แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2481 (ฉบับที่ 3) มาตรา 8 แต่พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเพียง5 มาตรา และมาตรา 4 เท่านั้นเป็นบทลงโทษ ฉะนั้น จึงเป็นที่เห็นได้ว่า โจทก์คงจะขอให้ลงโทษตามมาตรา 4 แต่โจทก์อ้างผิดไป ตามมาตรา 192 วรรคสี่ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477มาตรา 5, 12, 29(4) กฎกระทรวงมหาดไทย ข้อ 13(1) (ข) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 70 พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2481 มาตรา 8 จำเลยให้การรับสารภาพศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์มิได้อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นว่าตามมาตราต่าง ๆ ที่โจทก์อ้างมาในคำขอท้ายฟ้องไม่ใช่บทลงโทษบทลงโทษคือมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2481 แต่โจทก์มิได้อ้างมาตรานี้มาเป็นบทลงโทษ กลับอ้างมาตรา 8 ที่ไม่มีในพระราชบัญญัติ จึงเป็นที่เห็นได้ว่าเป็นเรื่องผิดหลง คือโจทก์ต้องการอ้างมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก ฉบับที่ 3 ไม่ใช่มาตรา 8 บทกฎหมายฉบับนี้มีเพียง 5 มาตรา และโจทก์ไม่ได้ประสงค์อ้างมาตราอื่น นอกจากมาตรา 4 ฉะนั้นโจทก์ขอให้ลงโทษคงเป็นมาตรา 4 แต่โจทก์อ้างผิดไป ตามมาตรา 192 วรรค 4 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษได้ จึงพิพากษากลับให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 4 พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2481 กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 59 ให้ปรับ 50 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์สืบสมเข้า มาตรา 192 วรรค 4 แม้หากมาตราแห่งกฎหมายที่ขอให้ลงโทษจะผิดพลาดไปก็ลงโทษได้
พิพากษายืน