แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เช่าทรัพย์สินจากเจ้าของทรัพย์มาแล้วให้เช่าช่วง เมื่อหมดสัญญาเช่าแล้วเจ้าของทรัพย์กลับให้คนอื่นเป็นผู้เช่าแทนส่วนผู้เช่าช่วงยังคงเป็นคนเดิม ดังนี้ ผู้เช่าคนแรกจะเรียกค่าเช่าจากผู้เช่าช่วง ตั้งแต่วันที่ สัญญาของตนกับเจ้าของทรัพย์สิ้นสุดลงแล้ว ต่อไปอีกไม่ได้
ในกรณีเช่นนี้ ถ้าผู้เช่าช่วงชำระค่าเช่าให้แก่ผู้เช่าคนก่อนสำหรับการเช่าภายหลังสัญญาที่ผู้เช่าคนก่อนกับเจ้าของทรัพย์สิ้นอายุแล้วก็ดี ผู้เช่าคนใหม่ก็ไม่มีสิทธิมาฟ้องผู้เช่าคนก่อนเรียกค่าเช่าที่ผู้เช่าช่วงชำระไปแก่ผู้เช่าคนก่อนได้ เพราะผู้เช่าคนก่อนกับผู้เช่าคนใหม่ไม่มีนิติสัมพันธ์กันอย่างใด และการที่ผู้เช่าคนก่อนรับชำระค่าเช่าไว้จากผู้เช่าช่วง ก็ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดต่อผู้เช่าคนใหม่แต่อย่างใด
ผู้เช่าคนก่อนฟ้องเรียกค่าเช่าที่ค้างจากผู้เช่าช่วง ผู้เช่าคนใหม่ร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วมด้วย แม้ศาลจะตัดสินให้ผู้เช่าช่วงชำระค่าเช่าที่ค้างแก่ผู้เช่าคนก่อนก็เป็นหนี้เฉพาะตัวผู้เช่าช่วง ผู้เช่าคนใหม่ไม่ต้องรับผิดในหนี้ส่วนตัวระหว่างผู้เช่าช่วงกับผู้เช่าคนก่อนด้วย
สัญญาเช่าข้อหนึ่งมีข้อความว่า “ทรัพย์สินที่ผู้รับเช่าได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิ่มเติมหรือนำมาติดต่อเป็นเครื่องประกอบตกแต่งในโรงมหรสพก็ดี ผู้รับเช่ายอมยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ให้เช่าทั้งสิ้น แต่ทรัพย์สิ่งใดที่ผู้แสดงมหรสพนำมาใช้ เพียงเพื่อประกอบการแสดงของตนนั้นอยู่นอกสัญญานี้ฯ” ดังนี้ เมื่อปรากฏเพียงแต่ว่าเป็นทรัพย์ของผู้เช่า ซึ่งผู้เช่านำเข้ามาในโรงมหรสพเท่านั้น จึงยังไม่พอที่จะชี้ขาดว่า ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของโรงมหรสพ
ย่อยาว
นายงู้โคย นางเพ็กจูฟ้องนายเชียวว่า โจทก์ได้เช่าตึกแถวและโรงมหรศพจากนายบุญรอด ชูเกษ กับพวก แล้วเอามาให้จำเลยเช่าช่วงเดือนละ 500 บาท และจำเลยเช่าสิ่งของต่าง ๆ ของโจทก์เดือนละ 2,400 บาท กับตกลงเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างตำรวจรักษาการคนละครึ่ง ค่าไฟฟ้าที่ใช้เกินจากกำหนด จำเลยต้องเสีย จำเลยไม่ชำระค่าเช่าสิ่งของและค่าใช้จ่ายให้โจทก์ จึงขอให้จำเลยใช้เงินที่ค้างชำระรวม 25,908 บาท 50 สตางค์
จำเลยให้การต่อสู้ว่า ผู้ให้เช่าเลิกการเช่ากับโจทก์แล้วจำเลยจึงชำระค่าเช่าแก่ผู้เช่าคนใหม่ กับฟ้องแย้งเรียกเงินที่วางประกันจากโจทก์ 3,000 บาทคืน
อีกสำนวนหนึ่ง นายสุทิพย์ ชูเกษ เป็นโจทก์ฟ้องนายงู้โคยนายอาซำ นางเพ็กจู ว่า โจทก์ได้ผูกขาดการเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรายเดียวกับสำนวนแรกจากนายบุญรอด ชูเกษกับพวกซึ่งเป็นเจ้าของผลประโยชน์ที่โจทก์เก็บไม่ได้มี 6 ราย เป็นเงิน 3,825 บาทเพราะจำเลยแย่งเก็บ ขอให้ศาลแสดงว่า โจทก์ผู้เดียวมีสิทธิในการให้เช่า และให้จำเลยใช้เงิน 3,825 บาท
จำเลยต่อสู้ว่า นายสุทิพย์ กับจำเลยไม่มีสิทธิและหน้าที่ผูกพันกันเลย
ต่อมานายสุพิทย์ได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีแรกศาลสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นเห็นว่า สัญญาเช่าระหว่างนายงู้โคยกับนายบุญรอดหมดอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 2489 จึงเรียกค่าเช่าจากนายเชียวได้เพียงนั้น จึงพิพากษาให้นายเชียวใช้เงินแก่นายงู้โคยกับพวก18,691 บาท 95 สตางค์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยให้นายงู้โคยกับพวกคืนเงินประกัน 3,000 บาทแก่นายเชียวและให้นายงู้โคยกับพวกคืนเงินค่าเช่าให้นายสุพิทย์ 3,465 บาท ห้ามนายงู้โคยกับพวกเกี่ยวข้องในการเก็บค่าเช่าในทรัพย์รายนี้
นายงู้โคยกับพวก และนายเชียวอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะค่าไฟฟ้าว่า นายเชียวไม่ต้องรับผิดใช้ค่าแรงไฟฟ้าให้โจทก์ตั้งแต่เดือนมกราคม 2490 เป็นต้นไป
นายงู้โคย กับพวกฎีกา
ศาลฎีกา เห็นว่า
(1) นายสุพิทย์ กับนายงู้โคยนั้นไม่มีนิติสัมพันธ์กันอย่างใดเลย การที่นายงู้โคยไปเรียกเก็บค่าเช่าจากผู้เช่าห้องทั้ง 6 รายนี้ หากเป็นการกระทำโดยมิได้มีอำนาจตามกฎหมาย ก็เป็นเรื่องที่ผู้เช่าเหล่านั้นจะพึงใช้สิทธิเรียกร้องเอาจากนายงู้โคยเองการกระทำของนายงู้โคยดังกล่าวแล้ว จะถือเป็นละเมิดต่อนายสุพิทย์ยังไม่ได้ ไม่มีทางที่นายสุพิทย์จะมาเรียกร้องเงินจำนวนนี้จากนายงู้โดย
(2) เห็นว่าสัญญาเช่าระหว่างนายงู้โคยกับเจ้าของทรัพย์สิ้นสุดแล้ว นายเชียวก็ทำสัญญากับผู้มีสิทธิให้เช่าคนใหม่แล้วก็เป็นกรณีที่นายงู้โคยไม่ได้ให้นายเชียวได้ใช้หรือได้รับประโยชน์อย่างใดในทรัพย์สินนั้นตามสัญญาเช่าที่เคยทำไว้ นายงู้โคยจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเช่าจากนายเชียว และแม้นายงู้โคยจะมีสิทธิได้ค่าเช่าในสิ่งของส่วนของตน แต่นายงู้โคยก็ตีราคาค่าเช่าไม่ถูก (เพราะให้เช่าร่วมกับทรัพย์ของเจ้าของทรัพย์) คดีจึงไม่มีทางบังคับให้นายเขียวรับผิดใช้ค่าเช่าสิ่งของอุปกรณ์ของนายงู้โคย
(3) สัญญาเช่าทรัพย์ข้อหนึ่งมีความว่า
“ทรัพย์สินที่ผู้รับเช่าได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิ่มเติมหรือนำมาติดต่อเป็นเครื่องประกอบตกแต่งในโรงมหรศพก็ดี ผู้รับเช่ายอมยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ให้เช่าทั้งสิ้น แต่ทรัพย์สิ่งใดที่ผู้แสดงการมหรสพนำมาใช้เพียงเพื่อประกอบการแสดงของคนนั้นย่อมอยู่นอกสัญญานี้ฯ” ศาลฎีกาเห็นว่า ทรัพย์ที่จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของตามสัญญา จะต้องเป็นทรัพย์ที่ผู้เช่าได้นำมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงสิ่งของของผู้ให้เช่า หรือนำมาเพิ่มเติมทรัพย์สิ่งของของผู้ให้เช่า หรือเป็นทรัพย์ที่นำมาติดต่อเป็นเครื่องประกอบตกแต่งในโรงมหรศพ มิใช่ว่าทรัพย์สิ่งของทุกสิ่งที่เข้ามาในโรงมหรสพแล้ว ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของโรงมหรสพ ฉะนั้นเพียงแต่ปรากฎว่าเป็นทรัพย์ของผู้เช่า ซึ่งผู้เช่านำเข้ามาในโรงมหรสพ จึงไม่พอที่จะชี้ขาดว่าตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของโรงมหรสพ และคดียังไม่มีประเด็นว่ากล่าวกันว่าทรัพย์สิ่งใดเป็นของใคร ที่ศาลล่างชี้ขาดในข้อนี้มาไม่ชอบ
(4) ในเรื่องเงินวางประกัน 3,000 บาท ตามข้อสัญญามีว่าเมื่อครบกำหนดการเช่า ผู้เช่าจะต้องมอบสิ่งของของผู้ให้เช่าเรียบร้อยแล้ว จึงจะรับเงินคืนไป แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่าจำเลยยังไม่ได้มอบสิ่งของคืนโจทก์ จำเลยจึงยังไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินมัดจำคืน
(5) หนี้ที่นายเชียวจำเลยเป็นหนี้นายงู้โคยนั้น เป็นหนี้เฉพาะตัวนายเชียว แม้นายสุพิทย์จะเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ก็ไม่ทำให้นายสุพิทย์เกิดความรับผิดในหนี้ส่วนตัว ตามสัญญาระหว่างโจทก์กับนายเชียว
(6) เรื่องค่าแรงไฟฟ้า ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกข้อที่ชี้ขาดว่า สิ่งของเครื่องอุปกรณ์ทั้งหมดในโรงมหรสพเป็นของเจ้าของโรงมหรสพเสียให้ยกฟ้องแย้งของนายเชียวที่ขอให้โจทก์คืนเงินประกัน 3,000 บาท ให้ยกฟ้องนายสุพิทย์เสีย