คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1288/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องกล่าวว่า จำเลยบังอาจขับรถแซงรถเมล์โดยฝ่าฝืนป้ายห้ามแซงของเจ้าพนักงานที่ติดตั้งไว้ เป็นเหตุให้ชนรถเมล์เสียหายและหมุดคอสะพานเสียหาย ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยขับรถสวนกับรถเมล์เหลืองแล้วเกิดชนกันเสียหาย ดังนี้ เมื่อตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ ไม่มีบทวิเคราะห์ศัพท์คำว่า “แซง” ไว้ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2493 คำว่า “แซง” หมายความถึงกิริยาที่แทรกหรือเสียด ซึ่งหมายความว่า เบียดเข้าไป หรือเฉียดไป เมื่อไม่มีบทกฎหมายบัญญัติความหมายไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ ก็ต้องตีความตามความหมายธรรมดาคือหมายถึงกิริยาแทรกหรือเสียดคือเบียดเข้าไปหรือเฉียดไป ตามฟ้องของโจทก์จึงมีความหมายไปในทางที่ว่า ขับรถเสียดหรือแทรกรถเมล์ได้ ซึ่งอาจจะเป็นไปในทางที่แล่นขึ้นหน้าหรือสวนกัน จะตีความหมายว่า แซง หมายถึงขับรถขึ้นหน้าแต่อย่างเดียวดังที่จำเลยโต้เถียงขึ้นมาหาได้ไม่และตามฟ้องที่บรรยายมาก็แสดงให้เห็นอยู่ว่า รถทั้งสองคันมุ่งหน้าไปคนละทางจะสวนกัน ข้อเท็จจริงในการพิจารณายังเรียกไม่ได้ว่าแตกต่างกับฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องกล่าวว่า จำเลยขับรถยนต์บรรทุกโดยปราศจากความระมัดระวัง เมื่อถึงสะพานข้ามทางรถไฟซึ่งกำลังปิดซ่อมถนนด้านหนึ่งอยู่ และมีเครื่องหมายป้ายห้ามแซงกั้นถนนตอนนั้นในขณะนั้นมีรถเมล์เหลืองขับมุ่งหน้าจะไปทางปากช่องและขับเลยคอสะพานไปแล้ว จำเลยได้บังอาจขับรถแซงรถเมล์เหลืองโดยฝ่าฝืนป้ายห้ามแซงของเจ้าพนักงานที่ติดตั้งไว้ เป็นเหตุให้ชนรถเมล์เหลืองเสียหาย และทำให้หมุดคอสะพานเสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2497 มาตรา 29, 30, 31, 66, 68แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2481มาตรา 4

จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้ว่าผู้ขับรถเมล์เหลืองขับรถผิดกฎจราจรกินทางรถที่จำเลยขับ จำเลยขับหลบไม่พ้นจึงชนหมุดคอสะพานเป็นเหตุสุดวิสัย จำเลยไม่ควรมีความผิด

ศาลแขวงนครราชสีมาวินิจฉัยว่ารถของจำเลยและรถเมล์เหลืองแล่นสวนชนกันบริเวณสะพาน เป็นเพราะความประมาทของจำเลยจำเลยสืบฝ่ายเดียวว่าเหตุเกิดวันที่ 11 ธันวาคม 2507 ส่วนโจทก์คงสืบว่าเหตุเกิดเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2507 ตามฟ้องมิได้แตกต่างกัน พิพากษาว่าผิดตามฟ้อง ปรับ 100 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยวันเกิดเหตุว่า ศาลชั้นต้นไม่ฟังข้อเท็จจริงว่าข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ส่วนเรื่องขับรถสวนขับรถแซงวินิจฉัยคำว่า “แซง” หมายถึงกิริยาที่แทรกหรือเสียด พิเคราะห์ตามคำบรรยายฟ้องที่ใช้คำว่า “แซง” ก็อาจมีความหมายไปในทางที่ว่าขับรถเสียดหรือแซงรถเมล์เหลืองได้อาจจะเป็นไปในทางที่จะแล่นขึ้นหน้าหรือสวนกัน มิได้หมายความจำกัดว่าแซงขึ้นหน้าเท่านั้น ฉะนั้น จะว่าฟ้องของโจทก์กล่าวข้อเท็จจริงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาไม่ได้ทั้งข้อที่ว่าแตกต่างนี้มิใช่ข้อสารสำคัญ และจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้ พิพากษายืน

จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายเรื่องขับรถแซงขับรถสวน

ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องกล่าวว่าจำเลยบังอาจขับรถแซงรถเมล์เหลืองโดยฝ่าฝืนป้ายห้ามแซงเป็นเหตุให้ชนรถเมล์เหลืองเสียหายและหมุดคอสะพานเสียหาย แต่การพิจารณาได้ความว่าจำเลยขับรถสวนกับรถเมล์เหลืองและรถชนกันเสียหาย ดังนี้ จะเรียกว่าข้อเท็จจริงในการพิจารณาต่างกับฟ้องหรือไม่พิเคราะห์ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯไม่มีบทวิเคราะห์ศัพท์คำว่า “แซง” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. 2493 คำว่า “แซง” หมายความถึงกิริยาที่แทรกหรือเสียดซึ่งหมายความว่า เบียดเข้าไปหรือเฉียดไป ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อไม่มีบทกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะแล้ว ก็ต้องตีความตามความหมายธรรมดา คือ หมายถึงกิริยาแทรกหรือเสียดคือ เบียดเข้าไปหรือเฉียดไปตามฟ้องของโจทก์จึงมีความหมายไปในทางที่ว่าขับรถเสียดหรือแทรกรถเมล์เหลืองได้ ซึ่งอาจจะเป็นไปในทางที่แล่นขึ้นหน้าหรือสวนกันจะตีความหมายว่า แซง หมายถึงขับรถขึ้นหน้าแต่อย่างเดียวดังที่จำเลยโต้เถียงขึ้นมาหาได้ไม่ และตามฟ้องก็แสดงให้เห็นอยู่ว่ารถทั้งสองคันมุ่งหน้าไปคนละทางจะสวนกัน ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงในการพิจารณายังเรียกไม่ได้ว่าแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง พิพากษายืน

Share