แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ทราบถึงเหตุที่สินค้าขาดจำนวนจากน้ำหนักที่จำเลยแจ้งในรายงานการตรวจสอบสินค้าว่าเป็นเพราะจำเลยคำนวณและรายงานน้ำหนักสินค้าผิดพลาด ถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดของจำเลยแล้ว การที่โจทก์ว่าจ้างบริษัท ว.ทำการตรวจสอบในภายหลังนั้น เป็นเพียงการตรวจสอบเพื่อหาหลักฐานว่าจำเลยคำนวณผิดพลาดอย่างไร เพื่อนำมาเป็นพยานหลักฐานในคดีเท่านั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่รู้ถึงการละเมิดและตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายอันเนื่องจากการละเมิดของจำเลยจำนวน 2,268,647.30 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินค่าเสียหายดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ จำเลยให้การปฏิเสธความรับผิดและว่าโจทก์ทราบเรื่องละเมิดตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2525 หรืออย่างช้าในวันที่ 24 มิถุนายน 2525 โจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน 1 ปี คดีของโจทก์ขาดอายุความ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่า เรือบางขุนพรหมของโจทก์ได้ไปรับสินค้าข้าวโพดรายนี้ที่ไซโลของบริษัทยูไนเต็ดไซโล จำกัด เมื่อวันที่ 1 และ 2 มิถุนายน2525 โดยวิธีพ่นข้าวโพดจากไซโลผ่านท่อเข้าสู่ห้องเก็บสินค้าของเรือบริษัทผู้ซื้อในประเทศสิงคโปร์ได้ว่าจ้างจำเลยให้เป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพและปริมาณของสินค้ารายนี้ ซึ่งจำเลยได้ทำการตรวจสอบปริมาณโดยวิธีทำดร๊าฟเซอร์เวย์ คือการคำนวณหาน้ำหนักของสินค้าที่บรรทุกในเรือด้วยการวัดระดับท้องเรือที่จมอยู่ในน้ำเพื่อหาผลต่างระหว่างน้ำหนักของเรือในขณะที่ยังไม่บรรทุกสินค้ากับน้ำหนักของเรือในขณะที่บรรทุกสินค้าแล้ว เมื่อจำเลยทำดร๊าฟเซอร์เวย์เสร็จแล้ว ได้ทำรายงานการตรวจสอบตามเอกสารหมาย จ.6 ว่าสินค้าข้าวโพดที่ขนถ่ายลงในเรือมีน้ำหนัก 4,976 เมตริกตัน โจทก์เห็นว่า น้ำหนักต่ำกว่าน้ำหนักที่ผู้ขายระบุไว้ 5,000 เมตริกตันไม่ถึง 1 เปอร์เซนต์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า การที่น้ำหนักแตกต่างกันเพียงเท่านี้ถือว่าใช้ได้ โจทก์จึงออกใบตราส่งว่าสินค้าข้าวโพดรายนี้มีน้ำหนัก 5,000 เมตริกตัน ให้แก่ผู้ขาย โดยโจทก์เชื่อตามรายงานการตรวจสอบของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.6 เพราะโจทก์ไม่มีหน้าที่ในการคำนวณหาน้ำหนักของสินค้า เมื่อขนถ่ายสินค้าข้าวโพดลงเรือเรียบร้อยแล้ว จำเลยเป็นผู้ซีลระวางสินค้าโดยใช้ลวดกับตะกั่วซีล เพื่อไม่ให้มีการเปิดระวางก่อนส่งมอบสินค้าแก่ผู้ซื้อได้ เรือบางขุนพรหมของโจทก์ได้ออกจากท่าเรือกรุงเทพมหานครในวันที่ 2 มิถุนายน 2525 นั่นเอง มุ่งตรงไปยังประเทศสิงคโปร์โดยไม่ได้แวะที่ใดถึงประเทศสิงคโปร์เมื่อวันที่6 เดือนเดียวกัน ทิ้งสมออยู่กลางน้ำจนถึงวันที่ 8 เดือนเดียวกันจึงได้เข้าเทียบท่าและทำการขนถ่ายสินค้าข้าวโพดออกจากเรือ ก่อนขนถ่ายสินค้า มีบริษัท โทมัส โฮเวิล เคียวิต จำกัด มาทำการตรวจสอบซีลที่ระวางสินค้า ปรากฏว่าซีลอยู่ในสภาพเรียบร้อยไม่มีร่องรอยพิรุธว่าถูกเปิดมาก่อน การขนถ่ายสินค้าข้าวโพดออกจากเรือได้มีบริษัทคาร์โก้คอนโทรล จำกัด เป็นผู้ทำดร๊าฟท์เซอร์เวย์เพื่อตรวจสอบน้ำหนักของสินค้าข้าวโพด ปรากฏว่าสินค้าข้าวโพดขาดหายไป 472 เมตริกตัน ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.9 ผู้ซื้อจึงร้องขอต่อศาลของประเทศสิงคโปร์ออกหมายยึดเรือของโจทก์ไว้เมื่อวันที่11 มิถุนายน 2525 และต่อมาได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ โจทก์จึงว่าจ้างให้บริษัทวายดับบลิวลอร์แอนด์โก จำกัด ทำการตรวจสอบผลการตรวจสอบปรากฏว่าจำเลยทำดร๊าฟท์เซอร์เวย์ผิดพลาด เพราะน้ำหนักของตัวเรือบางขุนพรหมซึ่งยังไม่รวมน้ำหนักคงที่ (คือน้ำหนักของเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ติดตั้งประจำอยู่ในเรือ) มีน้ำหนัก1,782 เมตริกตันแล้ว แต่จำเลยทำดร๊าฟท์เซอร์เวย์โดยถือน้ำหนักเรือบวกกับน้ำหนักคงที่แล้ว 1,506 เมตริกตัน ซึ่งเป็นการผิดพลาดจึงเป็นเหตุให้คำนวณน้ำหนักของสินค้าข้าวโพดเกินกว่าความเป็นจริงไปมาก บริษัทวายดับบลิวลอร์แอนด์โก จำกัด จึงได้ทำรายงานให้โจทก์ทราบเมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2526 ตามเอกสารหมาย จ.15ปัญหาวินิจฉัยจึงอยู่ที่ว่า โจทก์รู้ถึงการละเมิดของจำเลยตั้งแต่เมื่อใด ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นว่า เมื่อขนถ่ายสินค้าลงเรือเรียบร้อยแล้ว เรือของโจทก์ออกเดินทางตรงไปยังประเทศสิงคโปร์ ก่อนทำการขนถ่ายสินค้าออกจากเรือที่ประเทศสิงคโปร์ ก็ไม่ปรากฏว่าซีลปิดระวางสินค้ามีร่องรอยถูกเปิดมาก่อน ทั้งไม่ปรากฏว่าห้องระวางเก็บสินค้าในเรือมีความชำรุดเสียหาย แสดงว่าสินค้าข้าวโพดไม่มีการสูญหายระหว่างทาง ฉะนั้นการที่สินค้าขาดจำนวนจากน้ำหนักที่จำเลยแจ้งในรายงานการตรวจสอบสินค้าตามเอกสารหมาย จ.6 ไปเป็นจำนวนหลายร้อยเมตริกตันเช่นนี้โจทก์ย่อมต้องทราบได้ทันทีว่าเป็นเพราะจำเลยรายงานน้ำหนักสินค้าผิดพลาด เพราะไม่อาจจะขาดหายไปด้วยเหตุอื่นใดได้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์รู้ถึงการละเมิดของจำเลยในเดือนมิถุนายน 2525แล้ว การที่โจทก์ว่าจ้างบริษัทวายดับบลิวลอร์แอนด์โก จำกัดทำการตรวจสอบในภายหลังนั้น เป็นเพียงการตรวจสอบเพื่อหาหลักฐานว่าจำเลยคำนวณผิดพลาดอย่างไรเพื่อนำมาเป็นพยานหลักฐานในคดีเท่านั้นดังเหตุผลที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้ว ฉะนั้นการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2527 จึงพ้นกำหนด1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก”
พิพากษายืน