คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12802/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัท ม. กับโจทก์และจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ตามเอกสารหมาย จ.5 โดยในส่วนของโจทก์ต้องชำระเงินเพิ่มตามสัญญาข้อ 4.2 อันเนื่องมาจากโจทก์เคยทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้มาก่อนแล้วปฏิบัติผิดเงื่อนไข โดยยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ และบรรษัทดังกล่าวได้ยกเลิกสัญญาแล้ว ซึ่งเป็นข้อความจริงที่เกี่ยวถึงตัวโจทก์ผู้เป็นลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งโดยเฉพาะ ย่อมเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่โจทก์เท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 295 วรรคหนึ่ง ในข้อนี้สัญญาดังกล่าวในข้อ 4.2 ระบุไว้ชัดเจนว่าผู้ค้ำประกันรายที่ 5 คือโจทก์จะต้องชำระหนี้เงินตามข้อ 4.2.1 จำนวน 570,000 บาท ภายในวันที่ 23 มิถุนายน 2553 ข้อ 4.2.2 จำนวน 570,000 บาท ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ 23 มิถุนายน 2553 และ ข้อ 4.2.3 จำนวน 553,000 บาท ภายใน 60 วัน นับจากวันที่ 23 มิถุนายน 2553 ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นความรับผิดเฉพาะตัวของโจทก์ มิฉะนั้นแล้วบรรษัทดังกล่าวคงไม่ตกลงไว้เช่นนั้น ดังนั้นโจทก์จะอ้างว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินที่โจทก์ชำระหนี้แทนจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกันและให้จำเลยทั้งสี่ร่วมรับผิดด้วยโดยถือเป็นการรับช่วงสิทธิจากบรรษัทดังกล่าวมาไล่เบี้ยเอาจากจำเลยทั้งสี่หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชำระเงินคืนโจทก์คนละ 1 ส่วนใน 5 ส่วนของเงินจำนวน 1,743,000 บาท คิดเป็นเงินคนละ 348,600 บาท รวม 4 คน เป็นเงิน 1,394,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสี่ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงินคืนโจทก์คนละ 217,875.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2553 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเฉพาะในส่วนที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์และจำเลยทั้งสี่กับพวกรวม 8 คน เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของบริษัทโมราวรรณ การ์เด้น จำกัด ที่มีต่อธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีการโอนสิทธิเรียกร้องต่อมาถึงบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) และบริษัทโมราวรรณ การ์เด้น จำกัด โจทก์กับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับบรรษัทดังกล่าว โดยในส่วนของโจทก์ต้องชำระเงินเพิ่มตามสัญญาข้อ 4.2 อันเนื่องมาจากโจทก์เคยทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้มาก่อนแล้วปฏิบัติผิดเงื่อนไข โดยยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ และบรรษัทดังกล่าวได้ยกเลิกสัญญาแล้ว ซึ่งเป็นข้อความจริงที่เกี่ยวถึงตัวโจทก์ผู้เป็นลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งโดยเฉพาะ ย่อมเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่โจทก์เท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 295 วรรคหนึ่ง ในข้อนี้สัญญาดังกล่าวในข้อ 4.2 ระบุไว้ชัดเจนว่าผู้ค้ำประกันรายที่ 5 คือโจทก์จะต้องชำระหนี้เงินตามข้อ 4.2.1 จำนวน 570,000 บาท ภายในวันที่ 23 มิถุนายน 2553 ข้อ 4.2.2 จำนวน 570,000 บาท ภายใน 30 วันนับจากวันที่ 23 มิถุนายน 2553 และ ข้อ 4.2.3 จำนวน 553,000 บาท ภายใน 60 วัน นับจากวันที่ 23 มิถุนายน 2553 ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นความรับผิดเฉพาะตัวของโจทก์ มิฉะนั้นแล้วบรรษัทดังกล่าวคงไม่ตกลงไว้เช่นนั้น ดังนั้นโจทก์จะอ้างว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินที่โจทก์ชำระหนี้แทนจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกันและให้จำเลยทั้งสี่ร่วมรับผิดด้วยโดยถือเป็นการรับช่วงสิทธิจากบรรษัทดังกล่าวมาไล่เบี้ยเอาจากจำเลยทั้งสี่หาได้ไม่ ส่วนการชำระหนี้ดังกล่าวจะมีผลให้บริษัทโมราวรรณ การ์เด้น จำกัด โจทก์และจำเลยทั้งสี่หลุดพ้นจากหนี้หรือไม่นั้นเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากซึ่งต้องเป็นไปตามเงื่อนไขในข้อ 9 ของสัญญาดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share