แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐซึ่งโจทก์ได้ขออนุญาตจับจองตามที่กฎหมายกำหนดจนทางราชการอนุญาตให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้เป็นการชั่วคราวโดยออกใบจอง (น.ส.2) ให้เป็นหลักฐาน โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยปฏิบัติตาม ประมวลกฎหมายที่ดินฯ แม้จำเลยจะได้เข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นการแย่งการครอบครองของโจทก์เกินกว่า 1 ปีก็ตาม ก็เป็นการเข้ายึดถือครอบครองที่ดินของรัฐโดยมิได้รับอนุญาตจำเลยจึงอ้างเอาระยะเวลาการฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง มาเป็นข้อต่อสู้โจทก์ไม่ได้ โจทก์บรรยายฟ้องถึงที่ตั้งของที่ดินพิพาทและเวลาที่เข้าครอบครองที่ดินพิพาท ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน แม้ไม่ได้ระบุอาณาเขตกว้างยาวไว้ แต่มีแผนที่สังเขปท้ายฟ้องระบุอาณาเขตกว้างยาวไว้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายส่วนรายละเอียดนอกจากนี้โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อปี 2519 โจทก์ได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน 1 แปลง ตั้งอยู่หมู่ที่ 3ตำบลบางนอน อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง เนื้อที่ 44 ไร่1 งาน ปรากฏตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง ต่อมาประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2530 จำเลยบุกรุกเข้าไปปลูกต้นไม้ ปักเสารั้วไม้ในที่ดินแปลงที่โจทก์ครอบครองคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ 50ตารางวา เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายจากการใช้ประโยชน์ที่ดินเดือนละ 12,100 บาท ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเป็นของโจทก์ ให้จำเลยรื้อถอนต้นไม้เสาและรั้วไม้ออกจากที่ดิน และห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 12,100 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนต้นไม้ เสาและรั้วไม้ออกจากที่ดินพิพาท
จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้แสดงแนวเขตที่ดินว่าอยู่ห่างจากถนนเพชรเกษมไปทางทิศตะวันออกเท่าใด จดที่ดินของใครบ้างทำให้จำเลยไม่สามารถเข้าใจได้ว่าเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์หรือไม่ ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตประทานบัตร เพื่อทำเหมืองแร่ซึ่งหมดอายุประทานบัตรแล้วจำเลยเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2528 โดยปลูกต้นมะพร้าวประมาณ 60 ต้น ต้นมะม่วงหิมพานต์ประมาณ 300 ต้น ต้นกล้วยประมาณ 60 ต้น และต้นสะตออีก 30 ต้น ทั้งได้ล้อมรั้วด้วยเสาปูนสลับเสาไม้เป็นแนวเขตทั้ง 4 ด้าน หากฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์มิได้ฟ้องเอาคืนการครอบครองภายใน1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายเพราะที่ดินพิพาทไม่ใช่เป็นของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยรื้อถอนต้นไม้เสาไม้และรั้วไม้ออกจากที่ดินพิพาทให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ750 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนต้นไม้ เสาไม้และรั้วไม้ออกจากที่ดินพิพาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประการแรก คำฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่โจทก์บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน 1 แปลง เนื้อที่ 44 ไร่ 1 งานตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 3 ตำบลบางนอนอำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนองตามแผนที่สังเขปเอกสารท้ายฟ้อง โดยได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวตั้งแต่ พ.ศ. 2519 ตลอดมา เมื่อประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์พ.ศ. 2530 จำเลยได้บังอาจบุกรุกเข้าไปปลูกต้นไม้ในที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ 50 ตารางวา โดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายปรากฏตามแผนที่สังเขปแสดงตำแหน่งที่ดินพิพาทในบริเวณระบายสีแดงการละเมิดของจำเลยทำให้โจทก์เสียหายเดือนละ 12,100 บาท ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และให้บังคับจำเลยดังนี้คำฟ้องได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ที่จำเลยฎีกาอ้างเหตุว่าโจทก์บรรยายฟ้องไม่ชัดแจ้งว่าได้ครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำประโยชน์อะไรและที่ตั้งของที่ดินพิพาทว่าอยู่ตรงไหนอาณาเขตกว้างยาวเท่าไรเห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงที่ตั้งของที่ดินพิพาทและเวลาที่เข้าครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ พ.ศ. 2519 จนถึงปัจจุบัน อาณาเขตกว้างยาวแม้ไม่ได้บรรยายฟ้องไว้ แต่มีแผนที่สังเขปท้ายฟ้องระบุถึงอาณาเขตกว้างยาวไว้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง ส่วนรายละเอียดนอกจากนี้โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ประการสุดท้าย โจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองหรือไม่ ได้ความว่าที่ดินพิพาทมีหลักฐาน “ใบจอง” (น.ส.2) ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 1 ได้วิเคราะห์ความหมายของใบจองไว้ว่า “หมายความว่าหนังสือแสดงการยอมให้ครอบครองที่ดินชั่วคราว” ประกอบกับการที่ทางราชการออกใบจองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์นั้น เป็นการออกใบจองให้ตามหมวด 2 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินเรื่องการจัดที่ดินเพื่อประชาชนโดยนำที่ดินของรัฐมาจัดสรรให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์เฉพาะกรณีที่ดินพิพาทตามฟ้องเป็นการออกใบจอง (น.ส.2) ตามมาตรา 33ซึ่งบัญญัติว่า “ในเขตท้องที่ใดที่คณะกรรมการยังมิได้ประกาศเขตสำรวจที่ดินตามความในหมวดนี้ หรือในกรณีที่สภาพที่ดินเป็นแปลงเล็กแปลงน้อยก็ดี ราษฎรจะขออนุญาตจับจองที่ดินได้โดยปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนดและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดและเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่อนุญาตแล้วก็ให้ออกใบจองให้ต่อไป”ดังนั้นเมื่อได้ความว่าที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่ดินที่ทางราชการออกประทานบัตรทำเหมืองแร่ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดรัตนเกษตรทำเหมืองแร่แล้วห้างฯ ดังกล่าวเลิกดำเนินการไปทางราชการจึงให้ราษฎรเข้าจับจองโดยต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขตามบทกฎหมายข้างต้น ที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นที่ดินของรัฐ โจทก์ได้ดำเนินการขออนุญาตจับจองตามที่กฎหมายกำหนดจนทางราชการอนุญาตให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้เป็นการชั่วคราวโดยออกใบจอง (น.ส.2) ให้เป็นหลักฐานโจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน แม้ทางนำสืบของจำเลยจะได้ความว่า จำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2528 อันเป็นการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทเกินกว่า 1 ปีก็ตาม ก็เป็นการเข้ายึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ โดยมิได้รับอนุญาต ดังนั้นจำเลยจะอ้างเอาระยะเวลาการฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 วรรคสอง มาเป็นข้อต่อสู้โจทก์ไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษาในประเด็นข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน