คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1287/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ใช้จ้างวานให้จำเลยที่ 1 กับพวกไปฆ่าผู้ตาย นับว่ามีพฤติการณ์เป็นผู้ที่ร่วมกระทำผิดด้วย จึงถือได้ว่าเป็นคำซัดทอดของผู้ที่กระทำผิดเพื่อให้ตนเองพ้นจากการเป็นผู้ต้องหาเพราะพนักงานสอบสวนย่อมจะกันไว้เป็นพยานเพื่อให้เบิกความปรักปรำจำเลยที่ 2 ทำให้มีข้อระแวงสงสัยว่าพยานอาจกระทำตามลำพังเอง หรืออาจได้รับการติดต่อจากบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่จำเลยที่ 2 ทั้งนี้เพื่อให้ตนและผู้ที่ใช้จ้างวานตนพ้นผิด ดังนี้ คำเบิกความของพยานปากดังกล่าวจึงมีน้ำหนักน้อย จะนำมาใช้ยันจำเลยที่ 2 ซึ่งให้การปฏิเสธตลอดมาหาได้ไม่
การที่จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนว่าพยานปากนี้บอกว่าได้รับการติดต่อจากจำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าจ้างให้ฆ่าผู้ตายนั้นเป็นเพียงพยานบอกเล่าที่จำเลยที่1 ได้รับทราบจากปากคำของพยานเท่านั้น จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้จ้างวานให้จำเลยที่ 1 กับพวกอีกหนึ่งคนฆ่าผู้ตายจนถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289, 83, 84
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายเอี่ยม ชิตชลธาร บิดาของผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289ประกอบด้วยมาตรา 84 ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วม
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ก็ให้การรับสารภาพ นำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพให้เจ้าหน้าที่ตำรวจถ่ายภาพแสดงรายละเอียดเริ่มตั้งแต่นายแหลนพาจำเลยที่ 1 ไปดักดูตัวผู้ตาย แสดงท่าขับขี่รถจักรยานยนต์ให้นายเลื่อมหรือเหลือมซ้อนท้ายไล่ติดตามยิงผู้ตาย ปรากฏตามบันทึกคำให้การของผู้ผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.7 (4 แผ่น) และภาพถ่ายประกอบคำรับสารภาพหมาย จ.8 (10 ภาพ) ได้มีการบันทึกการชี้สถานที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพไว้ตามเอกสารหมาย จ.9 เกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยที่ 1รับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนนี้โจทก์มีพันตำรวจโทปลื้ม เหมาชูเกียรติกุล พนักงานสอบสวนมาเบิกความยืนยันการรับสารภาพของจำเลยที่ 1 เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจตามความสัตย์จริง พยานโจทก์มีน้ำหนักและหลักฐานแน่นหนามั่นคง พยานจำเลยที่ 1 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ คดีฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับพวกอีก 1 คนฆ่าผู้ตายตามวันเวลาเกิดเหตุจริง โดยในการฆ่าผู้ตายนี้จำเลยที่ 1 กับพวกได้รับการใช้จ้างวานให้กระทำความผิด ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานร่วมกับพวกฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 83 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องของโจทก์และของโจทก์ร่วมสำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมสำหรับจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์คงมีพยานที่เบิกความพาดพิงถึงจำเลยที่ 2 เพียงปากเดียวคือ นายมาศหรือแหลน คงทองจันทร์ ว่าก่อนเกิดเหตุไม่ถึง 10 วัน จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคนรู้จักกันได้ไปหาตนและบอกให้ตนช่วยหามือปืนไปฆ่าผู้ตาย ตนจึงรับปากและบอกว่าจะหานายเจริญ เดชเหมือน (จำเลยที่ 1) ให้ จำเลยที่ 2บอกว่าจะให้ค่าจ้าง 10,000 บาท หลังจากนั้นตนก็ได้ไปติดต่อว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ไปฆ่าผู้ตายเมื่อจำเลยที่ 1 กับพวกฆ่าผู้ตายแล้ว หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ก็เอาเงินจำนวน 6,400 บาทมาให้ตนเพื่อนำไปมอบให้จำเลยที่ 1 กับพวก ซึ่งตนก็นำไปมอบให้ เห็นว่านายมาศหรือแหลนพยานโจทก์ปากนี้ถือได้ว่าเป็นผู้ใช้จ้างวานให้จำเลยที่ 1 กับพวกไปฆ่าผู้ตายโดยตรง นับว่ามีพฤติการณ์เป็นผู้ที่ร่วมกระทำผิดด้วย จึงถือได้ว่าเป็นคำซัดทอดของผู้ที่กระทำผิดเพื่อให้ตนเองพ้นจากการเป็นผู้ต้องหาเพราะพนักงานสอบสวนย่อมจะกันไว้เป็นพยานเพื่อให้เบิกความปรักปรำจำเลยที่ 2 ว่าเป็นผู้ติดต่อใช้ให้นายมาศหรือแหลนไปใช้จ้างวานจำเลยที่ 1 กับพวกให้ฆ่าผู้ตาย กรณีชวนให้มีข้อระแวงสงสัยว่านายมาศหรือแหลนอาจกระทำตามลำพังตนเองหรืออาจได้รับการติดต่อจากบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่จำเลยที่ 2ก็น่าจะเป็นได้ เมื่อเกิดเหตุแล้วจึงให้การซัดทอดว่าจำเลยที่ 2 ใช้ตนให้ไปใช้จ้างวานจำเลยที่ 1 ก็ได้ ทั้งนี้เพื่อให้ตนและผู้ที่ใช้จ้างวานตนพ้นผิด ดังนั้น คำเบิกความของนายมาศหรือแหลนพยานโจทก์จึงมีน้ำหนักน้อยจะนำมาใช้ยันจำเลยที่2 ซึ่งให้การปฏิเสธตลอดมาหาได้ไม่ ส่วนข้อที่จำเลยที่ 1ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนว่านายมาศหรือแหลนบอกว่าได้รับการติดต่อจากจำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าจ้างให้ฆ่าผู้ตายให้เงินค่าจ้าง 6,400 บาท เนื่องจากจำเลยที่ 2 มีความโกรธเคืองผู้ตายในเรื่องหน้าที่การงานนั้นก็เป็นเพียงพยานบอกเล่าที่จำเลยที่ 1 ได้รับทราบจากปากคำของนายมาศหรือแหลนเท่านั้น จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ เช่นนี้ศาลฎีกาเห็นว่าพยานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักและหลักฐานมั่นคงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำผิดจริงตามฟ้องไม่จำต้องวินิจฉัยพยานจำเลยที่ 2 อีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องของโจทก์และของโจทก์ร่วมสำหรับจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมสำหรับจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น’
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 (4), 83 ให้ลงโทษประหารชีวิต ที่จำเลยที่ 1 รับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนก็เนื่องจากจำนนต่อพยานหลักฐานจึงไม่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาไม่ลดโทษให้ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share