริบเงินจำนวน 44,000 บาท ของกลางได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(2) ดังกล่าวข้างต้น
ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้นเห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยกระทงละ 5 ปี 6 เดือนนับว่าเป็นการเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะลดโทษลงอีก ทั้งความผิดแต่ละกระทงนั้นเป็นการลงโทษจำคุกกระทงละเกินกว่าสองปี จึงต้องห้ามมิให้รอการลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาไม่รอการลงโทษให้จำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ธนบัตรจำนวน 44,000 บาท ของกลางให้ริบนอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share